Friday, December 3, 2010

สันติสงสัย: All in the Cause of Duty เรื่องเล่าของนิโคลัส เบนเน็ต



วงสันติสงสัยวันนี้ ๓ ธันวาคม ๒๕๕๓ ถึงรอบที่ อ.โคทม มาบอกเล่าพูดคุยเกี่ยวกับหนังสือที่อาจารย์ได้อ่านมาหรือเล่มที่กำลังอ่านอยู่ในตอนนี้ อาจารย์เลือกจะคุยถึงหนังสือเรื่อง All in the Cause of Duty ของนิโคลัส เบนเน็ต ซึ่งเป็นหนังสือที่อาจารย์กำลังตั้งอกตั้งใจแปลอยู่ เนื่องในวาระที่คุณนิโคลัส ซึ่งเป็นทั้งครูและเป็นกัลยาณมิตรในการทำงานด้านสันติวิธีได้ถึงแก่กรรมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา



All in the Cause of Duty เล่มนี้ อ.โคทมได้แปลชื่อหนังสือเป็นภาษาไทยว่า"ทั้งหมดทำไปในหน้าที่" เป็นหนังสือที่นิโคลัสเขียนบอกเล่าประสบการณ์ในการทำงานอันยาวนานกว่า ๔๐ ปีของเขาในประเทศต่างๆ มีทั้งเรื่องเล่าที่สนุกน่าตื่นตาตื่นใจ น่าทึ่งและบางเรื่องก็น่าเศร้าใจรวบรวมเอาไว้ เราไม่เคยอ่านหนังสือเล่มนี้ แต่เมื่อได้ฟังจากเรื่องราวที่อาจารย์คัดสรรเอามาเล่าให้ฟังในบางเรื่องนั้นก็ทำให้รู้สึกทึ่งมากๆ ทึ่งที่ได้เห็นว่าในชีวิตของมนุษย์คนหนึ่งนั้นสามารถอุทิศตนทำงานเพื่อรับใช้เพื่อนมนุษย์ได้มากขนาดนี้ ทึ่งที่เขาค้นพบเส้นทางชีวิตของตนเองตั้งแต่อายุ ๑๗ ปี



นิโคลัสได้ตัดสินใจออกเดินทางท่องทวีปอาฟริกาเพียงลำพังในวัย ๑๗ ปี เพื่อค้นหาว่าเขาต้องการจะทำอะไรต่อไป หลังจากการท่องไปทั่วอาฟริกาในครั้งนั้น เขาได้ตัดสินใจเดินทางกลับมาเรียนต่อในสาขาเศรษฐศาสตร์และการพัฒนา (ใช่ไหมหว่า? จำไม่ค่อยได้แล้ว ต้องเช็คข้อมูลอีกที แต่เอาเป็นว่าเป็นสาขาที่เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์และการพัฒนาด้วย) และจากประสบการณ์ที่สั่งสมมา ทำให้เขากลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และการพัฒนา ตั้งแต่อายุ ๒๒ ปี โดยเขาได้เข้าทำงานกับสหประชาชาติและต่อมากับธนาคารโลก ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนา แต่เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญที่มักไปอยู่รวมกับชาวบ้านในหมู่บ้านมากกว่าจะอยู่ที่สำนักงาน



นิโคลัสได้เดินทางไปยังประเทศโลกที่สามต่างๆเกือบทั่วโลก รวมทั้งเมืองไทยด้วย เขาเป็นกัลยาณมิตรกับ อ.สุลักษณ์ และยังเป็นทั้งครูและกัลยาณมิตรของนักคิดนักเขียนและนักสันติวิธีหลายๆท่านในเมืองไทย -- โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักกิจกรรมเคลื่อนไหวด้านสันติวิธีในยุค ๑๔ ตุลา และ ๖ ตุลา



นิโคลัส เบนเน็ตเป็นนักการศึกษา นักเศรษฐศาสตร์และนักพัฒนา (และแน่นอนเป็นนักสันติวิธีด้วย) แต่ประเด็นที่เขามักให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆในการทำงานคือ การศึกษา (อาจจะเรียกว่าเป็นการศึกษาเพื่อชีวิต- การศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลงก็คงจะได้)




มีเรื่องเล่าที่จำได้และชอบคือ เรื่อง "คุณอยากจะกินขี้ไหม?"


