Friday, March 8, 2013

My Life's Mission

เราค้นพบและมีความชัดเจนมากขึ้นในพันธกิจ mission ของชีวิตเรา ในการมาอยู่ที่่นี่ตรงนี้บนโลกนี้  ว่า  จริงๆแล้ว สิ่งที่เราปรารถนาที่สุด คือ การเป็นคนเรียบง่าย ธรรมดาๆ ที่จริงใจ ซื่อตรง หยั่งรากลึก

และเป้าหมายในการทำงาน - อุทิศตน หรือเสียงเรียกของเราคือ การให้ความสนับสนุน ช่วยเหลือ ให้ผู้อื่นได้งอกงาม เติบโตไปบนเส้นทางชีวิตของเขาเอง ได้ก้าวไปบนเส้นทางที่เขาได้เลือกแล้ว และช่วยให้ผู้คนได้ค้นพบแรงบันดาลใจภายใน  ได้เข้าถึงทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ ล้ำลึกและไพศาล ภายในตัวเขาเอง  เพื่อให้เขาพึ่งพาตนเองได้ เติบโตและงอกงาม และสามารถสร้างแรงบันดาลใจและเกื้อกูลต่อการเติบโตของคนอื่นๆ ต่อๆไป อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

มันไม่ใช่การเป็นด็อกเตอร์  การเรียนป.เอก ไม่ใช่การเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ไม่ใช่อะไรอื่นใด  นอกจากเป็นคนธรรมดาๆ ที่ซื่อตรง  มั่นคง งดงาม เปี่ยมด้วยความกรุณา ไว้วางใจต่อโลก ต่อตนเอง ต่อผู้อื่น  

การปฏิบัติธรรม ไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากความธรรมดา

สำหรับความเข้าใจของเราในตอนนี้ การปฏิบัติธรรมไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากการกลับมาเป็นคนธรรมดาๆ ที่จริงแท้ ซื่อตรงและเรียบง่าย 

ไม่ใช่การทำอะไรเพื่อความวิเศษเหนือมนุษย์ เหนือธรรมชาติ เหนือธรรมดา ไม่ใช่การบังคับบีบคั้น ไม่ใช่การทำอะไรที่ผิดปกติไปกว่าการดำรงอยู่แบบซื่อๆง่ายๆ ไม่ใช่การวิ่งเข้าคอร์สที่นั่นที่นี่ (หาไม่แล้วเราคงต้องวิ่งเข้าคอร์สกันทั้งปีทั้งชาติ เข้าชาตินี้ไม่บรรลุก็หวังเอาว่าชาติหน้าก็คงบรรลุ แล้วก็วิ่งๆเพื่อแสวงหาคอร์สต่อไปเรื่อยๆ)

มันโครตเรียบง่าย จริงใจและซื่อตรง มันอยู่ในชีวิตธรรมดาๆ มันอยู่ตรงนี้มาตั้งนานแล้ว แต่เราเองที่มองไม่เห็น

แม่ง..โครตง่าย โครตจริง แต่สร้างแรงบันดาลใจสุดๆ ในความเรียบง่ายนี่แหละ คือพื้นที่ของปาฎิหาริย์ และมันโอบอุ้มคนทุกคน ทุกศาสนา ไม่กีดกันไม่แบ่งแยก ไม่เหนือกว่า ไม่ดีกว่า มันธรรมดามากๆ

มันไปพ้นภาษา ไม่มีคำอธิบาย ไม่มีศัพท์วิชาการ ไม่มีศัพท์บาลี ไม่มีความซับซ้อน แม่ง...โครตจะธรรมดา แต่โครตลึกและไพศาล

Monday, April 30, 2012

หลวงพระบางปลายฝนต้นหนาว (ตอน ๒)





วันนี้ตื่นเช้ามาตั้งใจจะไปตักบาตรข้าวเหนียว เมื่อคืนวานฉันติดต่อขอซื้อข้าวเหนียวเพื่อนำไปตักบาตรกับพนักงานที่พูสีเกสต์เฮ้าส์นั่นเอง (เพราะอ่านเจอมาว่าถ้าไปซื้อกับแม่ค้าที่มายืนขายริมถนน ราคาจะสูงจนน่าตกใจ) พนักงานบอกว่าจะเตรียมข้าวเหนียว พร้อมกับเสื่อและผ้าสำหรับพาดไหล่ไว้ให้ ราคารวม ๑๕,๐๐๐ กีบ ( ๖๐ บาท) ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าถูกหรือแพงอย่างไร แต่ก็คิดเสียว่าเป็นการได้มีประสบการณ์ใหม่ๆ แบบหลวงพระบางกะเขาดูสักที







