Sunday, October 4, 2009

หลวงพระบาง ในฤดูปลายฝนต้นหนาว (ตอน ๑)

จำได้ว่าเกิดแรงบันดาลใจอยากจะไปหลวงพระบางเมื่อหลายปีก่อนจากโปสการ์ดใบหนึ่ง ที่เป็นภาพขาวดำรูปอาคารเก่าๆยุคโคโลเนียลหลังหนึ่ง หากมองผาดๆก็คงจะเห็นเป็นแค่โปสการ์ดใบหนึ่ง แต่เมื่อมองพิศก็จะพบกับความงามและเสน่ห์ที่ซ่อนอยู่ในสถาปัตยกรรมและวิถีชีวิต โปสการ์ดใบนั้นทำให้เกิดความตั้งใจว่าวันหนึ่งฉันจะเดินทางไปหลวงพระบางเพื่อไปตามหาตึกหลังนั้นให้ได้ ยิ่งเมื่อได้อ่านเรื่องราววิถีชีวิตและความมีน้ำใจของผู้คนอันเป็นเสน่ห์ของเมืองหลวงพระบาง ก็ยิ่งทำให้รู้สึกว่าอยากจะไปเที่ยวหลวงพระบางให้ได้ในสักวัน ฉันยังคงเก็บโปสการ์ดใบนั้นไว้มาจนบัดนี้ เป็นโปสการ์ดที่ถ่ายภาพโดย Pattarapong Kongwijit

ในที่สุดฉันก็ได้ตัดสินใจเดินทางไปหลวงพระบาง เมื่อพี่นะและหยีเพื่อนที่ทำงานอยู่เมืองลาวชวนให้ไปช่วยจัดอบรม TOT 1 ให้กับกลุ่มพระที่สนใจการทำงานด้านพัฒนาที่วัดป่านาคูนน้อยที่เวียงจันทร์ ตอนที่ตัดสินใจว่าจะไปนั้นยังไม่มีเพื่อนร่วมทาง ก็เลยเผื่อใจไว้ว่าทริปนี้มีแววว่าอาจต้องลุยเดี่ยว มีความรู้สึกตื่นเต้นปนกังวลใจ เพราะไม่เคยไปและไม่รู้จักใครที่หลวงพระบาง (เพื่อนฉันทำงานอยู่ที่เวียงจันทร์เป็นหลักและช่วงนั้นเขาก็ไม่ว่าง) แต่พอเพื่อนรู้ว่าฉันรู้สึกกังวลใจ เขาก็ช่วยหว่านล้อมแกมบังคับ + สะกดจิต(เพราะพี่แกพูดหว่านล้อมทุกวัน) ให้น้องแล่ น้องชายคนลาวที่เป็นเจ้าหน้าที่โครงการอบรมช่วยไปเป็นไกด์ให้จนได้ เมื่อเสร็จสิ้นการอบรมในค่ำวันที่ห้า เช้ามืดวันถัดมา ฉันตื่นตั้งแต่ตีสี่ ตื่นเช้ากว่าวันปกติของการอบรมที่ต้องตื่นมานั่งสมาธิตอนตีสี่ครึ่งเสียอีก (ปกติจะตื่นประมาณ ตีสี่ยี่สิบ) เพื่อนเลยแซวว่าสงสัยจะมีอาการตื่นเต้นเหมือนเด็กจะได้ไปเที่ยว (ท่าจะจริงเนาะ)


เดินทางไปถึงท่ารถตั้งแต่หกโมงเช้า เพราะเข้าใจว่ารถออกตอนหกโมงครึ่ง ปรากฏว่าข้อมูลคลาดเคลื่อน รถจะออกจริงๆตอนแปดโมงตะหาก หลังจากจองตั๋วรถ นั่งกินกาแฟกับขนมคู่ (ปาท่องโก๋) ที่สถานีรถโดยสารแล้ว ยังเหลือเวลาอีก เกือบสองชั่วโมง เพื่อนก็เลยชวนไปเดินตลาดเช้าที่ทุ่งขันคำ (แปลว่าทุ่งขันทองคำ / คำ = ทองคำ) ไปดูบรรยากาศยามเช้าในตลาดสดเมืองเวียงจันทร์ ที่ตลาดมีผู้คนคึกคัก สินค้าหลากหลาย นอกจากสินค้าที่ผลิตได้เองในเมืองลาวและที่นำเข้าจากเมืองไทยแล้ว ก็มีผักผลไม้จำนวนมากที่เป็นสินค้านำเข้าจากเมืองจีน อาจเรียกได้ว่าจีนเป็นคู่ค้าสำคัญของประเทศลาวในวันนี้