เป็นเรื่องเล่าตอนที่นิโคลัสเดินทางไปรณรงค์และพัฒนาเรื่องสุขอนามัยและสาธารณสุขในหมู่บ้านในชนบทที่ห่างไกลแห่งหนึ่ง (จำไม่ได้ว่าประเทศไหน) เขาเล่าว่าขณะเดินทางข้ามภูเขารอนแรมไปยังหมู่บ้านนั้น สิ่งที่เป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่าใกล้จะถึงหมู่บ้านแล้วคือ กลิ่นอันอบอวลของอุจจาระที่โชยมา เพราะคนชนบทในยุคนั้นนิยมปลดทุกข์ด้วยการ "ไปทุ่ง" ไม่มีการสร้างส้วมใดๆให้เสียเวลา



สิ่งที่นิโคลัสทำเมื่อไปถึงหมู่บ้าน (หลังจากได้ใช้เวลาทำความรู้จักทักทายและคุ้นเคยกันกับชาวบ้านพอประมาณแล้ว) คือ เขาเรียกชาวบ้านให้มารวมตัวกัน จากนั้นเขาเอาข้าวคลุกน้ำตาลมาวางไว้ แล้วก็เอาผงสีแดงไปโรยไว้บนกองอุจจาระแถวๆนั้น แล้วก็ให้ชาวบ้านช่วยกันสังเกตสีของข้าวในจานที่ค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีชมพู หลังจากที่มีแมลงวันบินมาตอม


นิโคลัสถามว่า ทำไมข้าวจึงเปลี่ยนเป็นสีชมพูได้

ชาวบ้านตอบว่า เพราะแมลงวันที่บินมาตอมเอาผงสีบนกองอุจจาระติดมาด้วย

เขาถามต่อว่า แล้วสิ่งที่ติดแมลงวันมามันมีแต่ผงสีเท่านั้นหรือเปล่า

ชาวบ้านตอบว่า เปล่า มันต้องมีอุจจาระติดมาด้วยแน่ๆ

เขาถามว่า ถ้าเช่นนั้นพวกคุณอยากจะกินอุจจาระที่ติดมาอยู่บนข้าวจานนี้ด้วยไหม

ทุกคนพร้อมใจกับตอบว่า ไม่อยากกิน



และแล้ววงคุยในการหาทางแก้ปัญหาข้อนี้ คือการป้องกันไม่ให้คนในหมู่บ้านต้องกินอุจจาระก็เริ่มต้นขึ้นด้วยตัวชาวบ้านเอง หลังจากนั้นส้วมในหมู่บ้านนั้นก็ได้ถูกสร้างขึ้นมาในเวลาไม่กี่วันด้วยความสมัครใจและความร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านเอง


นี่เป็นการให้การศึกษาเรื่องสุขอนามัยและสาธารณสุขที่ไม่ต้องพูดอธิบายอะไรให้ยืดยาว แต่ให้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง และเป็นการศึกษาที่ทรงพลังเพราะมันสร้างแรงบันดาลใจและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้วยความสมัครใจของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหา


เรื่องเล่าอีกเรื่องคือ "กระเบื้องสีเขียว"


นิโคลัสได้ไปช่วยโครงการสร้างอาคารเรียนในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง แต่เวลาผ่านไปเดือนแล้วเดือนเล่าอาคารเรียนก็สร้างไม่เสร็จเสียที ติดอยู่ตรงที่มุงหลังคาไม่เสร็จ เปลี่ยนช่างกี่คนๆก็สร้างไม่เสร็จ

ชาวบ้านแถวนั้นบอกว่า นี่เป็นคำสาปของเจ้าแม่ลิ้มกอเนียว ที่ทำให้สร้างอาคารเรียนไม่เสร็จ


