Friday, July 20, 2007

Spirited Away


หนังการ์ตูนเรื่องนี้สนุกมากขอบอก

Spirited Away กำกับโดย Hayao Miyazaki

เป็นเรื่องราวของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งชื่อ ชิฮิโร โอกิโนะที่กำลังเดินทางเพื่อย้ายบ้านไปที่แห่งใหม่ แต่ระหว่างทางที่ขับรถกันไปกับครอบครัว พ่อกับแม่พยายามจะหาเส้นทางลัด แต่กลับกลายเป็นว่าพวกเขาได้เดินทางพลัดหลงเข้าไปในดินแดนลึกลับที่ดูเหมือนจะมีแต่วิญญาณและตัวประหลาดเต็มไปหมด พ่อกับแม่ของเธอที่ไปด้วยกันได้กลายร่างเป็นหมูเพราะความโลภและตะกละของตนเอง ส่วนเธอก็ต้องผจญภัยกับตัวประหลาดและเรื่องราวต่างๆ เพื่อช่วยพ่อแม่กลับคืนสู่ร่างมนุษย์และหาทางออกมาจากดินแดนแห่งนั้นให้ได้ โชคดีที่เธอได้พบกับฮาคุซึ่งคอยช่วยเหลืออยู่เบื้องหลังให้เธอผ่านพ้นอันตรายต่างๆ รวมทั้งเพื่อนดีๆอีกมากมายที่ได้ค้นพบหลังจากผ่านเหตุการณ์ต่างๆมาด้วยกัน

หนังแสดงให้เห็นพัฒนาการของตัวละครและการเปลี่ยนผ่านจากเด็กที่เอาแต่ใจ ขลาดกลัวและไม่มั่นใจ ไปสู่เด็กที่มีความกล้าหาญ รับผิดชอบ มีพลังแห่งความมุ่งมั่นและมีความดีงามในจิตใจ

หนังการ์ตูนเรื่องนี้จะดูเอาสนุกอย่างเด็กๆ หรือจะดูเอาเรื่องแล้วตีความอย่างผู้ใหญ่ก็ได้ มีหลายประเด็นที่น่าคิดไม่ว่าจะเรื่องความโลภและปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มาพร้อมกับระบบบริโภคนิยม หนังได้แฝงเรื่องเหล่านี้ไว้อย่างแนบเนียนดูสนุก หนังไม่มีคำตอบสำเร็จรูปให้แต่ให้เราเก็บกลับไปคิดเอง

ดูจบแล้วก็รู้สึกอิ่มอกอิ่มใจจนต้องเอามาบอกต่อด้วยประการฉะนี้

อ้อเรื่องนี้ได้รับรางวัลสารพัดเลย ดังรายการด้านล่าง

The film was named Best Animated Feature at the 75th Academy Awards, the first anime film to win an Oscar.

75th Academy Awards – Best Animated Feature (Hayao Miyazaki)
2003 Annie Awards
Outstanding Achievement in an Animated Theatrical Feature
Outstanding Direction in an Animated Feature Production (Hayao Miyazaki)
Outstanding Music in an Animated Feature Production (Joe Hisaishi)
Outstanding Writing in an Animated Feature Production (Hayao Miyazaki)
2002 Berlin International Film Festival – Golden Bear (tied with Bloody Sunday) (Hayao Miyazaki)
2002 Blue Ribbon Awards – Best Film (Hayao Miyazaki)
2002 Boston Society of Film Critics Awards – Special Commendation
2002 Tokyo International Anime Fair – Best Animated Film
2003 Broadcast Film Critics Association Awards – Best Animated Feature
2003 Dallas-Fort Worth Film Critics Association Awards – Best Animated Film
7th Florida Film Critics Circle Awards – Best Animated Feature
2002 Hong Kong Film Awards – Best Asian Film
2001 Japanese Academy Awards – Best Film
2002 Los Angeles Film Critics Association Awards – Best Animation
2002 National Board of Review Awards – Best Animated Feature
2002 New York Film Critics Circle Awards – Best Animated Film
6th Online Film Critics Society Awards – Best Animated Feature
2002 San Francisco International Film Festival Audience Award – Best Narrative Feature (Hayao Miyazaki)
2003 Satellite Awards – Best Motion Picture, Animated or Mixed Media
2003 Saturn Awards – Best Animated Film

Additionally, Spirited Away is the first animated film of any kind to win the Golden Bear at the Berlin Film Festival.

