Friday, December 3, 2010

สันติสงสัย: All in the Cause of Duty เรื่องเล่าของนิโคลัส เบนเน็ต



วงสันติสงสัยวันนี้ ๓ ธันวาคม ๒๕๕๓ ถึงรอบที่ อ.โคทม มาบอกเล่าพูดคุยเกี่ยวกับหนังสือที่อาจารย์ได้อ่านมาหรือเล่มที่กำลังอ่านอยู่ในตอนนี้ อาจารย์เลือกจะคุยถึงหนังสือเรื่อง All in the Cause of Duty ของนิโคลัส เบนเน็ต ซึ่งเป็นหนังสือที่อาจารย์กำลังตั้งอกตั้งใจแปลอยู่ เนื่องในวาระที่คุณนิโคลัส ซึ่งเป็นทั้งครูและเป็นกัลยาณมิตรในการทำงานด้านสันติวิธีได้ถึงแก่กรรมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา



All in the Cause of Duty เล่มนี้ อ.โคทมได้แปลชื่อหนังสือเป็นภาษาไทยว่า"ทั้งหมดทำไปในหน้าที่" เป็นหนังสือที่นิโคลัสเขียนบอกเล่าประสบการณ์ในการทำงานอันยาวนานกว่า ๔๐ ปีของเขาในประเทศต่างๆ มีทั้งเรื่องเล่าที่สนุกน่าตื่นตาตื่นใจ น่าทึ่งและบางเรื่องก็น่าเศร้าใจรวบรวมเอาไว้ เราไม่เคยอ่านหนังสือเล่มนี้ แต่เมื่อได้ฟังจากเรื่องราวที่อาจารย์คัดสรรเอามาเล่าให้ฟังในบางเรื่องนั้นก็ทำให้รู้สึกทึ่งมากๆ ทึ่งที่ได้เห็นว่าในชีวิตของมนุษย์คนหนึ่งนั้นสามารถอุทิศตนทำงานเพื่อรับใช้เพื่อนมนุษย์ได้มากขนาดนี้ ทึ่งที่เขาค้นพบเส้นทางชีวิตของตนเองตั้งแต่อายุ ๑๗ ปี



นิโคลัสได้ตัดสินใจออกเดินทางท่องทวีปอาฟริกาเพียงลำพังในวัย ๑๗ ปี เพื่อค้นหาว่าเขาต้องการจะทำอะไรต่อไป หลังจากการท่องไปทั่วอาฟริกาในครั้งนั้น เขาได้ตัดสินใจเดินทางกลับมาเรียนต่อในสาขาเศรษฐศาสตร์และการพัฒนา (ใช่ไหมหว่า? จำไม่ค่อยได้แล้ว ต้องเช็คข้อมูลอีกที แต่เอาเป็นว่าเป็นสาขาที่เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์และการพัฒนาด้วย) และจากประสบการณ์ที่สั่งสมมา ทำให้เขากลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และการพัฒนา ตั้งแต่อายุ ๒๒ ปี โดยเขาได้เข้าทำงานกับสหประชาชาติและต่อมากับธนาคารโลก ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนา แต่เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญที่มักไปอยู่รวมกับชาวบ้านในหมู่บ้านมากกว่าจะอยู่ที่สำนักงาน



นิโคลัสได้เดินทางไปยังประเทศโลกที่สามต่างๆเกือบทั่วโลก รวมทั้งเมืองไทยด้วย เขาเป็นกัลยาณมิตรกับ อ.สุลักษณ์ และยังเป็นทั้งครูและกัลยาณมิตรของนักคิดนักเขียนและนักสันติวิธีหลายๆท่านในเมืองไทย -- โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักกิจกรรมเคลื่อนไหวด้านสันติวิธีในยุค ๑๔ ตุลา และ ๖ ตุลา



นิโคลัส เบนเน็ตเป็นนักการศึกษา นักเศรษฐศาสตร์และนักพัฒนา (และแน่นอนเป็นนักสันติวิธีด้วย) แต่ประเด็นที่เขามักให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆในการทำงานคือ การศึกษา (อาจจะเรียกว่าเป็นการศึกษาเพื่อชีวิต- การศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลงก็คงจะได้)




มีเรื่องเล่าที่จำได้และชอบคือ เรื่อง "คุณอยากจะกินขี้ไหม?"


