Monday, April 30, 2012

หลวงพระบางปลายฝนต้นหนาว (ตอน ๒)





วันนี้ตื่นเช้ามาตั้งใจจะไปตักบาตรข้าวเหนียว เมื่อคืนวานฉันติดต่อขอซื้อข้าวเหนียวเพื่อนำไปตักบาตรกับพนักงานที่พูสีเกสต์เฮ้าส์นั่นเอง (เพราะอ่านเจอมาว่าถ้าไปซื้อกับแม่ค้าที่มายืนขายริมถนน ราคาจะสูงจนน่าตกใจ) พนักงานบอกว่าจะเตรียมข้าวเหนียว พร้อมกับเสื่อและผ้าสำหรับพาดไหล่ไว้ให้ ราคารวม ๑๕,๐๐๐ กีบ ( ๖๐ บาท) ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าถูกหรือแพงอย่างไร แต่ก็คิดเสียว่าเป็นการได้มีประสบการณ์ใหม่ๆ แบบหลวงพระบางกะเขาดูสักที







ตื่นเช้าออกมาตอนหกโมงเช้า มีฝนตกปรอยๆพอชื้นๆ เย็นๆ เดินออกมาเห็นชาวบ้านแถวนั้นนั่งพับเพียบเรียงรายรอจะตักบาตรอยู่ตามหน้าบ้านเป็นระยะๆ เมื่อเดินออกมาที่ถนนใหญ่ เลี้ยวไปที่กำแพงหน้าวัด อันเป็นจุดหลักที่จะมีคนมาตักบาตรกันมากเป็นพิเศษ ฉันก็เห็นกลุ่มนักท่องเที่ยวยืนอยู่หลายคนบนถนน เตรียมกล้องไว้ถ่ายภาพกิจกรรมตักบาตรข้าวเหนียวกันเต็มที่ (นับเป็นอีกหนึ่งในกิจกรรม amazing ของหลวงพระบาง)












มีกลุ่มแม่ค้าหาบกระจาดและกระบุงอีกไม่น้อยมาเดินชักชวนให้ซื้อข้าวเหนียวและขนมของเขาไปตักบาตร เมื่อเขาเห็นว่าฉันมีกระติ๊บข้าวเหนียวพร้อมอุปกรณ์ทุกอย่างครบแล้ว เขาก็เริ่มนำเสนอการขายในราคาที่ถูกมาก (เมื่อเทียบกับวันถัดมาที่ฉันเดินไปตัวเปล่าไม่มีกระติ๊บติดไปด้วย ราคาต่างกันประมาณ ๑-๒ เท่า) อย่างไรก็ดีแม่ค้าที่นี่ก็นับว่ามีอัธยาศัยดี น่ารัก พูดจาดี เมื่อฉันไม่ซื้อก็ไม่ได้แสดงอาการโกรธเคืองหรือหงุดหงิดอย่างใด แถมยังมาช่วยแนะนำอีกด้วยว่าให้ใส่บาตรยังไงบ้าง แม่ค้าบางคนก็ยังเป็นเด็กน้อย ที่หาเวลาช่วงเช้าก่อนเข้าเรียนมาช่วยที่บ้านขายของ

การตักบาตรที่นี่อลังการมากในแง่ของจำนวนพระและเณรที่มาบิณฑบาต เพราะมีพระและเณรรวมกันประมาณ ๓๐๐ องค์ ภาพพระเณรในจีวรสีส้มสดใสเดินมาเป็นสายเป็นหมู่คณะนั้นงดงามมาก การตักบาตรข้าวเหนียวต้องอาศัยเทคนิคความว่องไวและคล่องตัวมิใช่น้อย เพราะพระท่านจะไม่หยุดเดินแม้เมื่อมาถึงหน้าเรา ท่านจะชะลอฝีเท้าเล็กน้อย พร้อมกับแง้มฝาบาตรเพื่อรับข้าวเหนียว เราต้องรีบหยิบข้าวเหนียวปั้นน้อยๆ หยอดใส่บาตรโดยเร็วก่อนที่ท่านจะเดินผ่านไป หากผ่านแล้วก็ผ่านเลยไม่ย้อนกลับมาอีก ส่วนเรื่องการให้ศีลให้พรนั้นพระท่านจะให้ตอนที่ญาติโยมนำอาหาร(กับข้าว) ไปถวายจังหันที่วัดอีกที