เดินดูบรรยากาศและได้ชิมข้าวจี่จื่น (ข้าวจี่ชุบไข่ทอด) อร่อยดี ไม้ละ ๘ บาท เดาว่าเป็นความอร่อยที่ได้จากแป้งนัวผสมกับไข่ที่ชุบทอด อาหารลาวมีการผสมผสานทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม จีน ฝรั่งเศส ไม่ว่าจะเป็นข้าวเปียก (ก๋วยจั๊บญวน) เฝอ ข้าวจี่ฝรั่ง (ขนมปังฝรั่งเศสสอดใส้หมูยอ แจ่ว และอื่นๆ) ยำผัก (สลัดผักราดน้ำสลัดผสมถั่วลิสงคั่ว รสชาติจัดจ้าน – แซ่บถูกใจคนมักกินผักเช่นข้าน้อยยิ่งนัก)



ส่วนอาหารพื้นเมืองดั้งเดิมของลาวนั้นก็มักจะมีแจ่ว ผักและปลาร้าเป็นส่วนผสมหลัก ไม่นิยมปรุงด้วยน้ำมันหรือการทอด แต่จะใช้การต้ม นึ่งเสียส่วนใหญ่ จึงนับว่าเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากๆ รสชาติออกจะกลมกล่อมไม่เผ็ดร้อนเท่าอาหารอีสานของไทย แต่ต้องระวังเรื่องการใส่แป้งนัว (ผงชูรส) ที่อาจจะมีมากเป็นพิเศษ กระแสวัฒนธรรมสมัยใหม่ได้นำพาแป้งนัวเข้ามาในลาวด้วย แป้งนัวได้ระบาดไปทั่วทุกหัวระแหง มันอยู่ในกับข้าวเกือบทุกชนิดรวมทั้งในถ้วยพริกน้ำปลามะนาว แอบสงสัยว่าถ้าข้าวเหนียวจำเป็นต้องมีรสอื่นที่ไม่ใช่รสข้าวเหนียวเขาก็คงจะใส่แป้งนัวลงไปด้วยแน่ๆ

เดินดูตลาดจนทั่วก็ได้เวลากลับมาขึ้นรถเพื่อออกเดินทางไปหลวงพระบาง เช้านี้ที่ท่ารถผู้คนบางตา เพราะไม่ใช่ฤดูกาลท่องเที่ยว จึงไม่มีนักท่องเที่ยวให้เห็นมากนัก รถโดยสารปรับอากาศที่ฉันนั่งมีชาวต่างชาติไม่กี่คนนอกนั้นเป็นคนลาวเสียส่วนใหญ่

หนังสือท่องเที่ยวบอกว่าใช้เวลาเดินทางจากเวียงจันทร์ไปหลวงพระบางประมาณ 7-12 ชั่วโมง เจ็ดชั่วโมงที่ว่าคงหมายถึงการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว เพราะถ้านั่งรถโดยสารประจำทางนั้นใช้เวลาเฉลี่ยอย่างน้อย 10 ชั่วโมง ที่ต้องใช้เวลานานขนาดนั้นสำหรับระยะทางประมาณ ๓๘๐ กิโลเมตรนั้น เป็นเพราะถนนสายหลักที่ไปหลวงพระบางมีเพียงเส้นเดียว คือถนนสายที่ ๑๓ ที่สร้างตั้งแต่สมัยฝรั่งเศสเข้ามาปกครองเมืองลาว เป็นถนนลาดยางสองเลน ทอดยาวลัดเลาะไปตามไหล่เขาและหน้าผาสูง ไม่มีเส้นแบ่งกั้นช่องทางการจราจร การขับรถจึงต้องขับอย่างระมัดระวัง ต้องกะระยะกันวัดใจกันเอาเองเวลารถสวนกัน



เมื่อนั่งรถไปในราวชั่วโมงที่เก้า (ชักจะเมื่อย) ฉันเปรยๆกับน้องแล่ที่ร่วมทางว่า น่าจะเชิญคนขับไปเป็นวิทยากรหัวข้อการใช้ชีวิตช้าๆ เสียจริง พี่แกขับรถได้ช้าดีมาก ต้องขอชมเชยในความใจเย็นรอบคอบและระมัดระวังของพี่เขา