เป็นเรื่องเล่าตอนที่นิโคลัสเดินทางไปรณรงค์และพัฒนาเรื่องสุขอนามัยและสาธารณสุขในหมู่บ้านในชนบทที่ห่างไกลแห่งหนึ่ง (จำไม่ได้ว่าประเทศไหน) เขาเล่าว่าขณะเดินทางข้ามภูเขารอนแรมไปยังหมู่บ้านนั้น สิ่งที่เป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่าใกล้จะถึงหมู่บ้านแล้วคือ กลิ่นอันอบอวลของอุจจาระที่โชยมา เพราะคนชนบทในยุคนั้นนิยมปลดทุกข์ด้วยการ "ไปทุ่ง" ไม่มีการสร้างส้วมใดๆให้เสียเวลา



สิ่งที่นิโคลัสทำเมื่อไปถึงหมู่บ้าน (หลังจากได้ใช้เวลาทำความรู้จักทักทายและคุ้นเคยกันกับชาวบ้านพอประมาณแล้ว) คือ เขาเรียกชาวบ้านให้มารวมตัวกัน จากนั้นเขาเอาข้าวคลุกน้ำตาลมาวางไว้ แล้วก็เอาผงสีแดงไปโรยไว้บนกองอุจจาระแถวๆนั้น แล้วก็ให้ชาวบ้านช่วยกันสังเกตสีของข้าวในจานที่ค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีชมพู หลังจากที่มีแมลงวันบินมาตอม


นิโคลัสถามว่า ทำไมข้าวจึงเปลี่ยนเป็นสีชมพูได้

ชาวบ้านตอบว่า เพราะแมลงวันที่บินมาตอมเอาผงสีบนกองอุจจาระติดมาด้วย

เขาถามต่อว่า แล้วสิ่งที่ติดแมลงวันมามันมีแต่ผงสีเท่านั้นหรือเปล่า

ชาวบ้านตอบว่า เปล่า มันต้องมีอุจจาระติดมาด้วยแน่ๆ

เขาถามว่า ถ้าเช่นนั้นพวกคุณอยากจะกินอุจจาระที่ติดมาอยู่บนข้าวจานนี้ด้วยไหม

ทุกคนพร้อมใจกับตอบว่า ไม่อยากกิน



และแล้ววงคุยในการหาทางแก้ปัญหาข้อนี้ คือการป้องกันไม่ให้คนในหมู่บ้านต้องกินอุจจาระก็เริ่มต้นขึ้นด้วยตัวชาวบ้านเอง หลังจากนั้นส้วมในหมู่บ้านนั้นก็ได้ถูกสร้างขึ้นมาในเวลาไม่กี่วันด้วยความสมัครใจและความร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านเอง


นี่เป็นการให้การศึกษาเรื่องสุขอนามัยและสาธารณสุขที่ไม่ต้องพูดอธิบายอะไรให้ยืดยาว แต่ให้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง และเป็นการศึกษาที่ทรงพลังเพราะมันสร้างแรงบันดาลใจและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้วยความสมัครใจของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหา


เรื่องเล่าอีกเรื่องคือ "กระเบื้องสีเขียว"


นิโคลัสได้ไปช่วยโครงการสร้างอาคารเรียนในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง แต่เวลาผ่านไปเดือนแล้วเดือนเล่าอาคารเรียนก็สร้างไม่เสร็จเสียที ติดอยู่ตรงที่มุงหลังคาไม่เสร็จ เปลี่ยนช่างกี่คนๆก็สร้างไม่เสร็จ

ชาวบ้านแถวนั้นบอกว่า นี่เป็นคำสาปของเจ้าแม่ลิ้มกอเนียว ที่ทำให้สร้างอาคารเรียนไม่เสร็จ


นิโคลัสได้ตรวจดูรายการสั่งซื้อของต่างๆ พบว่าได้มีการสั่งซื้อกระเบื้องมุงหลังคาหลายครั้ง แต่เวลาจะมุงหลังคาทีไรกลับหากระเบื้องไม่เจอ ไม่มีใครรู้ว่ากระเบื้องหายไปไหน


ในครั้งต่อมาเขาจึงบอกว่า คราวนี้ให้ซื้อกระเบื้องสีเขียวสดมามุงหลังคา พอได้กระเบื้องสีเขียวสดมาก็สามารถมุงหลังคาได้จนเสร็จและสร้างอาคารเรียนได้สำเร็จในที่สุด (ก็ไหนบอกว่ามีคำสาปไง?)


