Tuesday, March 15, 2011

งานอาสาสมัครกับการแก้ปัญหาเชิงสันติวิธี


สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมา ก่อให้เกิดกระบวนการเคลื่อนไหวทางสันติวิธีของกลุ่มต่างๆ จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาสังคม สถาบันวิชาการ ภาครัฐและเอกชน เพื่อเรียกร้องให้ทุกฝ่ายโดยเฉพาะฝ่ายที่เป็นคู่กรณีหรือคู่ขัดแย้งใช้สันติวิธีแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของบ้านเมือง ทั้งนี้การที่จะขับเคลื่อนงานด้านสันติวิธีได้อย่างมีพลังส่งผลต่อสังคมในวงกว้างนั้นจำเป็นต้องใช้อาสาสมัครที่ใส่ใจปัญหาบ้านเมืองและมีความสนใจหรือมีศรัทธาในพลังของสันติวิธีมาร่วมขบวนการ แต่การระดมหาอาสาสมัครที่สนใจการทำงานด้านสันติวิธีนั้นไม่ง่ายนัก เพราะการเคลื่อนไหวงานด้านสันติวิธีในเมืองไทย มีทั้งจุดอ่อน-จุดแข็ง และมีเหตุปัจจัยและตัวแปรแวดล้อมที่เป็นทั้งอุปสรรคและโอกาสต่างๆหลายประการ บทความนี้มุ่งนำเสนอภาพรวมของงานอาสาสมัครด้านสันติวิธีในเครือข่ายสันติวิธี (Nonviolence Network)ในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศไทยในปี ๒๕๕๓ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โดยจะวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง ปัจจัยที่เป็นโอกาสและอุปสรรคในการทำงาน รวมทั้งข้อเสนอแนะที่จำเป็นต่อการพัฒนางานอาสาสมัครกับการแก้ปัญหาเชิงสันติวิธีใน

การเคลื่อนไหวของกลุ่มอาสาสมัครสันติวิธีมีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์และบทบาทอย่างสำคัญในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองในปี ๒๕๕๓ จากเดิมที่ต่างกลุ่มต่างแยกส่วนกันทำงานไม่มีการเชื่อมประสานกันอย่างเป็นรูปธรรมมากนักในช่วงก่อนหน้านั้น (ปี ๒๕๔๗-๒๕๕๑) ในปี ๒๕๕๓ นี้กลุ่มองค์กรภาคเอกชนและสถาบันทางวิชาการได้รวมตัวกันก่อตั้ง เครือข่ายสันติวิธีขึ้น ในวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๓ โดยกลุ่มที่รวมตัวกันเหล่านี้ประกอบด้วย ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล เครือข่ายพุทธิกา กลุ่มเยาวชนศึกษาสันติวิธี กลุ่มประชาชนผู้ไม่เอาสงครามกลางเมือง เครือข่ายหยุดทำร้ายประเทศไทย นอกจากกลุ่มต่างๆเหล่านี้แล้ว เครือข่ายฯยังมีการเชื่อมประสานการขับเคลื่อนงานกับกลุ่มภาคประชาสังคมอื่นๆ ที่เคลื่อนไหวเรียกร้องให้เกิดการแก้ปัญหาโดยสันติวิธีในช่วงเวลานั้นด้วย[1] การปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์เช่นนี้ช่วยสร้างความเป็นเอกภาพของการทำงานและเพิ่มศักยภาพในการเรียกร้องให้เกิดการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธีต่อทุกฝ่ายมากขึ้น

กลยุทธ์และรูปแบบกิจกรรม

เครือข่ายฯได้มีการปรับกลยุทธ์และรูปแบบกิจกรรมซึ่งมีหลากหลายและเข้าถึงกลุ่มต่างๆมากขึ้น กล่าวคือ มีกิจกรรมรณรงค์ต่อสาธารณชน การจัดแถลงข่าว การยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและแกนนำผู้ชุมนุม กิจกรรมสัมมนาทางวิชาการ กิจกรรมสันติอาสาสักขีพยาน กิจกรรมเพื่อนรับฟัง กิจกรรมต่างๆเหล่านี้มีวัตถุประสงค์ จุดแข็งและข้ออ่อนแตกต่างกันไปดังต่อไปนี้

