Saturday, February 9, 2008

นักรบแห่งจิตวิญญาณ

วันนี้มีโอกาสไปร่วมฟังเสวนา จิตตปัญญาครั้งที่ ๑๑ จัดโดยโครงการจิตตปัญญาศึกษา ม.มหิดล ว่าด้วยหัวข้อ "จิตตื่นรู้ของนักรบพระโพธิสัตว์" (นักรบแห่งจิตวิญญาณ)

มีวิทยากรคือ คุณ Michelle Levey คุณ Joel Levey มาจากสหรัฐอเมริกา ทั้งสองท่านศึกษาและปฏิบัติธรรมตามแนวพุทธสายวัชระยาน (ธิเบต) มานานร่วม ๔๐ ปีแล้ว และได้เป็นวิทยากรฝึกอบรมให้กับหน่วยงานระดับโลกหลายแห่ง มีประเด็นน่าสนใจหลายเรื่อง แต่ที่จะเก็บมาเล่าวันนี้จะเป็นเฉพาะเรื่องที่เราชอบอ่ะนะ

เขาพูดถึงจิตใจของพระโพธิสัตว์ว่า จิตใจของพระโพธิสัตว์เนี่ย เขาเปรียบว่าเหมือนคนที่รู้ตัวว่า บ้านนี้กำลังไฟไหม้อยู่ แล้วก็สามารถวิ่งหนีออกไปจากบ้านได้อย่างปลอดภัย แต่พอเหลียวกลับมาดูก็พบว่าพ่อแม่พี่น้องของตัวเองยังติดอยู่ภายในกองเพลิงในบ้านนั้นอีกหลายคน ด้วยจิตใจที่กล้าหาญและเปี่ยมเมตตาก็เลยตัดสินใจวิ่งกลับเข้ามาในบ้านที่ไฟกำลังไหม้นั้นใหม่เพื่อช่วยให้ทุกคนออกไปให้ได้ (บ้านที่กำลังไฟไหม้ก็คือสังสารวัฎ พ่อแม่พี่น้องก็คือเหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลาย --คือ ผู้ทีมีจิตใจของพระโพธิสัตว์จะเห็นว่าสรรพสิ่งทั้งปวงประดุจว่าเป็นดังพ่อแม่พี่น้องหรือมิตรของตน)

ทำให้เรานึกถึง ตำนานของพระโพธิสัตว์รูปหนึ่ง (จำชื่อไม่ได้แล้ว) ตัดสินใจกลับมาเกิดยังนรกขุมที่ลึกที่สุด ยอมลำบากทนทรมานเป็นเวลาหลายกัปป์กัลป์เพื่อจะช่วยให้เหล่าสรรพสัตว์ได้หลุดพ้นจากขุมนรกนั้นให้ได้จนหมดสิ้น

ความเป็นนักรบของพระโพธิสัตว์คือการสู้กับสงครามภายในจิตใจของตนเอง สู้กับกิเลสภายในของตนเอง รวมทั้งกิเลสและความหลงผิดที่มีอยู่ในสรรพสัตว์ เป็นการรบด้วยอาวุธแห่งปัญญาด้วยความเมตตา

ประเด็นที่เราประทับใจคือ ตอนที่เขาพูดถึงจิตวิญญาณของพระโพธิสัตว์ว่า เป็นผู้ที่พร้อมจะโอบอุ้มและรับเอาความทุกข์ของผู้อื่นเข้ามาในตนเอง แล้วแปรเปลี่ยนพลังแห่งความทุกข์นั้นให้กลายเป็นพลังแห่งความรักเมตตาและสันติสุข แล้วก็ถ่ายทอดส่งผ่านพลังแห่งความดีงามนี้กลับไปยังผู้คนที่กำลังทนทุกข์อยู่

แล้วเขาก็ยกตัวอย่างว่า ในพม่านั้นสัญลักษณ์ที่เป็นตัวแทนของพระโพธิสัตว์คือ นกยูง ที่ใช้นกยูง เพราะนกยูงเป็นสัตว์ชนิดเดียวที่สามารถกลืนกินรากไม้/พืชที่มีพิษเข้าไปได้โดยที่ตัวมันไม่เป็นอะไร (ในขณะที่นกชนิดอื่นหากกินเข้าไปก็ตายแน่) แล้วนกยูงก็แปรเปลี่ยนพิษเหล่านั้นไปเป็นสีสันที่สวยงามบนขนของมัน เหมือนกับพระโพธิสัตว์ที่รับเอาพิษร้ายและความทุกข์จากสรรพสัตว์ในโลกมาแปรเปลี่ยนเป็นพลังแห่งความดีงามแล้วส่งกลับคืนออกไปยังโลกนั่นเอง