ที่ทำได้สำเร็จเพราะกระเบื้องสีเขียวนั้น ยังไม่เคยมีใครใช้ในหมู่บ้าน เป็นสีที่แปลกแยกและโดดเด่นมาก ถ้าใครแอบเอาไปใช้ทุกคนก็จะรู้ว่าใครเป็นคนขโมยกระเบื้อง ก็เลยไม่มีใครการหยิบเอาไปสักคน และเหตุการณ์นี้ ก็เป็นที่มาที่ทำให้ชาวบ้านแถวนั้นเรียกกระเบื้องสีเขียวเช่นนี้ว่า "เบนเน็ตบูล"




มีอีกเรื่องที่ชอบคือเรื่อง "เดินทางไปขึ้นเครื่องบิน"



ในประเทศเนปาล ที่เมืองกาฏมัณฑุ (สะกดยังไงเนี่ย?) นั้นมีสนามบินอยู่ในหุบเขาต่ำกว่าหมู่บ้านที่นิโคลัสพำนักอยู่ หากจะไปขึ้นเครื่องบินก็ต้องเดินทางลงเขาด้วยเท้าอย่างมีลีลา ใช้เวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง โดยที่ก็ไม่แน่ว่าเมื่อไปถึงสนามบินแล้วจะได้ขึ้นเครื่องเพราะในบางวันที่หมอกลงหนา หรืออากาศแปรปรวน ก็จะมีการยกเลิกเที่ยวบินโดยไม่มีทางทราบล่วงหน้า ถ้าวันไหนไปแล้วไม่ได้ขึ้นเครื่อง ก็จะต้องเดินทางกลับขึ้นเขาด้วยเท้าอย่างมุ่งมั่นอีก ๓ ชั่วโมง และอาจจะต้องเดินทางไปๆมาๆอยู่อย่างนี้สักสี่ห้าวันกว่าจะได้ขึ้นเครื่องบินจริงๆ



จากประสบการณ์อันยาวนานนับปีของการเดินทางขึ้นลงภูเขาเพื่อไปขึ้นเครื่องบินนี้ ทำให้นิโคลัสได้เรียนรู้สิ่งสำคัญข้อหนึ่ง ดังที่เขาเล่าไว้ว่า "ผมเรียนรู้ที่จะไม่คาดหวัง และชื่นชมกับการเดินทางและการดื่มชาร้อนหวานๆตามรายทาง..." :D ฟังแล้วประทับใจ เพราะเป็นบทเรียนสำคัญของการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข



ยังมีเรื่องเล่าอีกหลายเรื่อง เรื่องเศร้าๆก็มี แต่วันนี้เอาเรื่องสนุกๆก่อน ถ้าวันไหนขยันค่อยเขียนเล่าเรื่องเศร้าๆแย่ๆที่เขาพบเจอให้ฟัง

(แต่ส่วนใหญ่นิสัยเสียของข้าพเจ้าจากที่สังเกตมา มักจะเขียนแล้วเขียนเลย จบแล้วจบเลย ไม่เคยกลับมาเขียนต่อยอดจากที่ตั้งใจไว้สักทีสิน่า)


(Titan*ic Theme) My Heart Will Go On - Sungha Jung

Thursday, August 5, 2010

วาทะกรรม อำนาจ ความรู้ (ตอน ๑)

--แปลและเรียบเรียงโดย A. Kongsup--
บันทึกเก็บตกจากหนังสือ Discourse Analysis as Theory and Method เขียนโดย Jorgensen M. & Phillips L. (2002) เป็นหนังสือว่าด้วยเรื่องวาทะกรรม ปูพื้นฐานความเข้าใจเกี่ยวกับหลักทฤษฎีแนวคิด ที่มาที่ไปของวาทะกรรม และการวิเคราะห์วาทะกรรมของสำนักคิดต่างๆ

วาทะกรรม อาจนิยามได้ว่า เป็นวิธีการเฉพาะในการพูดเกี่ยวกับโลกและการเข้าใจโลก (หรือคุณลักษณะของโลก) (Jorgensen & Phillips, 2002)


วาทะกรรมก่อกำเนิดอยู่ภายใต้ทฤษฎีแนวคิด โครงสร้างนิยม (Social constructionism) วาทะกรรมเป็นรูปแบบของปฏิบัติการทางสังคมที่มีบทบาทในการผลิตโลกทางสังคม รวมทั้งองค์ความรู้ อัตลักษณ์ และความสัมพันธ์ทางสังคม และมันยังรักษาไว้ซึ่งรูปแบบเฉพาะทางสังคมอีกด้วย (specific social pattern)


วาทะกรรมสร้างโลกทางสังคม (social world) ในการให้ความหมาย และความหมายนั้นไม่สามารถคงที่ได้ตลอดไป (ความหมายเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ) ไม่มีวาทะกรรมใดคงทนหรือเป็นสัจจะสูงสุด ทว่าวาทะกรรมนั้นแปลงเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาเมื่อได้ปะทะกับวาทะกรรมอื่นๆ