กิจกรรมรณรงค์ต่อสาธารณชน และกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เช่น บิณฑบาตความรุนแรง จุดเทียนภาวนา รถไฟฟ้ามหาสติ (สันติไม่รุนแรง) ชูป้ายผ้ารณรงค์เรื่องสันติวิธี กำแพงสันติภาพ (ศิลปะเพื่อสันติภาพ) เดินเพื่อสันติปฏิบัติการหยุดฆ่า ฯลฯ เป็นมุ่งเน้นการสร้างความเข้าใจและกระตุ้นความสนใจของสาธารณชนวงกว้างเพื่อให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนของมวลชนในการกดดันไม่ให้คู่กรณีใช้ความรุนแรงต่อกัน มีจุดเด่นคือ ผู้คนทั่วไปสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้โดยไม่ต้องมีพื้นฐานความรู้ด้านสันติวิธีมาก่อน ทั้งยังเป็นการเปิดพื้นที่ให้ผู้คนทั่วไปได้มีโอกาสแสดงจุดยืนและความต้องการสันติภาพของตนให้สังคมได้รับรู้ สามารถระดมอาสาสมัครและผู้เข้าร่วมได้จำนวนค่อนข้างมาก เป็นกิจกรรมไม่มีความเสี่ยงมากนัก เพราะจัดในพื้นที่ที่ค่อนข้างปลอดภัย กิจกรรมประเภทนี้สามารถช่วงชิงพื้นที่สื่อได้ดี สื่อกระแสหลักให้ความสนใจค่อนข้างมากทำให้ประเด็นเรื่องสันติวิธีเผยแพร่ออกไปในวงกว้าง ข้ออ่อนคือสามารถสื่อสารหรือแตะเรื่องความรู้เกี่ยวกับสันติวิธีได้ในระดับผิวเผิน ไม่สามารถสร้างความเข้าใจในระดับลึกต่อสังคมเกี่ยวกับสันติวิธีได้ มีบางเสียงสะท้อนกล่าวว่ากิจกรรมทำนองนี้เป็นเพียงสีสันสร้างบรรยากาศให้ผู้คนสนใจตื่นตัว แต่ไม่สามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้อย่างจริงจัง

กิจกรรมการจัดแถลงข่าว และยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและแกนนำผู้ชุมนุม มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงจุดยืนและแนวทางของสันติวิธีต่อคู่ขัดแย้งและต่อสังคม เพื่อโน้มน้าวให้คู่ขัดแต่ละฝ่ายแย้งเลือกใช้สันติวิธีในการจัดการกับความขัดแย้ง นำเสนอวิธีการแก้ปัญหาและสถานการณ์เฉพาะหน้าด้วยสันติวิธีต่อทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นแนวทางการชุมนุมโดยสันติ หรือแนวทางการจัดการกับผู้ชุมนุมโดยสันติ การเสนอให้หยุดยิง[2] ข้อเด่นของกิจกรรมเหล่านี้คือ สามารถนำเสนอแนวทางออกด้วยสันติวิธีต่อคู่ขัดแย้งและสังคมอย่างเป็นรูปธรรม โดยเสนอทั้งทางแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และการแก้ไขปัญหาระยะยาว ทีมงานมีการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์อยู่ตลอดเวลา ข้ออ่อนคือกิจกรรมประเภทนี้มักไม่ค่อยได้รับความสนใจจากสื่อมากนัก และ การคิดและร่างข้อเสนอได้จำเป็นต้องอาศัยผู้ที่มีประสบการณ์และมีองค์ความรู้เกี่ยวกับสันติวิธีและสามารถวิเคราะห์สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในเชิงลึกและเชิงกว้าง ซึ่งอาสาสมัครที่จะทำหน้าที่นี้ได้มีไม่มากนัก การจัดแถลงข่าวหรือจดหมายเปิดผนึกที่ยื่นเสนอไปนั้นไม่มีหลักรับประกันใดๆ ว่าจะได้รับความร่วมมือหรือการตอบรับในทางที่ดีจากคู่ขัดแย้งแต่ละฝ่าย