แม้จะนั่งรถนานมาก แต่ทัศนียภาพสองข้างทางนั้นก็สวยงามดีอยู่ มีภูเขาสูงรูปร่างแปลกตาทอดเรียงรายสลับลดหลั่นกันไป เห็นบ้านเรือน และวิถีชีวิตของผู้คนชนเผ่าสองข้างทาง ถามแล่ได้ความว่าคนเหล่านี้คือ ชาวลาวเทิน ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมในแถบนี้ เห็นเด็กๆ ถีบจักรยานกลับมากินข้าวที่บ้านตอนพักกลางวัน เด็กนักเรียนผู้หญิงที่นี่ใส่เสื้อเชิ้ตนุ่งผ้าซิ่นไปโรงเรียน นับเป็นชุดนักเรียนที่ยังคงความเป็นอัตลักษณ์ของประเทศไว้ให้เห็นได้

ระหว่างทางรถจะจอดแวะให้กินข้าวเที่ยงที่ร้านอาหารที่บ้านบังกะโล เป็นร้านอาหารอยู่ริมหน้าผา อากาศดีวิวสวย หน้าร้านอาหารก็จะมีชาวบ้านเอาผักและอาหารสดมาวางขายให้คนผ่านทางได้แวะซื้อ ฉันเห็นคนลาวหลายคนแวะซื้อผักสดที่นี่ไปคนละหลายๆกำ มีแม่ค้าเรียกให้ฉันซื้อผักของเขาเหมือนกัน ฉันก็ได้แต่ตอบเขาไปว่า “ซื้อบ่ได้ บ่ได้แต่งกิน” แปลว่า ซื้อไม่ได้เพราะไม่ได้ทำกับข้าวกินเอง

จากจุดแวะพักกินข้าว เราต้องเดินทางไปต่ออีกประมาณห้าชั่วโมงบนเส้นทางลัดเลาะไปตามไหล่เขาสูง ในที่สุดฉันก็มาถึงหลวงพระบางราวหนึ่งทุ่ม รถมาจอดที่สถานีรถประจำทาง จากที่นั่นเราต้องนั่งรถจัมโบ้ (ตุ๊กๆ) เข้าไปในตัวเมืองอีกประมาณไม่เกินสิบนาที ค่ารถคนละ ๒๐,๐๐๐ กีบ (๘๐ บาท) รถจะจอดที่บริเวณสามแยก ใกล้ๆร้านกาแฟโจมา จากที่นั่นเราต้องเดินไป เพราะตอนกลางคืนถนนเส้นที่เราจะไปจะปิดเพื่อเปิดเป็นตลาดมืด เราเดินอีกไม่ไกลก็ถึงวัดใหม่สุวรรณาราม แล่แวะเอาของไปฝากไว้ที่วัดใหม่ฯ เพราะว่าเขาจะไปนอนพักที่กุฎิของครูบาดีซึ่งเป็นศิษย์รุ่น ๓ในโครงการอบรมและพัฒนาพระสงฆ์ที่แล่ทำงานอยู่ แล่บอกว่าถ้าวัดนี้มีแม่ขาว ฉันคงได้นอนที่วัดกับแม่ขาวไม่ต้องเสียเงินค่าที่พัก อย่างไรก็ตามแถวๆวัดใหม่และบริเวณถนนเส้นนี้มี guest house เยอะมาก จนไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีที่นอน ยิ่งในฤดูกาลปลายฝนต้นหนาวซึ่งเป็น low season แบบนี้ยิ่งไม่ต้องห่วง มีให้เลือกเหลือเฟือ



จากวัดใหม่เราเดินลัดเลาะหา guest house ใกล้ๆแถวนั้นเพื่อหาที่พักให้ฉัน เราเดินผ่านหน้าวังเจ้าชีวิต (กษัตริย์) ซึ่งตอนนี้ได้เปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เลี้ยวเข้าไปในซอยถนนอุ่นเฮือนข้างรั้ววัง ที่นั่นฉันได้ที่พักที่พูสีเกสต์เฮาส์ ในราคาคืนละ 450 บาท เมื่อเก็บข้าวของในที่พักเรียบร้อย เราก็เดินออกมาหาข้าวเย็นกิน ฉันพูดว่าไป “หาข้าวกินกัน” แล่บอกว่า ถ้าพูดว่าไปหาข้าวกิน คนลาวจะหมายถึง มีกับข้าวทำเสร็จแล้วอยู่ในบ้าน ให้ไปตักกินได้เลย แต่กรณีอย่างฉันนี้ต้องพูดว่า “ไปซื้อกิน” จึงจะถูก