ในที่สุดฉันก็พบอาคารเก่าหลังนั้นที่ตั้งใจตามหาอยู่ตรงหน้าบริเวณที่ใส่บาตรข้าวเหนียวนั่นเอง ดูเหมือนว่าอาคารจะได้รับการดูแลบูรณะอย่างดี และได้ถูกปรับเปลี่ยนเป็นร้านขายภาพถ่ายและภาพเขียนบรรยากาศเก๋ไก๋ไปแล้ว





เสร็จจากใส่บาตร แล่ก็พาเดินชมบ้านเมืองตอนเช้า เดินเลาะริมโขงเพื่อตรงไปยังตลาดเช้าหลังวัดใหม่ ตลาดเช้าที่นี่มีสินค้าหลากหลายมาก โดยเฉพาะสินค้าพื้นเมืองและอาหารท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น รังต่อที่ยังมีตัวต่ออ่อนๆ กบ นก งู ค้างคาว เห็ดดิน ปลา ผักผลไม้ เสื้อผ้า ฯลฯ นับเป็นตลาดที่มีชีวิตชีวา และExotic มาก เดินสวนกับเด็กน้อยที่มาขายดอกไม้สำหรับใส่บาตรเมื่อเช้าด้วย เธอหันมายิ้มทักทาย เพียงแต่ในตอนนี้ในมือเด็กน้อยไม่มีดอกไม้ แต่มีผักสดห่อใหญ่ นัยว่าคงจะซื้อกลับไปที่บ้าน แล่แวะซื้อข้าวจี่จื่นชิ้นละ ๘ บาทในตลาด ท่าทางน่าอร่อย



ฉันกับแล่เดินมาเจอร้านขายข้าวปุ้น (ขนมจีน) ข้าวซอยและเฝอ ข้างทาง จึงแวะกินอาหารเช้ากันที่ร้านนั้น รสชาติอร่อยดี แล่บอกว่าเขามาหลวงพระบางทีไรเขาจะกินแต่ข้าวซอย เพราะข้าวซอยที่นี่อร่อยและมีรสชาติเป็นเอกลักษณ์แบบหลวงพระบางที่หากินที่อื่นไม่ได้







เสร็จจากมื้อเช้า เราก็พร้อมจะไปตะลุยเมืองหลวงพระบางกัน ฉันบอกแล่ว่า นอกจากกล้องแล้วฉันเตรียมอุปกรณ์ กระดาษและสีมาวาดรูปวัดด้วย เช้านี้เราเลยไปตั้งต้นกันที่วัดใหม่ที่แล่พักอยู่นั่นล่ะ วัดใหม่เป็นวัดที่อยู่ตรงข้ามกับพระธาตุพูสี ฝั่งเดียวกับวังเจ้าชีวิต วัดนี้มีสถาปัตยกรรมงดงาม ฝีมือการวาดและปั้นลายปูนลงรักปิดทองอันวิจิตรที่สิมนั้นเป็นฝีมือของเพี้ยตัน ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติของลาว



เช้านี้ที่วัดมีงานแห่สมโภชสมุดใบลานด้วย เป็นงานที่จะจัดก็ต่อเมื่อมีการเขียนจารพระไตรปิฎกบนใบลานโดยได้รับการสนับสนุนเป็นการเฉพาะจากหน่วยงานสำคัญๆ (ซึ่งก็นานๆครั้งจึงจะมี) ในครั้นนี้มีวัดได้รับการสนับสนุนจากหอสมุดแห่งชาติฯให้จัดทำการจารใบลาน มีเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศลาวมาเข้าร่วม พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากหอสมุดแห่งชาติ พระผู้ใหญ่ในแขวงหลวงพระบาง คณะครูและนักเรียนจากโรงเรียนประชาธิปไตยฯ นับว่าเป็นโชคดีของฉันที่ได้มีโอกาสมาเข้าร่วมงานนี้กับเขาด้วย ถือโอกาสพูดคุยกับเด็กนักเรียนที่มาร่วมงาน ถามไถ่โน่นนี่