กิจกรรมประชุมเสวนาทางวิชาการ เช่น เสวนาแผนที่ทางออกจากวิกฤตความขัดแย้งการเมืองไทย จัดขึ้นเพื่อระดมความเห็นจากนักวิชาการ นักกิจกรรมทางสังคมและผู้ที่สนใจการคิดวิเคราะห์หาทางออกจากวิกฤตความขัดแย้ง ข้อดีของกิจกรรมประเภทนี้คือ การเปิดพื้นที่เพื่อระดมความเห็นที่หลากหลายบนฐานทางวิชาการและแนวทางแก้ไขที่อาจจะเป็นไปได้ต่อสถานการณ์ความขัดแย้ง ข้อมูลที่ได้รับสามารถนำไปพัฒนาเป็นแผนปฏิบัติการ ข้อเสนอเชิงนโยบายหรือแนวทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในระยะยาวได้ต่อไป ข้ออ่อนคือ มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมไม่มากนัก สื่อกระแสหลักไม่ค่อยให้ความสนใจทำข่าวเกี่ยวกับกิจกรรมประเภทนี้มากนัก ทำให้ประเด็นหรือข้อมูลที่ได้จากเวทีเสวนาไม่ได้รับการเผยแพร่หรือสื่อสารออกไปยังสังคมวงกว้าง

กิจกรรมสันติอาสาสักขีพยาน นับเป็นหนึ่งในกิจกรรมสันติวิธีที่ท้าทายที่สุดและเพิ่งจะริเริ่มให้มีขึ้นในสถานการณ์ความขัดแย้งในสังคมไทยเมื่อไม่นานมานี้[3] กิจกรรมสันติอาสาสักขีพยาน คือ การจัดให้มีอาสาสมัครจำนวนหนึ่ง (ประมาณ ๘-๑๐ คน) เข้าไปสังเกตการณ์ในพื้นที่การชุมนุม และการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมโดยอาสาสมัครจะกระจายตัวอยู่เป็นคู่ๆตามจุดต่างๆของพื้นที่ชุมนุม และในระหว่างการสังเกตการณ์นั้น อาสาสมัครแต่ละทีมจะติดต่อสื่อสารกับทีมอาสาสมัครคนอื่นๆในพื้นที่เป็นระยะๆ และจะการรายงานสถานการณ์กลับมายังสำนักงานกลางของเครือข่ายอย่างสม่ำเสมอ ในกรณีที่สันติอาสาสักขีพยานพบเห็นพฤติกรรมของผู้ชุมนุมหรือเจ้าหน้าที่รัฐที่เสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรง อาสาสมัครจะทำหน้าที่สื่อสารแจ้งข่าวไปยังหน่วยรักษาความปลอดภัยหรือแกนนำของผู้ชุมนุมเพื่อให้จัดการระงับเหตุหรือเข้ามาตรวจสอบ