อาหารค่ำมื้อแรกในหลวงพระบาง ฉันได้กินอาหารบุฟเฟ่ต์มังสวิรัติราคาจานละ ๕๐๐๐ กีบ ( ๒๐ บาท) ที่ข้างรั้ววัดใหม่ฯนั่นเอง มีอาหารให้เลือกหลากหลายพอใช้ ในราคามิตรภาพ จะตักมากเท่าไหร่ก็ได้ แต่ตักได้ครั้งเดียวจานเดียว ปกติหากเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวร้านนี้คนจะแน่นมาก ต้องต่อคิวซื้อและม่มีที่นั่งว่างเลย (อ่านจากในเน็ต) แต่วันนี้ ผู้คนบางตา ฉันกับแล่เลยเลือกตักเลือกกินเลือกนั่งได้ตามใจชอบ



หลังจากมื้อค่ำเราก็ไปเดินเตร็ดเตร่ดูข้าวของเที่ยวชมตลาดมืดกัน มีสินค้าหัตถกรรมหลากหลาย ส่วนใหญ่จะเป็นผ้าทอมือ ผ้าปักเย็บลวดลายต่างๆตามแบบฉบับของลาว มีงานไม้งานแกะสลัก และภาพเขียนกระดาษสามากพอควร สังเกตดูแม่ค้าที่นี่หน้าตาสวยงาม น่ารัก กันเกือบทั้งนั้น มีทั้งสาวรุ่นๆ และสาวใหญ่ บางร้านก็มาเป็นครอบครัว บ้างก็เป็นชนเผ่า บางร้านก็เป็นคนหลวงพระบาง ก่อนมาที่นี่หยีกับแล่บอกว่าสาวๆที่หลวงพระบางน่ะสวยๆทั้งนั้น เพราะสมัยก่อนจะมีการคัดเลือกสาวๆหน้าตาดีมาอยู่ที่เมืองนี้เพื่อให้เจ้าชีวิตหรือขุนนางเลือกไปเป็นนางสนม นางกำนัล และมรดกแห่งความงามของคนรุ่นก่อนก็ยังคงตกทอดสืบต่อมามายังสาวๆรุ่นนี้ ไม่รู้ตำนานที่ว่าจะจริงหรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ ต้องยอมรับว่าสาวๆที่นี่ส่วนใหญ่หน้าตาสวยงามสมคำร่ำลือ


แม่ค้าพ่อค้าทุกคนจะทักทายนักท่องเที่ยวด้วยคำว่า “สะบายดี” คำว่าสบายดีจึงเป็นคำที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเกือบทุกคนฟังเข้าใจและพูดได้ชัด แล่บอกว่าถ้าเป็นช่วง high season เราแทบจะไม่มีที่เดินและต้องไหลไปกับผู้คน แต่ตลาดมืดในวันนี้มีแม่ค้ามากกว่านักท่องเที่ยว ถนนโล่งว่าง เราก็เลยเดินได้อย่างสบายๆ แถมยังสามารถต่อรองขอลดราคาสินค้าได้มากกว่าฤดูกาลท่องเที่ยว ฉันได้แวะซื้อผ้าพาดไหล่ที่เพิงแถวๆนั้น แม่ค้าน่ารัก หยิบสินค้าให้เลือกแบบเต็มใจมาก ฉันยังไม่ทันจะเอ่ยปากว่าอะไร ผ้าทอลายสีสันต่างๆ ก็มาแผ่ปูวางให้เลือกสรรมากมายตรงหน้า ฉันเลือกผ้าและของฝากมาได้สี่ห้าชิ้น พอจ่ายเงินเสร็จแม่ค้าสาวสวยรีบเอาเงินไปแตะๆสินค้าในร้านให้ทั่วๆ พลางบอกว่าวันนี้เราได้มาประเดิมร้านเขา

หลังจากเดินชมตลาดและบรรยากาศยามค่ำต่อไปอีกจนเกือบสุดถนน เราก็แยกย้ายกันกลับไปที่พัก ฉันบอกแล่ว่าพรุ่งนี้จะตื่นมาใส่บาตรข้าวเหนียว มาหลวงพระบางทั้งทีจะพลาดโปรแกรมสุดฮิตนี้ได้ไง ก็เลยนัดกันว่าเราจะมาเจอกันอีกทีที่บริเวณตักบาตรข้างรั้ววัดตอนหกโมงเช้าวันพรุ่งนี้

No comments:

Post a Comment