อีกเรื่องเล่าที่่เราประทับใจคือ ตอนที่จีนบุกเข้ามายึดครองทิเบตนั้นได้กวาดต้อนจับกุมชาวธิเบตและพระนักบวชและแม่ชีจำนวนมากไปขุมขังและทรมาณ มีพระชรารูปหนึ่งสามารถหนีออกมาได้และเดินทางข้ามพรมแดนมาพบกับองค์ทะไลลามะได้ เมื่อได้มาพบกับองค์ทะไลลามะ พระชรารูปนี้ก็ได้แสดงการคารวะพร้อมกับกล่าวด้วยน้ำตานองใบหน้าว่า "โอ ท่านทะไลลามะ ข้าพเจ้ากลัวมากๆ" ซ้ำไปมาอยู่สองสามครั้ง องค์ทะไลลามะก็ตอบกลับไปว่า "เป็นเรื่องธรรมดาที่จะรู้สึกหวาดกลัว เพราะการตกอยู่สถานการณ์เช่นท่านนั้นเป็นเรื่องที่ทุกข์ทรมานและยากลำบากมาก" แต่แล้วพระชรารูปนั้นก็ตอบองค์ทะไลลามะกลับไปว่า "โอ ท่านทะไลลามะ ข้าพเจ้ากลัวมากๆ" "ในระหว่างที่ถูกคุมขังนั้น ข้าพเจ้ากลัวมากว่าวันหนึ่งจะสูญเสียความกรุณาที่มีต่อทหารจีนผู้ที่กระทำทารุณและทรมานข้าพเจ้าในคุกนั้นไป"

... ฟังแล้วซึ้ง (อึ้งด้วย) เพราะพระชรารูปนี้มีจิตใจแห่งความกรุณาที่ไพศาลจริงๆ ว่ากันว่า นักรบแห่งจิตวิญญาณนี้ ยิ่งเผชิญกับความทุกข์ยากลำบากมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งใช้ความทุกข์นั้นเป็นโอกาสที่จะแปรเปลี่ยนทุกข์นั้นไปสู่ความเมตตาและความกรุณาได้มากขึ้นเท่านั้น

วิทยากรก็เลยย้อนกลับมาสู่คนฟังว่า เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ถ้าเราเจอกับคนที่เราไม่ชอบหรือคนที่เรารู้สึกว่าเขาช่างแย่และเลวร้ายจริงๆ ก็ให้เรามองเห็นว่านี่แหละคือโอกาสทองที่เราจะได้ฝึกฝนจิตใจแห่งนักรบพระโพธิส้ตว์คือ แปรเปลี่ยนยาพิษในใจให้กลายเป็นพลังแห่งความรัก ความเมตตาส่งกลับออกไปยังคนๆนั้น (แหม อันนี้ฟังแล้วชอบใจ เพราะทำให้นึกถึงเพื่อนๆบางคนในที่ทำงาน ที่หลายคนรู้สึกว่าเขาช่างเป็นตัวป่วน จริงๆ--ต่อไปนี้คงต้องมองและปฏิบัติต่อเขาใหม่เสียแล้ว)

อีกกิจกรรมที่ชอบคือ เขาให้เราจินตนาการถึงผลไม้ที่เราชอบว่าอยู่ตรงหน้า ใช้จิตเราจินตนาการว่าเราสามารถมองเห็นและสัมผัสได้ถึงสี และกลิ่นหอมหวานของมัน จากนั้นหยิบผลไม้มาก่อนจะใส่เข้าปากขอให้เรานึกถึงว่า เรากำลังกินผลไม้นี้เพื่อความสุขของตัวเราเอง แล้วก็กินเข้าไป (ในจินตนาการ) เขาให้เราสังเกตดูความรู้สึกของตัวเอง

จากนั้นเขาก็ให้จินตนาการถึงผลไม้ที่เราชอบอีกครั้งอย่างแจ่มชัดในใจ หยิบขึ้นมา คราวนี้ก่อนที่เราจะกินผลไม้นั้น ให้เรานึกถึงรสชาติความหอมหวานของมัน แล้วบอกกับตัวเองว่า เมื่อฉันกินผลไม้นี้ขอให้ความหอมหวานและรสชาติอันแสนอร่อยของมันส่งผ่านออกไปยังสรรพชีวิตและสรรพสิ่งทั้งปวง ขอให้พวกเขาเหล่านั้นได้รับรสแห่งความหอมหวานของผลไม้นี้และมีความสุขกับรสชาติของมัน และขอให้การกินผลไม้ชิ้นนี้เป็นการเติมเต็มความอิ่มให้กับทุกสรรพสิ่งด้วย ขอให้ความหิวโหยของพวกเขาจงได้รับการเยียวยา ขอให้พวกเขาได้รับความสุขเช่นเดียวกันกับฉัน แล้วก็กินผลไม้ (ในจินตนาการ) เข้าไป จากนั้นเขาก็ให้เราสังเกตดูความรู้สึกของตนเองว่ารู้สึกอย่างไรแตกต่างกันหรือไม่