นิโคลัสได้ตรวจดูรายการสั่งซื้อของต่างๆ พบว่าได้มีการสั่งซื้อกระเบื้องมุงหลังคาหลายครั้ง แต่เวลาจะมุงหลังคาทีไรกลับหากระเบื้องไม่เจอ ไม่มีใครรู้ว่ากระเบื้องหายไปไหน


ในครั้งต่อมาเขาจึงบอกว่า คราวนี้ให้ซื้อกระเบื้องสีเขียวสดมามุงหลังคา พอได้กระเบื้องสีเขียวสดมาก็สามารถมุงหลังคาได้จนเสร็จและสร้างอาคารเรียนได้สำเร็จในที่สุด (ก็ไหนบอกว่ามีคำสาปไง?)


ที่ทำได้สำเร็จเพราะกระเบื้องสีเขียวนั้น ยังไม่เคยมีใครใช้ในหมู่บ้าน เป็นสีที่แปลกแยกและโดดเด่นมาก ถ้าใครแอบเอาไปใช้ทุกคนก็จะรู้ว่าใครเป็นคนขโมยกระเบื้อง ก็เลยไม่มีใครการหยิบเอาไปสักคน และเหตุการณ์นี้ ก็เป็นที่มาที่ทำให้ชาวบ้านแถวนั้นเรียกกระเบื้องสีเขียวเช่นนี้ว่า "เบนเน็ตบูล"




มีอีกเรื่องที่ชอบคือเรื่อง "เดินทางไปขึ้นเครื่องบิน"



ในประเทศเนปาล ที่เมืองกาฏมัณฑุ (สะกดยังไงเนี่ย?) นั้นมีสนามบินอยู่ในหุบเขาต่ำกว่าหมู่บ้านที่นิโคลัสพำนักอยู่ หากจะไปขึ้นเครื่องบินก็ต้องเดินทางลงเขาด้วยเท้าอย่างมีลีลา ใช้เวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง โดยที่ก็ไม่แน่ว่าเมื่อไปถึงสนามบินแล้วจะได้ขึ้นเครื่องเพราะในบางวันที่หมอกลงหนา หรืออากาศแปรปรวน ก็จะมีการยกเลิกเที่ยวบินโดยไม่มีทางทราบล่วงหน้า ถ้าวันไหนไปแล้วไม่ได้ขึ้นเครื่อง ก็จะต้องเดินทางกลับขึ้นเขาด้วยเท้าอย่างมุ่งมั่นอีก ๓ ชั่วโมง และอาจจะต้องเดินทางไปๆมาๆอยู่อย่างนี้สักสี่ห้าวันกว่าจะได้ขึ้นเครื่องบินจริงๆ



จากประสบการณ์อันยาวนานนับปีของการเดินทางขึ้นลงภูเขาเพื่อไปขึ้นเครื่องบินนี้ ทำให้นิโคลัสได้เรียนรู้สิ่งสำคัญข้อหนึ่ง ดังที่เขาเล่าไว้ว่า "ผมเรียนรู้ที่จะไม่คาดหวัง และชื่นชมกับการเดินทางและการดื่มชาร้อนหวานๆตามรายทาง..." :D ฟังแล้วประทับใจ เพราะเป็นบทเรียนสำคัญของการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข



ยังมีเรื่องเล่าอีกหลายเรื่อง เรื่องเศร้าๆก็มี แต่วันนี้เอาเรื่องสนุกๆก่อน ถ้าวันไหนขยันค่อยเขียนเล่าเรื่องเศร้าๆแย่ๆที่เขาพบเจอให้ฟัง

(แต่ส่วนใหญ่นิสัยเสียของข้าพเจ้าจากที่สังเกตมา มักจะเขียนแล้วเขียนเลย จบแล้วจบเลย ไม่เคยกลับมาเขียนต่อยอดจากที่ตั้งใจไว้สักทีสิน่า)


(Titan*ic Theme) My Heart Will Go On - Sungha Jung