วาทะกรรมทำงานผ่านภาษาที่เราใช้ และด้วยภาษานั้นเองเราได้สร้างตัวแทนของความจริงขึ้นซึ่งไม่ใช่ความจริงที่เป็นภาพสะท้อนของความจริงที่ดำรงอยู่แล้วก่อนหน้านั้น หากแต่เป็นความจริงที่ถูกสร้างขึ้นมาผ่านความหมายหรือนิยามที่เรามอบให้กับปรากฎการณ์ ทั้งนี้ไม่ได้แปลว่า ความจริงโดยตัวมันเองไม่ได้ดำรงอยู่ สรรพสิ่งทางกายภาพดำรงอยู่ แต่สรรพสิ่งล้วนได้รับความหมายผ่านวาทะกรรม


ตัวอย่างเช่น ปรากฎการณ์น้ำท่วม คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แต่ผู้คนจะคิดและให้ความหมายกับภาวะน้ำท่วมแตกต่างกัน แน่นอนว่าทุกคนจมน้ำได้หากอยู่ผิดที่ผิดทาง แต่นั่นไม่จำเป็นต้องเกี่ยวโยงกับวิธีที่พวกเขาคิดหรือพูดเกี่ยวกับน้ำท่วม ทันทีผู้คนพยายามจะให้ความหมายกับมัน ปรากฎการณ์น้ำท่วมก็ตกอยู่ภายใต้วาทะกรรม




หลายคนอาจจะให้นิยามว่า น้ำท่วม คือ "ปรากฎการณ์ธรรมชาติ" แต่บางคนอาจจะบอกว่ามันคือปรากฎการณ์ El Nino หรือเป็นผลกระทบจากภาวะเรือนกระจก หรือภาวะโลกร้อน บางคนอาจจะบอกว่าน้ำท่วมเป็นการจัดการทางการเมืองที่ผิดพลาด เช่นว่า รัฐบาลล้มเหลวในการจัดการและการลงทุนสร้างระบบชลประทานที่ดี และท้ายที่สุด บางคนอาจจะมองว่า นี่คือการเผยสำแดงเจตจำนงของพระเจ้า ที่โกรธเคืองต่อมนุษย์ผู้ใจบาปหยาบช้า และเป็นสัญญาณบอกเหตุวันสิ้นโลก เป็นต้น

ปรากฎการณ์น้ำท่วม เหตุการณ์เดียวกันนี้ ได้รับการให้ความหมายจากมุมมองที่แตกต่างหรือจากวาทะกรรมที่แตกต่างกัน ที่สำคัญคือ เมื่อนิยามความหมายด้วยวาทะกรรมที่แตกต่างกัน ก็จะนำไปสู่การปฏิบัติหรือตอบสนองต่อเหตุการณ์นั้นต่างกันด้วย เช่น อาจจะนำไปสู่การสร้างระบบชลประทาน นโยบายสิ่งแวดล้อมลดโลกร้อน หรือ การเตรียมตัวรับมือกับวันสิ้นโลก

ด้วยเหตุนี้เอง การให้ความหมายภายใต้วาทะกรรมจึงทำหน้าที่ในการสร้างและเปลี่ยนแปลงโลก




Thursday, February 25, 2010

Short Movie: Nightshift

A bird and a bat live as neighbours, sharing a tree. Their different lifestyles cause trouble.





Friday, February 12, 2010

มืดและสว่าง


ฉันยินยอมให้ตนเองโอบกอดทั้งด้านมืดและด้านสว่างภายในตัวฉัน


มองเห็นความเป็นนางมารร้ายภายใน


รู้สึกสะใจเมื่อได้เห็นหน้ามารชัดๆ รับรู้การมีอยู่ของมารเป็นขณะๆไป


รู้สึกเบิกบานเมื่อได้เห็นด้านสว่าง รับรู้การมีอยู่ของด้านสว่างที่ปรากฏให้เห็นเป็นขณะๆ ไป


ไม่ผลักไส ไม่ใฝ่หา* ไม่ชิงชัง ไม่ดึงดัน ไม่กดข่ม


ยอมรับสภาวะที่ปรากฏอย่างที่เห็นและเป็นอยู่


มืดหรือสว่างล้วนไม่แตกต่างกัน เป็นสภาวธรรมที่ไม่เที่ยง


เกิด-ดับเรื่อยไป ไม่อาจทนอยู่ได้นาน


การเฝ้ามองเช่นนี้เกื้อกูลให้ฉันละวางการตัดสินที่มี


ไม่รู้สึกเกลียดชังตนเอง หากแต่มั่นคงขึ้น รักและเคารพตนเองมากขึ้น


เมื่อฉันละวางการตัดสินตนเองได้มากขึ้น ฉันก็ละวางการตัดสินผู้อื่นได้มากขึ้น


เมื่อฉันมีพื้นที่ภายในที่จะรักและเคารพตนเองมากขึ้น


ฉันก็มีพื้นที่ภายในที่จะรักและเคารพผู้อื่นได้มากขึ้นเช่นกัน


ฉันโอบกอดทั้งด้านมืดและด้านสว่างภายในตัวฉัน...