สำหรับเรานะ พบว่า แม้จะเป็นการกระทำเดียวกัน แต่แค่เพียงเราตั้งจิต/เจตนาต่างกัน มันก็ส่งผลต่อภาวะจิตใจและความรู้สึกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดจริงๆ ตอนกินครั้งแรกมันก็อร่อยดีนะ แต่ครั้งหลังนี่รู้สึกได้เลยว่ามันเป็นการกินผลไม้ที่มีความหมายจริงๆ เพราะมันเป็นการกินเพื่อคนอื่นๆด้วย จิตใจมันจะเต็มอิ่มเบิกบานกว่ากัน ความรู้สึกข้างในมันเปิดกว้างมากกว่าเดิม ใจมันสว่างและเบากว่ากันเยอะเลย

ถึงว่าพระพุทธเจ้าจึงได้สอนว่า เจตนาเป็นตัวตัดสินการกระทำ ผลกรรมจะเป็นเช่นไรขึ้นอยู่กับตัวเจตนาของผู้กระทำกรรมนั้น

แล้วเขาก็บอกว่าเนี่ยแหละ ต่อไปนี้ถ้าใครต้องการจะฝึกฝนจิตใจของพระโพธิสัตว์ ก็ขอให้เรามีสติว่า ทุกๆการกระทำของเรานั้น ไม่ว่าจะเป็นการกิน ยืน เดิน นั่งนอน พูดจา การภาวนา ล้วนเป็นไปเพื่อความสุขและประโยชน์ของผู้อื่น การตั้งจิตเช่นนี้จะบ่มเพาะและหล่อเลี้ยงความกรุณาให้อยู่ภายในจิตใจของเราและทำให้พลังแห่งความกรุณานั้นเติบโตได้อย่างมั่นคง

มีเรื่องที่ขำก็คือ ตอนเช้าพอวิทยากรแนะนำตัวเสร็จก็มีการถามผู้ฟังกลับว่า "ที่คุณมาฟังในวันนี้ คุณตั้งใจว่าคุณจะมาฟังเรื่องอะไร อะไรทำให้คุณตัดสินใจเดินทางมาร่วมการเสวนาในครั้งนี้" พอถามจบคนฟังก็อึ้งมองหน้ากันไปมา คอยดูว่าใครจะกล้าพูดก่อน พอวิทยากรเห็นคนเงียบอยู่ก็เลย บอกว่า ก้าวแรกของการที่จะเป็นนักรบพระโพธิสัตว์คือ การมีความกล้าหาญ เช่น การกล้าที่จะพูด แสดงความรู้สึกและความคิดของตนให้คนอื่นรับรู้ด้วยเช่นกัน เท่านั้นแหละพวกเราผู้ฟังก็เลยขำกันใหญ่ สถานการณ์คลี่คลาย ในที่สุดก็เลยมีคนลุกขึ้นมาแสดงความเห็นกันพอควรทีเดียว

ตอนจบได้มีโอกาสคุยกับวิทยากรนิดหน่อย คือ คุณ Joel เขาขอบคุณเราที่ตั้งใจฟังมาก (อิๆ ปลื้มเลย วิทยากรอุตส่าห์เห็น แต่จะว่าไปเราก็ฟังด้วยความสนุกจริงๆ ถูกจริตข้าพเจ้ายิ่งนัก) แล้วเขาก็บอกว่าสนใจงานด้านสันติวิธีด้วย ถ้ามีโอกาสที่จะช่วยเหลือได้ก็สนใจอยากจะมาช่วยเหลืองานด้านนี้อย่างยินดี

การเสวนาวันนี้ให้แรงบันดาลใจที่ดีทีเดียว มันตรงกับความเชื่อลึกๆของเราว่า แท้จริงแล้วทุกคนคือพระโพธิสัตว์ เราล้วนมีจิตของโพธิ(จิตตื่นรู้) อยู่ภายใน เพียงแต่ยังหลับใหลอยู่ ภารกิจของเราทุกคนคือปลุกมันให้ตื่นรู้ขึ้นมา ภารกิจนี้เป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องทำด้วยตนเอง เส้นทางจิตวิญญาณของแต่ละคนล้วนแตกต่างและถูกออกแบบมาเฉพาะตน ไม่มีวันซ้ำกับใคร ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นไปเพื่อการตื่นรู้ มีประโยคหนึ่งที่เราชอบมาก ถ้าจำไม่ผิดได้อ่านเจอครั้งแรกในหนังสือ ช้มบาลา (ของเชอเกียม ตรุงปะ) เขาเขียนว่า...

"แท้จริงแล้วพวกเราทั้งผองล้วนเป็นนักรบแห่งจิตวิญญาณ พวกเราคือนักรบแห่งแสงสว่าง"