ตื่นเช้าออกมาตอนหกโมงเช้า มีฝนตกปรอยๆพอชื้นๆ เย็นๆ เดินออกมาเห็นชาวบ้านแถวนั้นนั่งพับเพียบเรียงรายรอจะตักบาตรอยู่ตามหน้าบ้านเป็นระยะๆ เมื่อเดินออกมาที่ถนนใหญ่ เลี้ยวไปที่กำแพงหน้าวัด อันเป็นจุดหลักที่จะมีคนมาตักบาตรกันมากเป็นพิเศษ ฉันก็เห็นกลุ่มนักท่องเที่ยวยืนอยู่หลายคนบนถนน เตรียมกล้องไว้ถ่ายภาพกิจกรรมตักบาตรข้าวเหนียวกันเต็มที่ (นับเป็นอีกหนึ่งในกิจกรรม amazing ของหลวงพระบาง)












มีกลุ่มแม่ค้าหาบกระจาดและกระบุงอีกไม่น้อยมาเดินชักชวนให้ซื้อข้าวเหนียวและขนมของเขาไปตักบาตร เมื่อเขาเห็นว่าฉันมีกระติ๊บข้าวเหนียวพร้อมอุปกรณ์ทุกอย่างครบแล้ว เขาก็เริ่มนำเสนอการขายในราคาที่ถูกมาก (เมื่อเทียบกับวันถัดมาที่ฉันเดินไปตัวเปล่าไม่มีกระติ๊บติดไปด้วย ราคาต่างกันประมาณ ๑-๒ เท่า) อย่างไรก็ดีแม่ค้าที่นี่ก็นับว่ามีอัธยาศัยดี น่ารัก พูดจาดี เมื่อฉันไม่ซื้อก็ไม่ได้แสดงอาการโกรธเคืองหรือหงุดหงิดอย่างใด แถมยังมาช่วยแนะนำอีกด้วยว่าให้ใส่บาตรยังไงบ้าง แม่ค้าบางคนก็ยังเป็นเด็กน้อย ที่หาเวลาช่วงเช้าก่อนเข้าเรียนมาช่วยที่บ้านขายของ

การตักบาตรที่นี่อลังการมากในแง่ของจำนวนพระและเณรที่มาบิณฑบาต เพราะมีพระและเณรรวมกันประมาณ ๓๐๐ องค์ ภาพพระเณรในจีวรสีส้มสดใสเดินมาเป็นสายเป็นหมู่คณะนั้นงดงามมาก การตักบาตรข้าวเหนียวต้องอาศัยเทคนิคความว่องไวและคล่องตัวมิใช่น้อย เพราะพระท่านจะไม่หยุดเดินแม้เมื่อมาถึงหน้าเรา ท่านจะชะลอฝีเท้าเล็กน้อย พร้อมกับแง้มฝาบาตรเพื่อรับข้าวเหนียว เราต้องรีบหยิบข้าวเหนียวปั้นน้อยๆ หยอดใส่บาตรโดยเร็วก่อนที่ท่านจะเดินผ่านไป หากผ่านแล้วก็ผ่านเลยไม่ย้อนกลับมาอีก ส่วนเรื่องการให้ศีลให้พรนั้นพระท่านจะให้ตอนที่ญาติโยมนำอาหาร(กับข้าว) ไปถวายจังหันที่วัดอีกที



ในที่สุดฉันก็พบอาคารเก่าหลังนั้นที่ตั้งใจตามหาอยู่ตรงหน้าบริเวณที่ใส่บาตรข้าวเหนียวนั่นเอง ดูเหมือนว่าอาคารจะได้รับการดูแลบูรณะอย่างดี และได้ถูกปรับเปลี่ยนเป็นร้านขายภาพถ่ายและภาพเขียนบรรยากาศเก๋ไก๋ไปแล้ว