Water


เป็นหนังสัญชาติอินเดียอีกเรื่องที่รับการโจษจันกล่าวขานในแวดวงคอหนัง
กำกับโดย Deepa Mehta นำแสดงโดย Seema Biswas, Lisa Ray, John Abraham, Sarala

หนังได้รับคำชมมากมายจากนักวิจารณ์ต่างประเทศ ได้รับการโหวตให้เป็นหนังที่ดีที่สุดในสิบอันดับหนังดีแห่งปี 2005 ของแคนาดา แต่กลับถูกต่อต้านและห้ามฉายในอินเดีย เพราะหนังสะท้อนสภาพชีวิตที่ถูกกดขี่ของหญิงหม้ายในสังคมฮินดูและตั้งคำถามที่ท้าทายเกี่ยวกับคำสอนในคำภีร์อุปนิษัทเรื่องเพศสภาวะและสถานะของผู้หญิงฮินดู อย่างชนิดที่คนฮินดูเองก็รับไม่ได้ เพราะมันอาจจะจริง ตรง และโหดร้ายเกินไป

เหตุการณ์ในเรื่องนี้เกิดขึ้นในช่วงรอยต่อของการเรียกร้องเอกราชของอินเดียเมื่อราวปี 1938 (เราจะได้เห็นคานธีในเรื่องนี้ด้วย) หนังเริ่มต้นด้วยการเล่าถึง Chuhyia เด็กผู้หญิงอายุ 8 ขวบที่ต้องกลายเป็นหม้ายเนื่องจากสามีที่อายุมากกว่าเธอถึง 43 ปีถึงแก่กรรม เธอแทบจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าตัวเองแต่งงานแล้ว เธอถูกจับโกนหัว ใส่ชุดขาวและส่งไปอยู่ในอาศรม (ริมแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์) ที่หญิงหม้ายทุกคนจะต้องมาอยู่ที่นี่ ที่นี้เธอได้พบกับศกุนตลาและกัลยาณีซึ่งต่อมาได้กลายเป็นเพื่อนต่างวัยที่ช่วยดูแลเธอ Chuhyia ได้เรียนรู้จักสภาพความเป็นจริงอันโหดร้ายของการเป็นหญิงหม้ายในสังคมฮินดูที่ต้องกลายเป็นขอทาน (เพราะพวกเธอจะไม่ได้รับอนุญาตให้ครอบครองทรัพย์สมบัติและเครื่องประดับใดๆจากครอบครัวเดิม) บ้างก็ต้องเป็นโสเภณี(อย่างลับๆ)เพื่อความอยู่รอด และได้รับการปฏิบัติอย่างดูถูกเหยียดหยามจากสังคมรอบข้าง เพราะถือว่าพวกเธอคือผู้นำพาความโชคร้ายมาสู่สามีของเธอ เธอเป็นสาเหตุที่ทำให้สามีเสียชีวิต

หนังเล่าเรื่องและตั้งคำถามผ่านสายตาและมุมมองของเด็กหญิง Chuhyia ในเรื่องนี้เด็กหญิง Chuhyia ตั้งคำถามกับศกุนตลาด้วยความสงสัยว่า "แล้วอาศรมของผู้ชายที่เป็นหม้ายล่ะอยู่ที่ไหน" แทนที่จะได้รับคำตอบ เธอกลับถูกหญิงหม้ายคนอื่นๆดุเอาด้วยสีหน้าตื่นตกใจว่า "คิดอย่างนี้ได้อย่างไร เพียงแค่คิดก็เป็นบาปแล้ว" ไม่มีใครกล้าตั้งคำถามในเรื่องนี้ ทุกคนต่างก้มหน้ายอมรับชะตากรรมตามความเชื่อและคำสอนในคัมภีร์อย่างมืดบอด แม้ในยุคนั้นอินเดียจะออกกฎหมายให้หญิงหม้ายสามารถแต่งงานใหม่ได้ แต่ในแง่ของการปฏิบัติและความเชื่อทางศาสนาในยุคนั้นไม่มีใครยอมรับการปฏิบัติตามกฎหมายในข้อนี้

