เพื่อนส่งมาให้ เลยเอามาโพสต์ไว้ เพราะอ่านแล้วคิดว่ามีประโยชน์ดี
---------------------
วันที่ 01 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11258 มติชนรายวัน
เพื่อความเข้าใจถูกต้องเกี่ยวกับหลักกรรม (16) อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์สำคัญหรือไม่คอลัมน์ รื่นร่ม รมเยศ
โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก
คอลัมน์ นี้ขีดวงไว้ว่าให้เขียนเกี่ยวกับเรื่องกรรม เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจชัดขึ้นว่า กรรม ในความหมายของพระพุทธศาสนานั้นคืออย่างไร เชื่ออย่างไรจึงจะนับว่าไม่ผิดหลักพระพุทธศาสนา ก็ได้เขียนมาหลายตอนแล้ว วนไปวนมาอยู่นั่นแล้ว เพราะว่าที่จริงแล้ว เรื่องของกรรมมันมีนิดเดียวเท่านั้นเอง เขียนครั้งสองครั้งก็หมดเนื้อหา แต่ถ้าจะให้ "บรรเลง" ต่อไปไม่รู้จบ แบบนวนิยาย 300 ตอนจบ ก็เห็นจะต้องประยุกต์ หรือขยาย ตลอดจน "ใส่ไข่" ให้มากๆ อย่างนี้ละก็ได้
มี ผู้ไปเรียนถามท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) พระเถระนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาว่า การเชื่อในเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ถูกต้องหรือไม่
ท่านเจ้าคุณตอบว่า "ถ้าเชื่อแล้วไม่ให้เสียหลักกรรมก็ใช้ได้"
ท่าน อธิบายว่า ในขณะที่เราเชื่อเรื่องลึกลับมหัศจรรย์ หรือเรื่องเหนือสามัญวิสัยของคนทั่วไป เช่น เชื่อภูตผีวิญญาณ เชื่อเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ เราไม่เพียงแต่เชื่อแล้วบวงสรวงอ้อนวอนขอให้สิ่งเหล่านั้นช่วยอย่างเดียว แต่เรากระทำด้วย ถ้าอย่างนี้ก็ไม่เสียหลักกรรม นับว่าใช้ได้อยู่
ขอ ยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ ในสังคมไทยเรานี้แหละ คนมักเชื่อเรื่องเทวดา ที่มากที่สุดก็คือ พระภูมิเจ้าที่ เวลาสร้างบ้านใหม่ ก็จะตั้งศาลพระภูมิแล้วก็เอาของไปเซ่นไหว้ จุดธูปบูชาเป็นประจำ
ดูเหมือนแทบไม่ค่อยมีบ้านไหนที่ไม่ตั้งศาลพระภูมิ (มีเหมือนกัน แต่มีน้อย บ้านผมก็ไม่ตั้ง)
คนที่เชื่อเรื่องพระภูมิเจ้าที่มีอยู่ 2 ประเภท คือ
1. ประเภทที่หนึ่ง เชื่อว่าพระภูมิมีอิทธานุภาพบันดาลอะไรทุกอย่างให้เราได้ จึงเฝ้าอ้อนวอนขอพรขอโชคจากพระภูมิมิได้ขาด ทำอะไรสำเร็จ ก็ยกให้ว่าเพราะพระภูมิท่านบันดาลให้ หรือประสบความขัดข้องอะไรบางอย่างก็คิดว่า เพราะตนเองล่วงเกินพระภูมิเจ้าที่ หรือไม่เอาใจใส่ท่านเท่าที่ควร ท่านจึงทำโทษเอา