เสร็จจากใส่บาตร แล่ก็พาเดินชมบ้านเมืองตอนเช้า เดินเลาะริมโขงเพื่อตรงไปยังตลาดเช้าหลังวัดใหม่ ตลาดเช้าที่นี่มีสินค้าหลากหลายมาก โดยเฉพาะสินค้าพื้นเมืองและอาหารท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น รังต่อที่ยังมีตัวต่ออ่อนๆ กบ นก งู ค้างคาว เห็ดดิน ปลา ผักผลไม้ เสื้อผ้า ฯลฯ นับเป็นตลาดที่มีชีวิตชีวา และExotic มาก เดินสวนกับเด็กน้อยที่มาขายดอกไม้สำหรับใส่บาตรเมื่อเช้าด้วย เธอหันมายิ้มทักทาย เพียงแต่ในตอนนี้ในมือเด็กน้อยไม่มีดอกไม้ แต่มีผักสดห่อใหญ่ นัยว่าคงจะซื้อกลับไปที่บ้าน แล่แวะซื้อข้าวจี่จื่นชิ้นละ ๘ บาทในตลาด ท่าทางน่าอร่อย



ฉันกับแล่เดินมาเจอร้านขายข้าวปุ้น (ขนมจีน) ข้าวซอยและเฝอ ข้างทาง จึงแวะกินอาหารเช้ากันที่ร้านนั้น รสชาติอร่อยดี แล่บอกว่าเขามาหลวงพระบางทีไรเขาจะกินแต่ข้าวซอย เพราะข้าวซอยที่นี่อร่อยและมีรสชาติเป็นเอกลักษณ์แบบหลวงพระบางที่หากินที่อื่นไม่ได้







เสร็จจากมื้อเช้า เราก็พร้อมจะไปตะลุยเมืองหลวงพระบางกัน ฉันบอกแล่ว่า นอกจากกล้องแล้วฉันเตรียมอุปกรณ์ กระดาษและสีมาวาดรูปวัดด้วย เช้านี้เราเลยไปตั้งต้นกันที่วัดใหม่ที่แล่พักอยู่นั่นล่ะ วัดใหม่เป็นวัดที่อยู่ตรงข้ามกับพระธาตุพูสี ฝั่งเดียวกับวังเจ้าชีวิต วัดนี้มีสถาปัตยกรรมงดงาม ฝีมือการวาดและปั้นลายปูนลงรักปิดทองอันวิจิตรที่สิมนั้นเป็นฝีมือของเพี้ยตัน ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติของลาว



เช้านี้ที่วัดมีงานแห่สมโภชสมุดใบลานด้วย เป็นงานที่จะจัดก็ต่อเมื่อมีการเขียนจารพระไตรปิฎกบนใบลานโดยได้รับการสนับสนุนเป็นการเฉพาะจากหน่วยงานสำคัญๆ (ซึ่งก็นานๆครั้งจึงจะมี) ในครั้นนี้มีวัดได้รับการสนับสนุนจากหอสมุดแห่งชาติฯให้จัดทำการจารใบลาน มีเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศลาวมาเข้าร่วม พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากหอสมุดแห่งชาติ พระผู้ใหญ่ในแขวงหลวงพระบาง คณะครูและนักเรียนจากโรงเรียนประชาธิปไตยฯ นับว่าเป็นโชคดีของฉันที่ได้มีโอกาสมาเข้าร่วมงานนี้กับเขาด้วย ถือโอกาสพูดคุยกับเด็กนักเรียนที่มาร่วมงาน ถามไถ่โน่นนี่



เสร็จจากงานแห่สมโภชใบลานประมาณสิบโมงครึ่ง เราเดินทางต่อไปยังพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ซึ่งอดีตเป็นวังของเจ้าชีวิต นักท่องเที่ยวต่างชาติเสียค่าเข้าชม 30,000 กีบ (120 บาท) ภายในวังตกแต่งด้วยกระจกสี และภาพเขียน (ฝีมือช่างเขียนรูปชาวฝรั่งเศส) บอกเล่าวิถีชีวิตของคนลาวในอดีตอย่างวิจิตร มีห้องออกว่าราชการ ห้องรับรองอาคันตุกะ ห้องบรรทมของเจ้าชีวิตและมเหสี และจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ในอดีตของกษัตริย์ น่าเสียดายที่ไม่สามารถถ่ายรูปการตกแต่งภายในมาให้ชมได้เพราะเขาห้ามถ่ายภาพทุกชนิด


จากนั้นแล่พาเดินลัดเลาะไปตามถนนและซอกซอยต่างๆ เพื่อให้ชมอาคารบ้านเรือนที่มีทั้งเก่าและใหม่ อาคารที่นี่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานทั้งแบบลาว จีนและยุโรป (ยุคโคโลเนียล) แม้อาคารที่สร้างใหม่ก็มีข้อบังคับว่าต้องสร้างตามแบบของเก่า เพื่อให้เกิดความสวยงามกลมกลืนกันสมกับเป็นเมืองมรดกโลก