ในอินเดียนั้นผู้หญิงฮินดูจะต้องมีชีวิตอยู่ภายใต้การปกครองของผู้ชายในสามสถานะคือ เป็นลูกสาว (อยู่ในความปกครองของบิดา) เป็นภรรยา(เป็นสมบัติของสามี) และเป็นแม่ (อยู่ในการดูแลของลูกชาย)

หากเธอกลายเป็นหญิงหม้ายก็จะมีทางเลือกให้เธอเพียงสามทางคือ 1) กระโดดเข้ากองไฟฆ่าตัวตายพร้อมศพของสามี 2) ใช้ชีวิตที่ตัดขาดจากโลกภายนอกโดยสิ้นเชิง (เข้ามาอยู่ในอาศรม) และ 3) หากทางครอบครัวของสามียินยอม ก็ให้น้องชายของสามีรับช่วงต่อ (ตกเป็นภรรยาของน้องชายสามี)

หนังเรื่องนี้ไม่สามารถถ่ายทำในอินเดียได้ หากแต่ต้องไปถ่ายทำในศรีลังกา เพราะถูกต่อต้านจากสมาคมศาสนาฮินดูในอินเดียอย่างรุนแรง แต่หนังก็ถ่ายทำออกมาได้ดี โทนหนังสวยเศร้า มุมกล้องสวยมาก เราจะสัมผัสได้ถึงบรรยากาศของวิถีชีวิตคนอินเดียเมื่อร้อยกว่าปีก่อนที่มีชีวิตผูกพันอยู่กับสายน้ำและความเชื่อความศรัทธาในศาสนาของตน (และยังคงเป็นเช่นนั้นจนทุกวันนี้ในหลายๆแห่งในอินเดีย)

เพลงประกอบภาพยนตร์เพราะมาก แม้ว่าจะฟังไม่ออกเลยสักคำเพราะเป็นภาษาฮินดีก็ตาม แต่ท่วงทำนองของดนตรีและน้ำเสียงของผู้ร้องก็สื่ออารมณ์และความหมายได้ชัดเจนพ้นไปจากถ้อยคำและภาษาใดๆ

เป็นอีกเรื่องที่ประทับใจและควรค่าแก่การดูอย่างยิ่ง แม้ว่าดูจบแล้วจะรู้สึกเศร้าและสะเทือนใจแทนผู้หญิงเหล่านั้นก็ตาม

มีข้อมูลท้ายเรื่องที่น่าตกใจก็คือ จนกระทั่งปี 2001 นี้ก็ยังคงมีหญิงหม้ายอีกราว 3 ล้านกว่าคนในอินเดียที่ยังคงต้องทนอยู่ในสภาพชีวิตเช่นนั้น ไม่แตกต่างจากหลายร้อยหลายพันปีที่ผ่านมาเลย

หมายเหตุ: ก่อนหน้านี้ Deepa Mehta เคยสร้างและกำกับหนังเรื่อง Fire และ Earth ซึ่งได้รับการโจษจันและกล่าวขานถึงไม่แพ้กันมาแล้ว (พูดถึงประเด็นเรื่องสถานะของผู้หญิงในอินเดียเช่นกัน) ฟังดูแล้วเดาว่าภาคต่อไป/เรื่องต่อไปคงต้องชื่อ Wind แน่ๆเลย จะได้ครบธาตุทั้งสี่คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ พอดีไง ว่าไหมล่ะ?