นอกจากนี้อาสาสมัครเหล่านี้ยังทำหน้าที่เป็นสักขีพยาน ในสถานการณ์ความขัดแย้งที่รุนแรงหรือเมื่อเกิดเหตุปะทะกัน และรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อสาธารณะในฐานะของฝ่ายที่สามหรือฝ่ายที่เป็นกลาง งานสันติอาสาสักขีพยานนี้ พัฒนามาจากหลักการพื้นฐานในทางทฤษฏีจิตวิทยาสันติภาพที่ว่า การปรากฏตัวหรือการแสดงตนเป็นสักขีพยานของฝ่ายที่สามหรือฝ่ายที่เป็นกลางในสถานการณ์ความขัดแย้งจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดความรุนแรง หรือการปะทะกันของคู่ขัดแย้งได้ เพราะคู่กรณีแต่ละฝ่ายจะมีความระมัดระวังมากขึ้นในการเคลื่อนไหวและการใช้ความรุนแรงอันอาจจะทำให้ตนสูญเสียความชอบธรรมในการต่อสู้ด้วยสันติวิธีได้ (ดังที่แต่ละฝ่ายประกาศตนว่าต่างก็ใช้แนวทางสันติวิธีในการต่อสู้) ข้อดีของการมีสันติอาสาสักขีพยานคือ นอกจากจะทำหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์และช่วยสื่อสารแจ้งข่าวเพื่อระงับเหตุหรือความเสี่ยงที่อาจจะนำไปสู่การปะทะกันภายในที่ชุมนุมแล้ว ยังช่วยในเรื่องของการให้ข้อมูลการเกิดเหตุในสถานการณ์ความขัดแย้งโดยไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต่อสาธารณชนได้อีกทางหนึ่งด้วย

นอกจากนี้งานของสันติอาสาสักขีพยานยังช่วยให้การขับเคลื่อนงานด้านสันติวิธีในส่วนอื่นๆ มีความหนักแน่นขึ้นเพราะมีข้อมูลจากการเฝ้าสังเกตการณ์ภายในพื้นที่ความขัดแย้งจริง และยังทำให้งานอาสาสมัครด้านสันติวิธีมีความชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้นในการเข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อคลี่คลายปัญหาความรุนแรง อย่างไรก็ตามกิจกรรมนี้มีความเสี่ยงสูง เพราะอาสาสมัครอาจจะเผชิญกับเหตุความรุนแรงในที่ชุมนุมโดยไม่คาดฝันได้ทุกเมื่อ อาสาสมัครต้องมีทักษะในการรับมือกับสถานการณ์ความรุนแรงมากพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นอ่านสัญญาณเตือนภัย การมีความรู้เกี่ยวกับอานุภาพของอาวุธสงครามชนิดต่างๆ เพื่อการป้องกันตัว อาสาสมัครต้องมีความกล้าในการเผชิญหน้ากับความเสี่ยง และมีทักษะในการทำงานเป็นทีม การรับฟัง การวิเคราะห์คัดกรองข้อมูลและการสื่อสารเพื่อลดเหตุปัจจัยที่อาจจะนำไปสู่การขยายตัวของความรุนแรง เพราะการทำหน้าที่สักขีพยานโดยขาดทักษะอาจจะนำไปสู่การขยายตัวของความรุนแรงได้โดยไม่เจตนา กล่าวคือแทนที่อาสาสมัครจะเป็นผู้ช่วยลดความรุนแรง อาจจะกลายเป็นตัวป่วน (Peace spoiler) ก่อให้เกิดความรุนแรงได้ และด้วยเหตุที่มีความเสี่ยงสูงนี่เองจึงทำให้การพิจารณารับอาสาสมัครเพื่อมาทำหน้าที่นี้ต้องมีความรอบคอบระมัดระวัง และจำกัดไว้เฉพาะผู้ที่มีประสบการณ์ในงานด้านสันติวิธี หรือมีทักษะมากพอเท่านั้น ทำให้มีจำนวนอาสาสมัครมีจำนวนจำกัดไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ และเมื่อสถานการณ์ความขัดแย้งดำเนินไปจนถึงจุดที่มีความรุนแรงเกิดขึ้นโดยไม่สามารถคาดการณ์ และไม่สามารถหาทางป้องกันหรือหาผู้ก่อเหตุได้ (เช่น กรณีเหตุระเบิด M79 ที่สถานีรถไฟฟ้าศาลาแดง หรือกรณีการลอบยิงโดยมือปืนจากระยะไกล) เครือข่ายฯ จึงตัดสินใจระงับการลงพื้นที่ของสันติอาสาสักขีพยานอย่างเป็นทางการเนื่องจากต้องการรักษาชีวิตและความปลอดภัยของอาสาสมัคร