หมายเหตุ*คำว่าไม่ผลักไส ไม่ใฝ่หา ขอยืมมาจากชื่อหนังสือของพระไพศาล นะเจ้าคะ ^_^
ปกติเขียนบันทึกสั้นๆไม่เป็น เขียน Journal ทีไรก็พร่ำพรรณนาเสียยืดยาว วันนี้ลองหัดเขียนสั้นๆดูบ้าง

Tuesday, February 9, 2010

Movie Review: Tokyo Sonata


โตเกียว โซนาต้า บอกเล่าเรื่องราวโศกนาฏกรรมในครอบครัวชนชั้นกลางญี่ปุ่นในยุคทุนนิยมเสื่อมสลายในมหานครโตเกียว ทุกๆครอบครัวล้วนมีความลับที่เก็บงำไว้ หนังสะท้อนถึงความรู้สึกขมขื่น คับแค้นใจของตัวละครแต่ละคนที่เก็บงำปัญหาของตนเองไว้เป็นความลับ



เรื่องเริ่มต้นขึ้นเมื่อ”ริวเฮย์”หัวหน้าแผนกธุรการของบริษัทใหญ่แห่งหนึ่ง ถูกบีบให้ออกจากบริษัทที่ตนทำงานรับใช้มานานปีอย่างไม่คาดฝัน เขารู้สึกเจ็บปวดและคับแค้นใจ แต่ก็พยายามปกปิดไม่ให้ภรรยาและลูกๆรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ด้วยการใส่สูทถือกระเป๋าเอกสารแสร้งทำเป็นออกจากบ้านเพื่อไปทำงานทุกวัน แต่แท้จริงแล้วเขาได้แต่เตร่ไปมาเพื่อหางานใหม่ทำซึ่งก็หาได้ยากยิ่งนักสำหรับคนอายุมากเช่นนี้ บางครั้งเขาก็ไปต่อแถวเพื่อรับอาหารจากโรงทานข้างถนนประทังความหิว



ในขณะที่เขาพยายามรักษาสถานภาพและอำนาจภายในครอบครัวอย่างยิ่งยวดนั้น เขากลับไม่สังเกตเห็นว่าบรรยากาศภายในบ้านของเขาช่างอึดอัดและห่างเหิน ไม่มีบทสนทนาใดๆบนโต๊ะอาหารมานานแล้ว “ทากะ” ลูกชายคนโตแทบจะไม่กลับบ้านมาให้เห็นหน้า และเลือกที่จะสมัครไปเป็นทหารในกองทัพสหรัฐฯ ส่วน “เคนจิ” ลูกชายคนเล็กพยายามดิ้นรนที่จะเลือกเส้นทางชีวิตของตนเองและทำในสิ่งที่ตนรักคือการเรียนเปียโนแม้ว่าจะขัดคำสั่งของพ่อก็ตาม “เมกูมิ” ภรรยาผู้ทำหน้าที่รับใช้สามีและลูกชายทั้งสองคนโดยไม่มีปากเสียงใดๆ มานานหลายสิบปี รู้สึกโดดเดี่ยวและสิ้นหวัง ประดุจว่าชีวิตของเธอเองก็ถูกดูดดึงให้จมลงไปเรื่อยๆอย่างไม่มีทางออก



หนังกำลังบอกเราว่า เราทุกคนล้วนถูกกดทับด้วยบางสิ่งบางอย่างที่มองไม่เห็น สิ่งนั้นอาจเป็นภาระหน้าที่ความรับผิดชอบ บทบาททางสังคมที่เราต้องเล่นและแสดงต่อไป หรืออาจเป็นโครงสร้างอันอยุติธรรมของสังคมและวัฒนธรรมที่เราดำรงอยู่ ในหนังเรื่องนี้ ผู้กำกับคิโยชิ คุโรซาวะ ยังคงจับประเด็นถนัดของตัวเอง นั่นคือ การวิพากษ์ “ความเสื่อมของยุคสมัย”, “บทบาทกับค่านิยมที่เปลี่ยนไป” และ “มุมมองความคิดของคนต่างยุคต่างวัย”



กระนั้นหนังก็ไม่ได้โหดร้ายจนเกินไป เพราะท้ายที่สุดแล้ว เมื่อทุกคนได้เดินไปจนถึงทางตันแห่งชีวิต และประสบกับเหตุการณ์ที่เจ็บปวดที่สุดจนดูเหมือนว่าจะไม่มีทางออกใดๆหลงเหลืออีกต่อไป เมื่อเราไปถึงจุดที่เรายอมจำนนต่อชีวิต ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น ยอมละวางความคิดความเชื่อแบบเดิมที่เคยมี ยอมละทิ้งวิธีการแบบเก่าๆที่เคยยึดมั่น ปลดปล่อยตนเองจากพันธนาการ การเริ่มต้นใหม่ก็บังเกิดขึ้นอีกครั้ง อย่างเงียบๆแต่งดงาม