Tuesday, July 10, 2007

เรื่องเล่าจากเพื่อนชายแดนใต้


เราได้รับ forward mail นี้มาจากพี่เล็ก มันเป็นเรื่องราวของเพื่อนคนหนึ่งชื่อ เมาะ กำลังทำงานรณรงค์เรื่องสันติภาพและการหยุดยิงที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตอนนี้เขาคิดโครงการรณรงค์ด้วยการทำสติ๊กเกอร์โลโก้หยุดยิงและสันติภาพ เพื่อให้ผู้คนที่เห็นด้วยกับแนวทางแห่งสันติฯ นำไปติดตามที่ต่างๆเพื่อชักชวนและกระตุ้นเตือนหรือสะกิดให้ผู้คนตระหนักถึงหนทางแห่งสันติวิธี เราอาจเข้าร่วมการณรงค์ครั้งนี้ด้วยได้ไม่ยาก ด้วยการประกาศจุดยืนและความเชื่อของเราในการใช้สันติวิธีแก้ปัญหาความขัดแย้ง ด้านล่างเป็นที่มาและเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจให้เมาะตัดสินใจเลือกใช้โลโก้หยุดยิง เป็นเครื่องมือในการรณรงค์ ตอนนี้ตัวโครงการกำลังอยู่ในขั้นวางแผนดำเนินงาน เชื่อว่าในอีกไม่ช้าเราคงได้เห็นโลโก้หยุดยิง/สันติภาพออกมา


ที่มาของโลโก้หยุดยิงและสันติภาพในภาคใต้ของประเทศไทย[1]


ชู๊ต (นามสมมติ) เด็กสาวชาวอะเจห์เป็นบุคคลสำคัญที่สร้างแรงบันดาลใจให้ฉัน ให้สามารถคิดวิธีการรณรงค์การไม่ใช้ความรุนแรง หรือ โลโก้หยุดยิง

ฉันพบชู๊ตโดยบังเอิญในช่วงที่ไปทำวิจัยอยู่ในประเทศอินโดนีเซียโดยทุนปัญญาชนสาธารณะ (API) จนบัดนี้ฉันยังไม่สามารถลืมใบหน้าของเด็กสาวที่ฉายแววตาอันแสนเศร้า และมักจะร้องให้ออกมาเสมอเมื่อมีใครพูดถึงเหตุการณ์เผาโรงเรียนที่เธอรัก...

เรื่องราวมากมายพรั่งพรูออกมาจากปากของเธอ พร้อมกับหยาดน้ำตาอาบแก้ม...เธอเล่าว่า...เธอต้องนอนราบบนพื้นเพราะบริเวณรอบบ้านมีการยิงกันระหว่างกลุ่มกัม (GAM-Free Aceh Movement) และรัฐบาล...

เหตุการณ์ที่เห็นผู้คนต้องอยู่ในบ้านหลบภัยในช่วงเหตุการณ์ระเบิดอย่างรุนแรง... บ้านที่ต้องสร้างขึ้นชั่วคราวสำหรับรองรับคนที่ถูกเผาบ้าน.... การสูญเสียเพื่อนสนิทชาวชวา 2 คน เพราะถูกกัมข่มขู่ให้กลับไปยังเกาะชวาเนื่องจากไม่ใช่คนอะเจห์.... และแม้แต่ชาวอะเจห์ที่ไม่สามารถพูดภาษาอะเจห์ได้ก็ยากที่จะอยู่ในอะเจห์เช่นกัน

เธอได้เปรียบเทียบช่วงชีวิตในระหว่างเหตุการณ์ความรุนแรงว่า ‘ชีวิตของเราไม่มีค่าและมีราคาถูกกว่าปลา’ (Our soul is no price and cheaper than fish) ชู๊ตเล่าให้ฟังว่าในสถานการณ์แห่งความสับสนและสังคมไร้ระเบียบเช่นนี้ ทุกคนมีสิทธิจะตกเป็นเหยื่อได้หมด ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น ทหาร หรือตำรวจ หรือกลุ่มแบ่งแยกดินแดน แต่ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือ ประชาชนที่อยู่ท่ามกลางขั้วทั้งสองนั้นถูกยัดเยียดโชคชะตาอันโหดร้ายจากทั้งสองฝ่าย

