Thursday, August 5, 2010

วาทะกรรม อำนาจ ความรู้ (ตอน ๑)

--แปลและเรียบเรียงโดย A. Kongsup--
บันทึกเก็บตกจากหนังสือ Discourse Analysis as Theory and Method เขียนโดย Jorgensen M. & Phillips L. (2002) เป็นหนังสือว่าด้วยเรื่องวาทะกรรม ปูพื้นฐานความเข้าใจเกี่ยวกับหลักทฤษฎีแนวคิด ที่มาที่ไปของวาทะกรรม และการวิเคราะห์วาทะกรรมของสำนักคิดต่างๆ

วาทะกรรม อาจนิยามได้ว่า เป็นวิธีการเฉพาะในการพูดเกี่ยวกับโลกและการเข้าใจโลก (หรือคุณลักษณะของโลก) (Jorgensen & Phillips, 2002)


วาทะกรรมก่อกำเนิดอยู่ภายใต้ทฤษฎีแนวคิด โครงสร้างนิยม (Social constructionism) วาทะกรรมเป็นรูปแบบของปฏิบัติการทางสังคมที่มีบทบาทในการผลิตโลกทางสังคม รวมทั้งองค์ความรู้ อัตลักษณ์ และความสัมพันธ์ทางสังคม และมันยังรักษาไว้ซึ่งรูปแบบเฉพาะทางสังคมอีกด้วย (specific social pattern)


วาทะกรรมสร้างโลกทางสังคม (social world) ในการให้ความหมาย และความหมายนั้นไม่สามารถคงที่ได้ตลอดไป (ความหมายเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ) ไม่มีวาทะกรรมใดคงทนหรือเป็นสัจจะสูงสุด ทว่าวาทะกรรมนั้นแปลงเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาเมื่อได้ปะทะกับวาทะกรรมอื่นๆ


วาทะกรรมทำงานผ่านภาษาที่เราใช้ และด้วยภาษานั้นเองเราได้สร้างตัวแทนของความจริงขึ้นซึ่งไม่ใช่ความจริงที่เป็นภาพสะท้อนของความจริงที่ดำรงอยู่แล้วก่อนหน้านั้น หากแต่เป็นความจริงที่ถูกสร้างขึ้นมาผ่านความหมายหรือนิยามที่เรามอบให้กับปรากฎการณ์ ทั้งนี้ไม่ได้แปลว่า ความจริงโดยตัวมันเองไม่ได้ดำรงอยู่ สรรพสิ่งทางกายภาพดำรงอยู่ แต่สรรพสิ่งล้วนได้รับความหมายผ่านวาทะกรรม


ตัวอย่างเช่น ปรากฎการณ์น้ำท่วม คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แต่ผู้คนจะคิดและให้ความหมายกับภาวะน้ำท่วมแตกต่างกัน แน่นอนว่าทุกคนจมน้ำได้หากอยู่ผิดที่ผิดทาง แต่นั่นไม่จำเป็นต้องเกี่ยวโยงกับวิธีที่พวกเขาคิดหรือพูดเกี่ยวกับน้ำท่วม ทันทีผู้คนพยายามจะให้ความหมายกับมัน ปรากฎการณ์น้ำท่วมก็ตกอยู่ภายใต้วาทะกรรม




หลายคนอาจจะให้นิยามว่า น้ำท่วม คือ "ปรากฎการณ์ธรรมชาติ" แต่บางคนอาจจะบอกว่ามันคือปรากฎการณ์ El Nino หรือเป็นผลกระทบจากภาวะเรือนกระจก หรือภาวะโลกร้อน บางคนอาจจะบอกว่าน้ำท่วมเป็นการจัดการทางการเมืองที่ผิดพลาด เช่นว่า รัฐบาลล้มเหลวในการจัดการและการลงทุนสร้างระบบชลประทานที่ดี และท้ายที่สุด บางคนอาจจะมองว่า นี่คือการเผยสำแดงเจตจำนงของพระเจ้า ที่โกรธเคืองต่อมนุษย์ผู้ใจบาปหยาบช้า และเป็นสัญญาณบอกเหตุวันสิ้นโลก เป็นต้น

ปรากฎการณ์น้ำท่วม เหตุการณ์เดียวกันนี้ ได้รับการให้ความหมายจากมุมมองที่แตกต่างหรือจากวาทะกรรมที่แตกต่างกัน ที่สำคัญคือ เมื่อนิยามความหมายด้วยวาทะกรรมที่แตกต่างกัน ก็จะนำไปสู่การปฏิบัติหรือตอบสนองต่อเหตุการณ์นั้นต่างกันด้วย เช่น อาจจะนำไปสู่การสร้างระบบชลประทาน นโยบายสิ่งแวดล้อมลดโลกร้อน หรือ การเตรียมตัวรับมือกับวันสิ้นโลก

ด้วยเหตุนี้เอง การให้ความหมายภายใต้วาทะกรรมจึงทำหน้าที่ในการสร้างและเปลี่ยนแปลงโลก