ความรู้สึกตอนที่ดูหนังเรื่องนี้ ฉันรู้สึกว่า Tokyo Sonata เป็นหนังที่เศร้ามาก (โคตรเศร้าเลย แต่ร้องไห้ไม่ออกสักแอะ) เป็นความเศร้าและเจ็บปวดใจอยู่ข้างในอย่างเงียบๆ เป็นความเศร้าที่เกิดขึ้นพร้อมกับความรู้สึกอึดอัดและกดดัน กระนั้นหนังก็มีวิธีการเล่าเรื่องเศร้าที่งดงามในแบบของมัน ฉันชอบบรรยากาศและวิธีการเล่าเรื่องของหนังเรื่องนี้ เพราะสามารถทำให้เราสัมผัสได้ถึงความทุกข์ที่แฝงอยู่ภายใต้บรรยากาศและการกระทำที่ดูแสนจะธรรมดา ฉากกินข้าวร่วมกันบนโต๊ะอาหารนั้นในแต่ละตอนนั้น บอกอะไรมากมายหลายอย่างโดยแทบจะไม่ต้องใช้คำพูดสักคำ เป็นฉากที่แสดงถึงความเงียบงัน การซ่อนเร้นความลับและความห่างเหินประดุจคนแปลกหน้า และบทเพลงในตอนจบเป็นบทเพลงที่ไพเราะอย่างยิ่ง เป็นหนังที่ดีและน่าประทับใจอีกเรื่องหนึ่งที่ควรค่าแก่การชม

Monday, January 25, 2010

วันเกิด rebirth rebound reconnection



25 มกราคม 53 เวลา 4:40 น.



เช้านี้ตื่นขึ้นมาด้วยคำถามและความคิดบางอย่าง เป็นเช้าวันเกิดที่ไม่ได้แตกต่างจากทุกวัน เช้าวันธรรมดาๆอีกวันหนึ่ง คำถามและความคิดที่มีเป็นภาวะที่ต่อเนื่องจากเมื่อคืนที่เข้านอนด้วยความรู้สึกเหนื่อยล้าอย่างยิ่ง ราวกับในช่วงสองปีกว่าที่ผ่านมาฉันได้แบกบางสิ่งที่หนักเอาไว้มาตลอด ไม่เคยจะได้วางมันลงจริงๆสักที มันถึงจุดที่อยากบอกกับตัวเองว่า “พอได้แล้ว พอสักที เหนื่อยมากแล้ว ขอพักสักทีเถิด” เป็นอาการของการยอมศิโรราบต่อชีวิต ในภาวะแห่งการยอมจำนนเช่นนั้น ฉันเข้านอนด้วยการอธิษฐานต่อพระเจ้า,จักรวาลหรือธรรมะธรรมชาติว่า ขอยกงานและภาระทั้งหมดที่ลูกมีไว้ในการดูแลของจักรวาล ตอนนี้ลูกไม่สามารถแบกมันเอาไว้ได้เพียงลำพังอีกต่อไปแล้วค่ะ ไม่สามารถจะทนแบกรับมันเอาไว้ได้อีกแล้ว ขอให้ท่านช่วยดูแลโอบอุ้มทั้งภาระงานและตัวลูกไว้ในตักของท่านด้วย ในภาวะแห่งการยอมจำนนนั้น ฉันรู้ดีว่ายังมีบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวฉันเองที่คอยช่วยเหลือดูแลทุกสรรพชีวิตและจักรวาลนี้มาตลอดเวลา ฉันปรารถนาที่จะกลับไปเป็นเด็กน้อยตัวเล็กๆที่ได้ซุกตัวอย่างผ่อนคลายและได้รับการโอบกอดอย่างอบอุ่นจากพระผู้เป็นเจ้า



แม้ว่าความเชื่อเช่นนี้จะฟังดูขัดแย้งกับพื้นฐานความเชื่อเดิมของชาวพุทธ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ฉันเติบโตขึ้นมาที่เน้นให้ช่วยเหลือตัวเอง ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน แต่กระนั้นความเชื่อที่ว่าเราได้รับการดูแลโอบอุ้มอยู่อย่างไม่มีเงื่อนไข และได้รับความรักอย่างไม่มีเงื่อนไขจากพระเจ้าหรือจักรวาลหรือพลังงานบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวฉันเองอยู่แล้วตลอดเวลานั้น ทำให้ฉันรู้สึกอบอุ่นใจ ผ่อนคลาย และการได้เป็นที่รัก(ได้รับความรักและการดูแลเป็นอย่างดี) ทำให้ฉันรู้สึกว่าฉันไม่ได้โดดเดี่ยวอีกต่อไป