เหตุการณ์ในอะเจห์ตอนนี้ได้รับสันติภาพแล้วเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2548 หลังจากต่อสู้กันมาเกือบ 30 ปี มีคนตายและอุ้มหายมากมายเหลือคณานับ และสึนามิเองก็มีส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดสันติภาพในอะเจห์ขึ้น…

บ้านของชู๊ตสงบลงแล้วแต่บ้านของฉันกำลังจะซ้ำรอยและเป็นเช่นเดียวกับบ้านของเธอเมื่อ 30 ปีก่อน... เหตุการณ์นานวันผ่านไป....เริ่มรุนแรงขึ้นและใกล้ตัวมากขึ้นทุกขณะ...ฉันถามตัวเองอยู่เสมอว่า ฉันมีทางเลือกเช่นใดบ้างในสภาวะการณ์เช่นนี้.... ทางเลือกที่ไม่ต้องการถูกยัดเยียดโชคชะตาแห่งความเลวร้ายจากทั้งสองฝ่าย...ดังเช่นชู๊ตเคยเผชิญ...ฉันไม่อยากจะจินตนาการเลยว่า จะมีเด็ก ๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเติบโตขึ้นกลายเป็นเด็กน้อยที่แสนเศร้าอย่างชู๊ตอีกกี่คน...

อีกครั้งที่ฉันย้อนกลับไปนึกถึงระหว่างทางที่เดินสำรวจเมือง Banda Aceh… ฉันเห็นโลโก้หยุดยิงติดอยู่ท้ายรถยนต์บ้าง หน้ากระจกรถบ้าง ข้าง ๆ รถบ้าง... และเวลาที่ฉันไปซื้อของที่ระลึกในร้านก็เห็นเสื้อที่สกรีนข้อความต่าง ๆ เกี่ยวกับการไม่ใช้ความรุนแรง... ฉันรู้สึกว่าสัญลักษณ์เหล่านี้มีพลัง...แต่ก็ไม่เคยคิดว่าสักวันหนึ่งจะต้องมาขอยืมใช้บ้างในเมืองไทย...

แต่วันนี้ฉันต้องขอยืมสัญลักษณ์ดังกล่าวมาใช้บ้าง...ถึงแม้จะรู้ว่า..แค่โลโก้อันเล็ก ๆ เช่นนี้ จะไม่ได้นำมาซึ่งสันติภาพ.... แต่อย่างน้อยก็เป็นก้าวเล็ก ๆและการแสดงพลัง ....ให้กับผู้คนที่ต้องการทางเลือก... ในการที่จะได้เลือกว่า “ฉันไม่เอาความรุนแรงไม่ว่าจากฝ่ายใดก็ตาม”...



----------------------------------------------

[1] จริง ๆ แล้วมีหลายปัจจัยและบุคคลหลายคนที่ช่วยทำให้ฉันคิดถึงการใช้โลโก้เช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยในช่วงการประท้วงใหญ่... พี่ละม้าย..ก๊ะโซรยา...และการประชุมที่สงขลา...

Sunday, July 1, 2007

ไดอะล็อก: พลังจากการคิดร่วมกัน


ตอนนี้กำลังสนใจเรื่อง Dialogue (มีผู้แปลเป็นไทยว่า สานเสวนา หรือ สุนทรียสนทนา) เพราะเคยมีประสบการณ์การได้เข้าร่วม dialogue วงย่อยๆกับกลุ่มขวัญเมือง, เชียงราย (พี่ใหญ่ วิศิษฐ์ วังวิญญู, หมอวิธาน, พี่ณัฐฬส ฯลฯ) รู้สึกประทับใจและเห็นได้ว่า Dialogue นี้เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คนได้เติบโตและเรียนรู้จากกันและกันได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด คิดว่าหากเป็นไปได้ก็อยากจะทำงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ ตอนนี้ในเมืองไทยก็มีกลุ่มที่นำ Dialogue ไปใช้ในการพัฒนาองค์กร และพัฒนาสังคมหลายกลุ่ม เท่าที่เรารู้ๆแน่ๆ ตอนนี้คือ กลุ่มขวัญเมือง ก็หนึ่งล่ะ อีกกลุ่มหนึ่งก็ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหิดล (มี อ.ปาริชาด รองผอ.ศูนย์ฯเป็นกระบวนกรหลัก) แล้วก็มีกลุ่มจิตปัญญาศึกษา อีกหนึ่ง ทางใต้เองก็มีกลุ่มที่มอ.และรพ.ฉวางที่เคยมาร่วมอบรมกับกลุ่มขวัญเมืองแล้วคาดว่าคงจะนำไปพัฒนาต่อ ปรากฏการณ์ Dialogue ในเมืองไทยนับเป็นปรากฏการณ์ที่น่าติดตามไม่น้อยทีเดียว (ถ้าใครสนใจเรื่องการจัดการความรู้ และการวิวัฒน์ทางจิตวิญญาณคาดว่าน่าจะเคยได้ยินกันมาบ้าง) เชื่อว่าในไม่ช้ามันจะกลายเป็นกระแสสำคัญอีกกระแสหนึ่งที่สร้างการเรียนรู้และการแปรเปลี่ยนสังคมได้