2.ประเภทที่สองนี้ คือเชื่อว่าพระภูมิเจ้าที่ก็มีจริง อาจมีส่วนในการบันดาลอะไรให้คนผู้เซ่นไหว้บ้าง หรืออย่างน้อยก็เป็น "กำลังใจ" ให้ผู้ที่กราบไหว้ แต่ความเจริญหรือเสื่อม ความสำเร็จหรือล้มเหลวในชีวิตของแต่ละคนนั้น เนื่องมาจากการกระทำเป็นปัจจัยสำคัญมากกว่า
คนประเภทที่สองนี้ ไม่ปฏิเสธพระภูมิเจ้าที่ แต่ถือพระภูมิเจ้าที่เป็นเพียงเงื่อนไขหนึ่งของชีวิตเท่านั้น ไม่ใช่ "ทั้งหมด" ของชีวิต
คน ที่เชื่อพระภูมิเจ้าที่ประเภทหลังนี้แหละที่ท่านว่า "ไม่เสียหลักกรรม" คือให้ความสำคัญแก่การกระทำ การสร้างสรรค์ของคนมากกว่าการดลบันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์อิทธิฤทธิ์ภายนอก
คนประเภทแรกเป็นพวก"คอยโชคชะตา" หรือ "ปล่อยไปตามดวง" คนประเภทหลังเป็นพวก "ลิขิตชีวิตตนเอง"
พฤติกรรม ที่แสดงออกมาของคนสองประเภทนี้จะต่างกัน ประเภทแรกจะเป็นคนเกียจคร้าน ไม่ค่อยกระตือรือร้น ไม่เชื่อมั่นในตัวเอง เพราะอะไรๆ ก็หวังพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์หมด ประเภทที่สองจะเป็นคนเชื่อมั่นในตัวเอง ขยันขันแข็ง ไม่งอมืองอเท้า
ขอยกนิทานชาดกเพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรม
พระ ราชาสองพระองค์ทำศึกสงครามกัน ยังไม่มีใครแพ้ใครชนะรบกันเหนื่อยแล้วก็พักรบแล้วก็รบกันต่ออยู่อย่างนี้มา นานนับปี วันหนึ่ง ฤๅษีผู้มีอภิญญาตนหนึ่งไปพบพระอินทร์ ฤๅษีถามพระอินทร์ว่า รู้ข่าวพระราชาสองพระองค์รบกันไหม พระอินทร์ตอบว่า มีอะไรบ้างล่ะที่โยมไม่รู้ เครือข่ายดาวเทียมของโยมก็กว้างไกล สื่อต่างๆ ก็มีครบ ทำไมจะไม่รู้ ไม่แค่นั้นนะ โยมรู้กระทั่งว่าในที่สุดพระราชาองค์ไหนจะชนะ
"องค์ไหน" หลวงพ่อฤๅษีอยากรู้บ้าง
"ก็องค์ที่ครองเมืองทางตะวันออกนั่นแหละจะชนะ"
ฤๅษี ได้บอกเรื่องนั้นแก่ศิษย์ผู้ใกล้ชิด แล้วข่าวก็แพร่ไปถึงพระกรรณของพระราชาทั้งสองพระองค์ องค์ที่ได้รับการทำนายว่าจะรบชนะก็ดีใจ เฉลิมฉลองชัยชนะล่วงหน้ากันเอิกเกริก
ฝ่ายพระราชาองค์ที่ได้รับคำ ทำนายว่าจะแพ้ ก็เสียใจพักหนึ่ง แต่ก็คิดได้ว่า คนเราเกิดมามีสองมือสองเท้า มีมันสมองเหมือนกัน เราต้องคิดหาทางเอาชนะให้ได้ คิดดังนี้แล้วก็ไม่ประมาท คอยฝึกปรือนักรบของตนให้ชำนิชำนาญการรบยิ่งขึ้น ให้กำลังใจแก่กองทัพ วางแผนเพื่อการต่อสู้ครั้งต่อไปอย่างรัดกุม
เมื่อถึงคราวประจัญบาน กันจริงๆ กองทัพของพระราชาที่ถูกทำนายว่า จะแพ้กลับชนะ ตีกองทัพของพระราชาอีกองค์แตกกระจุย พระราชาผู้ที่ได้รับคำทำนายว่าจะชนะ ก็มาต่อว่าฤๅษี หาว่าทำนายทายทักส่งเดช ไม่รู้จริงแล้วก็อุตริทายผิดๆ ไหนว่าข้าพเจ้าจะชนะไง ทำไมมันถึงแพ้เขาย่อยยับอย่างนี้