นับตั้งแต่ครูทางธรรมคนแรกได้จากไป ก็เหมือนสายสัมพันธ์ที่เคยมีต่อจักรวาลได้จางหายไปด้วย ความคิดที่ว่า ต่อไปนี้เราต้องพึ่งตัวเองให้ได้ ต้องไม่หวังที่จะพึ่งพาใครอีกเข้ามาแทนที่ (ด้วยอาการหยิ่งทระนง) แต่แล้วความรู้สึกโดดเดี่ยวก็เข้ามาครอบงำจิตใจพร้อมกันกับความคิดเช่นนั้นอย่างเงียบๆ เหมือนกับว่าฉันได้ถูกตัดขาดจากท่อน้ำเลี้ยงทางจิตวิญญาณกระนั้น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาฉันสัมผัสได้ถึงความแห้งแล้งภายในจิตใจ ความรักและความเบิกบานที่มีต่อชีวิตและผู้คนได้เหือดหายไป เหมือนมีชีวิตเพียงเพื่ออยู่รอดไปวันๆ ในโลกอันแห้งแล้งใบนี้ ฉันดิ้นรนเพื่อที่จะพึ่งตนเองให้ได้ (ทั้งในทางโลกและในทางจิตวิญญาณ) แต่แล้วฉันก็พบว่าในตอนนี้ฉันเหนื่อยล้าเกินกว่าจะทำอะไรได้เพียงลำพังอีกต่อไปแล้ว ฉันปรารถนาที่จะสัมผัสกับความไว้วางใจต่อชีวิต ความผ่อนคลาย ปล่อยวางและได้รับความอบอุ่นใจที่เคยมีอีกครั้ง



ความคิดแรกที่ปรากฏในเช้าวันนี้คือ งานทางโลกนั้นไม่มีวันจบสิ้น เราต้องทำงานหนักตลอดเวลาเหมือนวัวเหมือนควายเพื่อรับใช้ร่างกายและกิเลสของเรา เพราะเมื่อดับความกระหายอย่างหนึ่ง ความกระหายอย่างใหม่ก็เกิดขึ้นตามมาทันที เมื่อดับความหิวในมื้อนี้ ความหิวในมื้อต่อไปก็รอคอยอยู่ข้างหน้า ตราบใดที่ยังคงเวียนว่ายตายเกิดอยู่เช่นนี้ก็ต้องทำงานทางโลกต่อไปเพื่อรับใช้กายและใจอย่างไม่จบสิ้น เป็นความทุกข์ที่ไม่มีวันสิ้นสุด



แต่งานทางธรรมนั้นมีวันสิ้นสุด มีวันจบสิ้น เมื่อไหร่ก็ตามที่งานทางธรรมเสร็จสิ้น เราจะเป็นเหมือนกับบ่าวที่รู้ว่างานได้สิ้นสุดลงแล้ว ไม่มีกิจใดที่ต้องทำอีกต่อไป เหลือเพียงการนั่งรอรับค่าแรง-รางวัลจากนายจ้าง ไม่มีความดิ้นรนทะยานอยากใดๆ ไม่มีการทำงานทางใจอีกต่อไป แม้ภาระในการดูแลกายและสังขารในทางโลกจะยังคงอยู่ ก็เป็นเพียงการดูแลไปตามหน้าที่อันควรเท่านั้น หาใช่การดูแลเพราะความทะยานอยากหรือกิเลส และเราจะได้พักลงจริงๆสักที



แต่การจะเดินทางไปจนถึงวันที่สิ้นสุดการทำงานทางธรรมนั้น หากจะเดินเพียงลำพังตามวิถีทางความเชื่อแบบพุทธที่ว่า เรามาคนเดียวก็ต้องกลับไปคนเดียว ฉันก็รู้สึกว่าฉันอ่อนล้าและโดดเดี่ยวเกินกว่าจะเดินต่อไปได้ไหว จะเป็นไรไหมหากฉันจะขอให้มีเพื่อนร่วมทางเป็นพระธรรม, พระเจ้า, พระจิตแห่งธรรมชาติ หรือจักรวาล (สุดแท้แต่ใครจะเรียกด้วยนามใด) ขอให้เราได้เดินไปด้วยกัน ฉันต้องการความอบอุ่นใจ การดูแลโอบอุ้ม การชี้นำ กำลังใจและความรักอย่างไม่มีเงื่อนไขในการเดินทางครั้งนี้ เพื่อให้มีแรงและพลังที่จะก้าวเดินต่อไป เพื่อที่ว่าเส้นทางนี้จะไม่โดดเดี่ยวและแห้งแล้งเกินไป เพื่อที่ว่าฉันจะสามารถเดินทางต่อไปด้วยความรัก ความเบิกบาน ความมีชีวิตชีวาและการเกื้อกูลทั้งต่อตนเองและเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆที่กำลังแสวงหาและเดินทางอยู่เช่นกัน ฉันร้องขอน้ำพุแห่งชีวิตและจิตวิญญาณจากจักรวาล ร้องขอความรักและการโอบอุ้มดูแลอย่างอบอุ่นจากพระผู้เป็นเจ้า รอขอการชี้นำแนวทางและปัญญาจากธรรมะธรรมชาติ