บ่ายวันนี้อ่านหนังสือ “รหัสอภิมนุษย์” (Synchronicity) เขียนโดย โจเซฟ จาวอร์สกี แปลโดย สุรพงษ์ สุวจิตตานนท์ ตีพิมพ์โดย สำนักพิมพ์คบไฟ ผู้เขียนคือ โจเซฟ นี้ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ค้นพบชะตากรรมของตนเองในชีวิตช่วงหนึ่ง (หลังจากผ่านมรสุมชีวิตอย่างหนัก) เขาพบว่าตนต้องการทำอะไร ต้องการเป็นอย่างไร มีความสัมพันธ์อย่างไรต่อโลก เขาไปเจอและสนทนากับ เดวิด โบห์ม เจ้าพ่อ Dialogue มาด้วย มีบทหนึ่งที่เขาได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ Dialogue เอาไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

ไดอะล็อก: พลังจากการคิดร่วมกัน
ในบางโอกาส ผู้คนจากเผ่าต่างๆมานั่งล้อมวงกัน พวกเขาได้แต่พูด พูด และก็พูด โดยไม่มีจุดมุ่งหมายที่แน่ชัด พวกเขาไม่มีเรื่องใดๆให้ตัดสินใจ ไม่มีทั้งผู้นำ แต่ทุกๆคนสามารถเข้ามาร่วมได้ อาจมีทั้งคนฉลาด ทั้งชายหญิงที่คอยฟังผู้อาวุโส แต่ทุกคนก็มีสิทธิพูดได้ การชุมนุมดำเนินไปจนกระทั่งยุติลงในที่สุดโดยปราศจากสาเหตุใดๆ แล้วต่างคนต่างแยกย้ายกันไป แต่หลังจากนั้น ดูเหมือนว่า แต่ละคนต่างรู้ว่าตัวเองควรจะทำอะไร เพราะพวกเขาเข้าใจซึ่งกันและกันได้เป็นอย่างดี พวกเขาอาจกลับมาชุมนุมกันใหม่ในกลุ่มที่เล็กลงเพื่อทำกิจกรรมหรือตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ

เดวิด โบห์ม ในหนังสือ On Dialogue


คำว่า “ไดอะล็อก (Dialogue)” ที่โบห์มใช้ มีที่มาจากคำกรีก 2 คำคือ ไดอะ (Dia) และโลกอส (Logos) ซึ่งรวมแล้วหมายถึง “การไหลผ่านของความหมาย (meaning flowing through)” คำๆนี้ต่างจากคำว่า โต้วาที (debate) ซึ่งหมายถึง “การชำแหละ (beat down)” หรือแม้กระทั่ง “การอภิปราย (discussion)” ซึ่งมีรากศัพท์เดียวกับ “การตีกระทบ percussion” และ “การสั่นคลอน (concussion)”

โบห์มชี้แจงว่า เรื่องราวต่างๆที่อยู่ในข่ายที่เรียกว่าอภิปรายนั้น จริงๆแล้วยังเข้าไม่ถึงระดับรากในแง่ที่ว่า ยังมีสิ่งที่ต่อรองหรือเจรจากันไม่ได้แอบแฝงอยู่ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือยังมี “บางเรื่องที่พูดคุยหรืออภิปรายไม่ได้ (undiscussable)” ไม่มีใครอยากจะหยิบยกเรื่องที่พูดไม่ได้ขึ้นมา แต่มันมีอยู่ในระดับลึกลงไปภายใต้เปลือกนอก อีกทั้งยังเป็นกำแพงกั้นการสื่อถึงกันในระดับลึกในเรื่องของความซื่อสัตยและความจริงใจ...