กิจกรรมเพื่อนรับฟัง[4] กิจกรรมนี้เกิดขึ้นหลังจากที่มีเหตุปะทะกันที่บริเวณสี่แยกคอกวัวเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๓ โดยอาสาสมัครจะเดินทางไปเยี่ยมผู้ได้รับบาดเจ็บทุกฝ่ายที่โรงพยาบาล เพื่อไปรับฟังเรื่องราว ความทุกข์ ความรู้สึกและความต้องการของผู้บาดเจ็บแต่ละฝ่าย โดยอาสาสมัครจะใช้ทักษะของการสื่อสารด้วยรักและกรุณา คือ การฟังและการสะท้อนให้ความเข้าใจด้วยการละวางคำตัดสินที่มีและที่ได้ยิน เพื่อมุ่งค้นหาและทำความเข้าใจความต้องการและคุณค่าร่วมของมนุษย์ เป้าหมายของการรับฟังเช่นนี้เป็นไปเพื่อการเยียวยาจิตใจของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ความรุนแรงในเบื้องต้น เพื่อให้อาสาสมัครได้เรียนรู้ที่จะเข้าใจและเห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ในตัวคู่ขัดแย้งทุกฝ่าย และในกรณีที่ผู้ได้รับบาดเจ็บยินยอมให้นำเรื่องราวไปเผยแพร่ต่อได้บนเว็บไซต์ของเครือข่ายฯ ทีมอาสาสมัครจะเขียนสรุปประเด็นการพูดคุยโดยจะเน้นที่เนื้อหาที่สะท้อนถึงคุณค่าและความต้องการร่วมของมนุษย์ เพื่อให้คนในสังคมที่อาจจะมีอคติหรือการตัดสินต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้รับรู้และละวางอคติหรือเสียงตัดสินต่างๆลง และมองเห็นความเป็นมนุษย์ในตัวของอีกฝ่ายมากขึ้น

กิจกรรมนี้เกิดขึ้นจากความเชื่อพื้นฐานที่ว่าหากสังคมไทยมีการเปิดพื้นที่รับฟังซึ่งกันและกันโดยปราศจากอคติหรือการตัดสินไว้ก่อน จะทำให้เราเห็นหัวใจของความเป็นมนุษย์ในกันและกัน (แม้จะเป็นฝ่ายที่ขัดแย้งกันก็ตาม) และจะนำไปสู่การสร้างพื้นที่ของการสื่อสารเพื่อหาทางออกจากวิกฤตความขัดแย้งได้ในที่สุด

และแม้การชุมนุมจะสิ้นสุดลงแล้วกิจกรรมนี้ยังคงดำเนินต่อไปในรูปแบบของโครงการเพื่อนรับฟัง โดยจะมีอาสาสมัครเพื่อนรับฟังที่เดินทางเข้าไปในชุมชนต่างๆที่อยู่ใกล้กับพื้นที่การชุมนุมและจุดเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง เพื่อรับฟังผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ข้อเด่นของกิจกรรมเพื่อนรับฟังคือ เป็นการเปิดพื้นที่การสื่อสารด้วยความกรุณาเพื่อสร้างความเข้าใจ และปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้คนที่มีต่อคู่ขัดแย้ง เป็นการเยียวยาในเบื้องต้นผ่านเครื่องมือง่ายๆคือการรับฟัง อาสาสมัครได้พัฒนาทักษะของการสื่อสารและการรับฟังและได้ทำความเข้าใจสถานการณ์จากมุมมองที่หลากหลายของผู้ที่ได้รับผลกระทบ ข้ออ่อนคือ ลำพังการรับฟังเพียงอย่างเดียวยังไม่สามารถแตะลงไปถึงปัญหาความรุนแรงเชิงโครงสร้างและเชิงวัฒนธรรมได้มากนัก และกิจกรรมนี้เป็นปฏิบัติการรับฟังในระดับปัจเจก คือ การฟังแบบตัวต่อตัว ทำให้ขยายผลหรือส่งผลต่อความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคมวงกว้างได้ยาก อาจจะต้องใช้เครื่องมือชนิดอื่นๆมาพัฒนาต่อยอดจากการรับฟัง เพื่อให้เกิดผลในการแปลงเปลี่ยนความสัมพันธ์ของคนในสังคมในวงกว้างต่อไป