ฉันก็บอกไม่ได้ว่าฉันอยู่ในกรอบความเชื่อ-ศรัทธาแบบใด หากจะให้ฉันอธิบายตัวเองก็คงจะบอกได้เพียงว่าฉันเป็นชาวพุทธที่เชื่อในการมีอยู่และการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ฉันเคารพรักและนับถือพระองค์อย่างสูงสุด ขณะเดียวกันฉันก็รักพระเยซูและซาบซึ้งกับการอุทิศชีวิตของพระองค์เพื่อรับใช้มวลมนุษย์ และยิ่งไปกว่าฉันเชื่อในความมีอยู่ของพระเจ้าและพระจิตจักรวาล ฉันเชื่อว่ายังมีบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่เหนือกว่าตัวเราที่ดูแลโอบอุ้มและคอยช่วยเหลือ แนะนำเส้นทางให้แก่เรา เราเป็นเพียงแค่เศษฝุ่นเล็กๆในจักรวาลนี้เท่านั้น แต่เราก็เป็นเศษฝุ่นที่ได้รับการดูแลและได้รับความรักอย่างไม่มีเงื่อนไขจากจักรวาลเช่นเดียวกันกับสรรพสิ่งอื่นๆ ความคิด-ความเชื่อเช่นนี้ทำให้ฉันอ่อนน้อม ค้อมหัวลง อ่อนโยนกับตัวเองและผู้อื่นได้มากขึ้น มีพื้นที่ภายในที่จะรักผู้อื่นได้มากขึ้น ไม่บังอาจที่จะอหังการ ทระนง หยิ่งยะโสอีกต่อไปว่ากูทำได้ กูเก่งเพียงลำพัง เพราะทุกก้าวที่เราเดินไปล้วนได้รับการดูแลโอบอุ้มอย่างมากมายจากผู้คน สรรพสิ่ง เหตุปัจจัยมากมายหลายอย่างที่เราไม่อาจมองเห็นด้วยตา และยิ่งไปกว่านั้นเรามีพระผู้เป็นเจ้าคอยดูแลเกื้อกูลเราอยู่ตลอดเวลาบนเส้นทางสายนี้ เราไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้เพียงลำพังบนโลกใบนี้ เราไม่สามารถแยกตัวและไม่อาจตัดขาดจากกันและกันได้ เราล้วนมีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกันอยู่อย่างแนบแน่นด้วยสายใยที่มองไม่เห็น เราทั้งผองคือพี่น้องกัน เราคือบุตรหลานแห่งจักรวาล



...จะเป็นไรไหมหากฉันจะเชื่อเช่นนี้ แม้จะดูเหมือนว่ามันคือความเชื่อนอกรีตนอกรอยไม่เข้ากับกรอบของศาสนาใดๆเอาเสียเลยก็ตาม... ก็ช่างมันเถิด...ฉันไม่มีคำอธิบายอื่นใดที่จะให้แก่ใครอีกแล้ว ป่วยการที่จะอธิบาย ไม่มีความจำเป็นใดๆที่จะต้องแก้ตัว แก้ต่างหรือปกป้องตนเองอีกต่อไป ใครจะคิดจะเข้าใจอย่างไรก็เป็นเรื่องของเขา เราทุกคนล้วนมีเส้นทางที่ต่างกัน เรามีสิทธิเลือกต่างกันได้ และฉันเชื่อว่าทุกเส้นทางล้วนนำไปสู่จุดหมายเดียวกันทั้งสิ้น


...ในตอนนี้ฉันปรารถนาที่จะผ่อนคลายและปล่อยให้ตนเองได้เลื่อนไหลไปกับกระแสสายธารแห่งความรักและปัญญาของจักรวาล ไม่ปรารถนาที่จะดิ้นรนต้านทานฝ่าฝืนใดๆอีกต่อไป...ขอให้เราทั้งผองได้รับการดูแลและโอบอุ้มจากจักรวาล ขอให้หัวใจและจิตวิญญาณของเราเปิดรับและเชื่อมต่อกับความรักและปัญญาอันไร้ขอบเขตของพระผู้เป็นเจ้า...