แต่หากคนเราสามารถคิดร่วมกันตามแนวทางที่ประสานเข้ากันได้อย่างลงตัว ผลที่ตามมาคือพลังมหาศาล ถ้าหากมีโอกาสได้ดำเนินการสนทนาแบบไดอะล็อกนานพอ อาจเกิดการขับเคลื่อนทางความคิดที่นำไปสู่ความความคล้องจองลงตัว ที่ไม่เพียงแต่ในระดับที่เรารับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสโดยปกติ แต่ที่สำคัญกว่าคือ ถึงระดับเหนือคำบรรยาย ไดอะล็อกไม่ได้ต้องการให้ทุกคนมีความเห็นเป็นแบบเดียวกัน แต่จะส่งเสริมให้คนเข้ามามีส่วนร่วมโดยนำเอาความหมายมาแบ่งปันกัน ซึ่งจะนำไปสู่การการกระทำอย่างสมานฉันท์ ตามข้อยืนยันจากไอแซ็คส์และกลุ่มผู้วิจัยของเขาที่เอ็มไอที จากความหมายใหม่ที่เกิดจากไดอะล็อคนี้ คนเราจะสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิผลโดยไม่จำเป็นจะต้องเห็นด้วยกันกับเหตุผลในการกระทำของแต่ละคน

“ในการสนทนาแบบไดอะล็อก เป้าหมายของการสนทนาคือการสร้างบรรยากาศพิเศษที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์ชนิดที่ต่างไปจากเดิม เป็นความสัมพันธ์ที่มีทั้งพลังและเปี่ยมไปด้วยเชาว์ปัญญา”

หลังจากที่เคยได้มีประสบการณ์ในวง Dialogue มาเล็กน้อย อย่างที่บอกว่าประทับใจ ตอนนี้พอได้อ่านหนังสือบทนี้ก็พอจะเข้าใจแล้วว่าเราประทับใจอะไร ที่เราประทับใจนั้นไม่ใช่เนื้อหาของไดอะล็อกโดยหลักหรอก (เพราะพูดคุยกันหลายเรื่องมากจนไม่นานนับได้) แต่เป็นบรรยากาศของวงตะหาก มันเป็นวงที่เปิดกว้าง ทุกคนได้รับการยอมรับอย่างเท่าเทียมกัน เสียงของทุกคนจะได้รับการรับฟังอย่างใส่ใจ ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม

ในวงนั้น(ที่เราได้เคยไปร่วมมา) มีตั้งแต่คนระดับปรมาจารย์รุ่นเดอะ เช่น พี่ใหญ่ อ.ฌานเดช ฯลฯ ไปจนถึงเด็กเพิ่งจบมหาวิทยาลัยอย่าง น้องแตน หรือคนรุ่นกลางๆที่กำลังจะก้าวมาเป็นรุ่นเก๋าเช่น พี่ณัฐฬส พี่น้อง ส่วนเรากะผึ้งก็อยู่ในช่วงรอยต่อระหว่างรุ่นใหม่กับคนรุ่นกลาง แต่ทุกคนคุยกันอย่างเสมอภาค เคารพในพื้นที่ซึ่งกันและกัน และประเด็นที่คุยก็ไหลลื่นไปตามธรรมชาติ (มีพี่ใหญ่เป็นคนโยนตัวกวน ตั้งคำถาม หรือจับประเด็นสรุปให้เป็นระยะๆตามสมควร) เป็นวงสนทนาที่มีพลังมาก ทุกคนจะรู้สึกไว้วางใจ เชื่อใจและรู้สึกปลอดภัยมากพอที่จะเปิดกว้างหรือพูดถึงประเด็นลึกๆบางอย่างภายในตัวตนที่ปกติแล้วเราจะไม่พูดคุยกันในชีวิตประจำวัน เราได้เห็นว่าในหลายๆครั้งปมบางอย่างที่อาจแฝงฝังมาตั้งแต่อดีตของบางคนได้รับการเยียวยาและคลี่คลายในวงสนทนาเช่นนี้เอง มันเป็นวงพูดคุยที่มีชีวิตชีวามากเลย ไม่ใช่เจาะแค่เรื่องงานเท่านั้น แต่มันรวมไปถึงเรื่องของชีวิต ความรู้สึกและความรักด้วย ทั้งหมดผสมผสานกลายเป็นเนื้อเดียวกันอย่างเป็นธรรมชาติ ไหลลื่นและมีพลวัตร