ข้อดีของข้อบังคับแบบนี้คือ ทำให้ไม่มีอาคารสูงในเขตตัวเมืองหลวงพระบางเลย อาคารหลายหลังได้รับการบูรณะดูแล ตกแต่ง และออกแบบอย่างสวยงาม ถนนหนทางสะอาดสะอ้านดี แม้แต่หมาข้างถนนก็ไม่มีให้เห็น มีเกสต์เฮ้าส์เรียงรายบนถนนเส้นต่างๆนับสิบๆหรืออาจจะนับร้อยแห่ง จึงเข้าใจได้ว่าทำไมหยีจึงบอกว่าไม่ต้องจองที่พักล่วงหน้า ให้ไปหาเอาดาบหน้าก็ได้ ไม่ต้องกลัว








เดินชมอาคารบ้านเรือนสักพักก็ชักจะหิว ฉันบอกว่าอยากจะลองกินเอาะหลาม ซึ่งเป็นอาหารถิ่นของที่นี่ เอาะหลามสูตรหลวงพระบางต้องใส่ไม้สะค้าน ทำให้มีรสและกลิ่นเฉพาะท้องถิ่น แล่พาไปกินข้าวเที่ยงที่ร้านบรรยากาศดีข้างวัดซึ่งเขารับรองว่าอาหารอร่อยรสชาติดี

เราสั่งน้ำบักไม้ (ผลไม้) ปั่นมาชิม น้ำผลไม้ปั่นสูตรหลวงพระบางทุกชนิดจะต้องใส่กระทิเป็นสูตรเอกลักษณ์ของที่นี่ แล่เล่าว่าอาหารหลวงพระบางจะออกหวานและนิยมใช้กระทิเป็นส่วนประกอบในการปรุง ซึ่งเป็นรสและการปรุงแบบชาววังเสร็จจากมื้อเที่ยงเราก็เริ่มเดินชมวัดกัน วัดที่นี่สวยทุกวัด รั้วอยู่ติดๆ จนบางทีฉันก็ดูไม่ออกว่าเป็นคนละวัดกัน เราเดินเข้าวัดนั้นทะลุออกวัดนี้กันเป็นว่าเล่น ในช่วงออกพรรษานี้ทุกวัดจะมีการจัดทำโคมไฟสีและเรือไม้ไผ่ติดโคมไฟ เพื่อร่วมฉลองเทศกาลประเพณีออกพรรษา เราจะเห็นพระและจั่วตัวเล็กตัวน้อยช่วยกันนั่งเหลาไม้ไผ่ ตัดกระดาษติดโคมกันทุกวัดเลยทีเดียว สอบถามได้ความจากแล่ว่า รัฐบาลมีประกาศข้อบังคับให้ทุกวัดในเขตเมืองหลวงพระบางทำโคมและทำเรือไฟ (เรือบก) เพื่อร่วมฉลองงานบุญประเพณี

ในตอนบ่ายฝนเริ่มตกพรำอีกครั้ง เรารีบเดินไปให้ถึงวัดเชียงทองที่อยู่สุดปลายแหลมใกล้ๆกันกับบริเวณที่สายน้ำโขงมาสบกันกับสายน้ำคาน วัดเชียงทองเป็นอีกวัดในฝันที่จะต้องมาเยือนให้ได้ของฉันเลยทีเดียว งานปูนปั้น ลายลงรักปิดทอง และภาพกระจกสีบนฝาผนังที่นี่มีชื่อเสียงมาก โดยเฉพาะภาพต้นไม้กระจกสีบนพื้นปูนสีส้มบนผนังที่หลังสิมนั้นจะปรากฎอยู่ในหนังสือท่องเที่ยวหลวงพระบางทุกเล่มที่คุณอ่าน ฉันใช้เวลาถ่ายภาพและนั่งวาดรูปในวัดนี้ร่วม ๒-๓ ชั่วโมง โรงเมี้ยนโกศ (รถเก็บรถในพระราชพิธีของเจ้าชีวิต) ที่นี่สวยงามและมีชื่อเสียงเช่นกัน ภาพนูนต่ำลงรักษ์ปิดทองเรื่องรามเกียรติ์ที่ฝาผนังเป็นฝีมือของเพี้ยตัน ศิลปินคนสำคัญของลาว