ตัวอย่างกิจกรรมที่ยกมาทั้งหมดเป็นกิจกรรมหลักๆที่มีการทำงานอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ปฏิบัติการจริง นอกเหนือจากนี้ยังมีกิจกรรมการฝึกอบรม การประกาศเขตอภัยทาน (Safe zone) การเป็นคนกลางแบบเงียบ (quiet mediator) กิจกรรมพัฒนาเครือข่ายทางสังคม (Facebook, Twitter) การพัฒนาเว็บไซต์สันติวิธี การติดต่อประสานงานกับสื่อกระแสหลักต่างๆ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ในการเผยแพร่องค์ความรู้ เป็นช่องทางสำคัญในการประชาสัมพันธ์และระดมอาสาสมัคร ซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนงานสันติวิธีด้วยเช่นกันแต่จะไม่ขอกล่าวถึงในรายละเอียดในบทความนี้

แนวทางการพัฒนางานอาสาสมัครในการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี

แนวทางการพัฒนางานอาสาสมัครในการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธีนั้น อาจจะมีได้ดังนี้

๑. พัฒนาองค์ความรู้และทักษะด้านสันติวิธีให้แก่อาสาสมัครในเรื่องที่จำเป็นต่อการทำความเข้าใจสถานการณ์ความขัดแย้งและการลงพื้นที่ปฏิบัติการ ไม่ว่าจะเป็นความเข้าใจเรื่องโครงสร้างสังคม การวิเคราะห์ความขัดแย้ง ความรุนแรง การวิเคราะห์สถานการณ์ การหลบภัยในพื้นที่ที่มีการปะทะกัน การอ่านสัญญาณเตือนภัย ฯลฯ

๒. มีการขยายผลเพิ่มจำนวนของอาสาสมัครผ่านการรับสมัครหรือการอบรม มีการติดตามผลการปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง มีกลุ่มในการดูแลเยียวยาและมีระบบพี่เลี้ยงให้แก่อาสาสมัคร มีระบบฐานข้อมูลของอาสาสมัครที่เป็นปัจจุบันและพร้อมใช้งาน

๓. มีการวางแผนยุทธศาสตร์ในระยะยาว เพื่อพัฒนางานอาสาสมัครในการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธีให้มีทิศทางที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งอาจจะขยายผลไปสู่การทำงานกับความขัดแย้งในระดับโครงสร้างหรือระดับวัฒนธรรมต่อไปได้

โดยสรุปแล้วงานอาสาสมัครในการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธีที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงปี ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นงานอาสาสมัครเพื่อการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือ เป็นไปเพื่อระงับเหตุความรุนแรง ลดความเสี่ยงในการใช้ความรุนแรงต่อกันของคู่กรณี รวมทั้งการใช้ความรุนแรงของคนทั่วไปในสังคมที่ไม่สามารถอดทนต่อภาวะตึงเครียดของความขัดแย้งได้ ยังไม่ใช่งานอาสาสมัครที่มุ่งจัดการกับปัญหาเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรมในระยะยาว เพราะปัญหาเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรมเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนและต้องอาศัยความร่วมมือและความช่วยเหลือจากหลายฝ่าย