ฤๅษีก็หน้า แตกไปตามระเบียบ ไปต่อว่าพระอินทร์หาว่าเป็นต้นเหตุให้แกหน้าแตก พระอินทร์ตอบว่า ที่ทายนั้นไม่ผิดดอก ถ้าหากว่าพระราชาสองพระองค์นั้นปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติเมื่อรบ กัน องค์ที่โยมว่าจะชนะนั้นต้องชนะแน่ แต่บังเอิญว่า องค์ที่ได้รับคำทำนายว่าจะแพ้ พยายามอย่างเต็มที่เพื่อปรับปรุงกองทัพของตนด้วยความไม่ประมาท ในขณะที่อีกองค์มัวแต่เลี้ยงฉลองกันอยู่ เรื่องมันจึงกลับตาลปัตร
พระอินทร์พูดเชิงสอนฤๅษีว่า ทุกอย่างย่อมสำเร็จได้ด้วยความเพียร คนที่พากเพียรพยายามอย่างสูงสุด เทวดาก็รั้งเขาไว้ไม่ได้
นิทานก็คือนิทาน แต่สาระของนิทานมันมี ต้องอ่านไปคิดไปจึงจะรู้ว่า "สาระ" อยู่ที่ไหน
ใน เรื่องนี้ท่านเน้นว่า อำนาจการกระทำด้วยความพากเพียรพยายามนั้นอยู่เหนือการดลบันดาลของสิ่ง ศักดิ์สิทธิ์ สิ่งเหนือสามัญวิสัยใดๆ ยิ่งถ้าเพียรพยายามอย่างยิ่งยวดแล้ว แม้เทวดาก็กีดกันไม่ได้
การกระทำด้วยความพากเพียรพยายามนี้แหละ พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ "กรรม" นั้นเอง
เรา จะเชื่อเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ เรื่องลึกลับอะไรก็เชื่อได้ แต่เชื่อแล้วอย่างอมืองอเท้า นั่งรอนอนรอ หรือสวดอ้อนวอนให้สิ่งเหล่านั้นช่วยเราอย่างเดียว เชื่อแล้วต้องทำสิ่งที่ควรทำอย่างเต็มความสามารถด้วย โดยเอาความเชื่อนั้นเป็นแรงบันดาลใจ เชื่ออย่างนี้ไม่ผิด ไม่เสียหายอะไร
ยก ตัวอย่าง เช่น นักมวยแชมป์โลกคนหนึ่ง เขานับถืออิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของพระเครื่องสมเด็จฯโตมาก ก่อนจะขึ้นชกทุกครั้งเขาจะไหว้สมเด็จฯโต ขอพรสมเด็จฯโต ขอให้เขาชกชนะ และเขาก็ชนะคู่ต่อสู้เรื่อยมา รักษาเข็มขัดแชมป์ไว้ได้นานเป็นประวัติการณ์
เขา เชื่อมั่นในอภินิหารของสมเด็จฯโต แต่ขณะเดียวกัน เขามิได้อยู่เฉยๆ เขาขยันฝึกซ้อมมิได้ขาด จะชกกับใครก็มิได้ประมาท ศึกษาจุดด้อยจุดเด่นของคู่ต่อสู้ชกอย่างใช้มันสมอง แล้วเขาก็ประสบชัยชนะเรื่อยมา
ถามว่า แชมป์โลกคนนี้สามารถรักษาแชมป์ไว้ได้ยาวนาน เพราะอภินิหารของสมเด็จฯโต หรือว่าเพราะ "กรรม" (การกระทำ) ของเขา ตอบว่า เพราะทั้งสองอย่างนั้นแหละ แต่ปัจจัยใหญ่อยู่ที่การกระทำของเขาเอง อภินิหารของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายนอกนั้นเป็นเพียงปัจจัยสนับสนุน
ความ เชื่อเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ของนักมวยคนนี้ ไม่เสียหลักกรรม (อย่างที่ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎกว่า) เป็นเรื่องดี มิได้เสียหายอะไร ส่วนคนอื่น ใครจะเชื่ออะไรนั้นก็เชื่อไปเถิด ขอให้ปฏิบัติต่อความเชื่อนั้นตามแนวของหลักกรรมก็เป็นอันว่าใช้ได้