จากวัดเชียงทอง แล่พาฉันเดินไปดูท่าเรือข้างวัดที่อยู่ในหนังรักเรื่องดังขวัญใจคนลาวคือ เรื่อง สะบายดีหลวงพระบาง ท่าเรือที่ว่าเป็นจุดที่นางเอกกับพระเอกนัดว่าจะมาพบกันในปีถัดไป แม้จะมารอพบกันตามสัญญา แต่ทั้งคู่ก็เดินสวนกันไปสวนกันมาคนละทาง จนไม่ได้พบกันในที่สุด (เป็นตอนจบของเรื่อง) แล่บอกว่าเขาดูเรื่องนี้ไม่ต่ำกว่า ๓ รอบ เรื่องนี้คนลาวชื่นชอบกันมาก มีข่าวว่าภาคสองจะสร้างต่อมาในเร็วๆนี้


จากนั้นเราก็เดินต่อ เพื่อไปขึ้นเขาชมพระธาตุพูสีและทิวทัศน์รอบเมืองหลวงพระบางยามเย็น พระธาตุพูสีมีทางขึ้นลงหลายทาง ทางที่ฉันขึ้นไปนั้นเป็นเส้นที่อยู่ใกล้กับสายน้ำคาน จากบนพระธาตุพูสีเราจะเห็นเมืองหลวงพระบางได้รอบด้าน เห็นสายน้ำโขงและสายน้ำคานที่ไหลมาบรรจบกัน และสะพานเหล็กโบราณที่สร้างในสมัยยุคอาณานิคม จุดนี้เป็นจุดชมวิวที่มีชื่อเสียงของเมือง จนมีคำกล่าวว่า ถ้ามาหลวงพระบางแล้วไม่ได้ขึ้นไปชมพระธาตุพูสี ก็เหมือนกับยังมาไม่ถึงหลวงพระบาง



ในวันฟ้าเปิดเราสามารถมาชมพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าได้ที่นี่ บนพระธาตุพูสีมีนักท่องเที่ยวมากพอสมควร แต่ละคนล้วนเตรียมกล้องและขาตั้งมารอคอยถ่ายรูปพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า แต่น่าเสียดายวันนี้ฟ้าปิด เมฆครึ้ม ดูท่าพวกเขาจะไม่ได้ภาพอย่างที่ตั้งใจ บนพระธาตุฉันพบแมวดำหนึ่งตัวเดินไปมา มีเด็กน้อยชาวจีนเดินตามแมว ร้องมี๊มี๊ นัยว่าอยากจะเล่นกับแมว แต่ดูท่าเจ้าเหมียวจะไม่ยอมเล่นด้วยง่ายๆ มันเลยทำทีไม่ใส่ใจนั่งเฉย แล้วเดินจากไป

ค่ำนั้นเราไปเสาะหาข้าวซอยกินกัน แต่ร้านข้าวซอยปิด เราเลยต้องไปลงเอยกันที่ร้านบุฟเฟ่ต์มังสวิรัติกันอีกรอบ ที่ร้านนั้นฉันเจอกับคนแคนาดาที่เดินทางมาจากเกาะวิคตอเรียด้วย เขาเห็นเสื้อ RRU ที่ฉันใส่ก็เลยทำท่าดีใจ สอบถามใหญ่ว่าฉันมาจากไหน โลกนี้มันกลมดีจริง ทำให้นึกถึงเรื่องของ Hrach (อาจารย์ของฉันที่ RRU) เขาเดินทางไปเที่ยวเวียดนาม แล้วก็ไปเจอชาวแคนาดาคนหนึ่งยืนร้องเพลงวันคริสมาสต์กับเพื่อนๆบนถนนหน้าโรงแรมที่พัก สอบถามกันไปมาปรากฎว่าเขาเป็นเพื่อนบ้านของ Brian (เพื่อนร่วมชั้นเรียนของเรา) นึกแล้วขำดี เรื่องของ Hrach นี้จะว่าเป็นอารมณ์ขันของจักรวาลก็อาจได้กระมัง เป็นฉันเจอแบบนี้เข้าก็คงตื่นเต้นน่าดูเหมือนกัน

จบเรื่องเที่ยวกันไว้เท่านี้ก่อน  วันพรุ่งนี้จะเป็นการทำงานแวะเยี่ยมวัดต่างๆ ของแล่  เขามาติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาที่นำโดยคณะสงฆ์ในหลวงพระบาง