นอกจากนี้อาสาสมัครที่เข้ามาทำงานด้านสันติวิธี โดยส่วนใหญ่เป็นอาสาสมัครเฉพาะกิจ คือจะรวมตัวกันทันทีที่มีความขัดแย้งที่เสี่ยงต่อความรุนแรงเกิดขึ้นในบ้านเมือง แต่เมื่อเหตุการณ์สงบก็จะแยกย้ายกันไปทำภารกิจของตน ทำให้ขาดการเชื่อมต่องานหรือการร่วมกันพัฒนางานในเชิงยุทธศาสตร์ระยะยาว แต่ในอีกแง่หนึ่งงานอาสาสมัครที่เกิดขึ้นแม้ว่าจะเป็นงานเฉพาะกิจ แต่ก็นับเป็นโอกาสสำคัญในการเรียนรู้การใช้เครื่องมือและทักษะต่างๆของสันติวิธีในสถานการณ์จริง ผ่านการลองผิดลองถูกเรียนรู้และพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้และทักษะเรื่อยมา เพื่อสามารถให้นำไปใช้ในการปฏิบัติการได้อย่างมีประสิทธิภาพและนำไปสู่การคลี่คลายความขัดแย้งทางสังคมได้ต่อไป

แม้งานอาสาสมัครกับการแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธีในสังคมไทยในปัจจุบัน อาจจะยังไม่เห็นผลของการคลี่คลายความขัดแย้งในสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนนักในตอนนี้ เพราะแท้จริงแล้วงานด้านสันติวิธีเป็น การทำงานกับความคิดของคนในสังคม จึงอาจจะต้องใช้เวลายาวนานร่วมทศวรรษกว่าเราจะเห็นการผลิดอกออกผลของการลงแรงทำงานหว่านเมล็ดพันธุ์ในเรื่องนี้ แต่ก็ขอให้เรามีความหวังอยู่เสมอว่าในที่สุดแล้วสังคมจะเรียนรู้ว่าการใช้ความรุนแรงไม่ใช่ทางแก้ปัญหา และการเลือกใช้สันติวิธีอย่างแท้จริงจะนำไปสู่สันติภาพที่ยั่งยืนกว่า





[1] จดหมายเปิดผนึกถึงภาคสื่อโทรทัศน์ที่เครือข่ายสันติวิธีร่วมเป็น ๑๖ องค์กรภาคประชาสังคม ยื่นในวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๓ และ เครือข่ายสันติวิธีกับองค์กรภาคประชาสังคมลงนามข้อเสนอต่อรัฐบาลและนปช.เพื่อถอดสลักความรุนแรง วันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๕๓ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://nonviolencenetwork.com/taxonomy/term/1

[2] ดูข้อมูลของแถลงการณ์ต่างๆเพิ่มเติมได้ที่ http://nonviolencenetwork.com/taxonomy/term/1

[3] กิจกรรมสันติอาสาสักขีพยาน เกิดขึ้นครั้งแรกอย่างเป็นทางการในประเทศไทยในรูปแบบของโครงการสันติอาสาสักขีพยานที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีกลุ่มนักศึกษาและเยาวชนพุทธมุสลิมเข้าร่วมโครงการดังกล่าว โครงการนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล

[4] กิจกรรมเพื่อนรับฟังเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๕๑ ในช่วงการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นกลุ่มอาสาสมัครที่ทำหน้าที่เข้าไปรับฟังความรู้สึก ความต้องการ ความทุกข์-สุข ของประชาชนผู้มาร่วมชุมนุมในพื้นที่การชุมนุมทั้งฝ่ายพธม.และนปช. เป็นการรับฟังเพื่อการเยียวยา รวมทั้งช่วยให้อาสาสมัครได้เข้าใจผู้มาร่วมชุมนุมของทั้งสองฝ่ายมากขึ้น โดยหวังว่าผลของการรับฟังนี้จะช่วยสร้างพื้นที่ของการมองเห็นความเป็นมนุษย์ระหว่างกันมากขึ้น