อาจมีบางช่วงที่ทุกคนอาจนั่งนิ่งเงียบกันทั้งหมดโดยไม่มีใครพูดอะไรเลย หากรู้สึกว่ายังไม่มีอะไรจะพูด บางคนอาจเรียกมันว่าช่วง Chaos (เพราะทุกอย่างดูเหมือนจะอยู่นอกเหนือการควบคุม) แต่บางคนก็พบว่ามันเป็นช่วงเวลาแห่งความสงบนิ่งเพื่อใคร่ครวญสัมผัสกับความรู้สึกของตนเอง อย่างไรก็ดีความเงียบก็เป็นส่วนที่สำคัญส่วนหนึ่งของไดอะล็อกด้วย มันเป็นธรรมชาติที่ปรากฏตัวขึ้นได้ทุกขณะ และจะไม่มีใครในวงพยายามเข้าไปทำลายหรือขัดขวางความเงียบนี้โดยไม่จำเป็น หากแต่ปล่อยให้มันเป็นไปอย่างที่มันจะเป็น ทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกปรากฏการณ์สามารถเกิดขึ้นได้ในวงนี้อย่างเสมอภาค อย่างได้รับการยอมรับ โดยไม่มีการตัดสิน เราจะสัมผัสได้ถึงสายสัมพันธ์บางอย่างระหว่างกันและกันที่เกิดขึ้น รวมทั้งพลังงาน (หรืออาจจะเรียกว่ากระแส หรือ vibration) บางอย่างที่พิเศษ มันจะเกิดขึ้นเองอย่างเป็นธรรมชาติภายในวงพูดคุยเช่นนี้

เรามีความรู้สึกว่าได้รับการยอมรับจากทุกคน และเราก็ยอมรับทุกคนได้อย่างไม่ตัดสิน เป็นมิตรภาพที่บังเกิดขึ้นเองโดยที่ไม่ต้องมีการพิสูจน์กันว่าเราคือใครมีคุณงามความดีอะไร เก่งกาจมาจากไหน หรือมีความผิดชั่วร้ายอะไรที่จะต้องปกปิดหรือป้องกัน มันเป็นเพียงแค่การยอมรับกันและกันอย่างเรียบง่ายตรงไปตรงมาในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ที่เป็นเพื่อนร่วมโลกของเรา ที่มีทั้งความสุข ทุกข์ มีความเหมือนและต่าง ทั้งขัดแย้งและกลมกลืนเหมือนๆกันกับเรา ในวงนี้ไม่มีการตัดสินดีเลวถูกผิด มีแต่การรับฟังกันอย่างลึกเพื่อทำความเข้าใจ วางตัวเองในจุดยืนและมุมมองของอีกฝ่ายเพื่อเข้าใจเขาในแบบที่เขาเป็น ไม่จำเป็นที่เราจะต้องเห็นด้วยกับเขาทั้งหมด แต่เราก็จะรับฟังอย่างเปิดใจและตั้งใจ ไม่ตัดสิน และยอมรับเขาได้ในมุมมองของเขา

คิดถึงแล้วก็ยังรู้สึกดี อยากจัดวงไดอะล็อกอีกสักทีแฮะ