เสร็จจากงานแห่สมโภชใบลานประมาณสิบโมงครึ่ง เราเดินทางต่อไปยังพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ซึ่งอดีตเป็นวังของเจ้าชีวิต นักท่องเที่ยวต่างชาติเสียค่าเข้าชม 30,000 กีบ (120 บาท) ภายในวังตกแต่งด้วยกระจกสี และภาพเขียน (ฝีมือช่างเขียนรูปชาวฝรั่งเศส) บอกเล่าวิถีชีวิตของคนลาวในอดีตอย่างวิจิตร มีห้องออกว่าราชการ ห้องรับรองอาคันตุกะ ห้องบรรทมของเจ้าชีวิตและมเหสี และจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ในอดีตของกษัตริย์ น่าเสียดายที่ไม่สามารถถ่ายรูปการตกแต่งภายในมาให้ชมได้เพราะเขาห้ามถ่ายภาพทุกชนิด


จากนั้นแล่พาเดินลัดเลาะไปตามถนนและซอกซอยต่างๆ เพื่อให้ชมอาคารบ้านเรือนที่มีทั้งเก่าและใหม่ อาคารที่นี่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานทั้งแบบลาว จีนและยุโรป (ยุคโคโลเนียล) แม้อาคารที่สร้างใหม่ก็มีข้อบังคับว่าต้องสร้างตามแบบของเก่า เพื่อให้เกิดความสวยงามกลมกลืนกันสมกับเป็นเมืองมรดกโลก



ข้อดีของข้อบังคับแบบนี้คือ ทำให้ไม่มีอาคารสูงในเขตตัวเมืองหลวงพระบางเลย อาคารหลายหลังได้รับการบูรณะดูแล ตกแต่ง และออกแบบอย่างสวยงาม ถนนหนทางสะอาดสะอ้านดี แม้แต่หมาข้างถนนก็ไม่มีให้เห็น มีเกสต์เฮ้าส์เรียงรายบนถนนเส้นต่างๆนับสิบๆหรืออาจจะนับร้อยแห่ง จึงเข้าใจได้ว่าทำไมหยีจึงบอกว่าไม่ต้องจองที่พักล่วงหน้า ให้ไปหาเอาดาบหน้าก็ได้ ไม่ต้องกลัว








เดินชมอาคารบ้านเรือนสักพักก็ชักจะหิว ฉันบอกว่าอยากจะลองกินเอาะหลาม ซึ่งเป็นอาหารถิ่นของที่นี่ เอาะหลามสูตรหลวงพระบางต้องใส่ไม้สะค้าน ทำให้มีรสและกลิ่นเฉพาะท้องถิ่น แล่พาไปกินข้าวเที่ยงที่ร้านบรรยากาศดีข้างวัดซึ่งเขารับรองว่าอาหารอร่อยรสชาติดี

เราสั่งน้ำบักไม้ (ผลไม้) ปั่นมาชิม น้ำผลไม้ปั่นสูตรหลวงพระบางทุกชนิดจะต้องใส่กระทิเป็นสูตรเอกลักษณ์ของที่นี่ แล่เล่าว่าอาหารหลวงพระบางจะออกหวานและนิยมใช้กระทิเป็นส่วนประกอบในการปรุง ซึ่งเป็นรสและการปรุงแบบชาววังเสร็จจากมื้อเที่ยงเราก็เริ่มเดินชมวัดกัน วัดที่นี่สวยทุกวัด รั้วอยู่ติดๆ จนบางทีฉันก็ดูไม่ออกว่าเป็นคนละวัดกัน เราเดินเข้าวัดนั้นทะลุออกวัดนี้กันเป็นว่าเล่น ในช่วงออกพรรษานี้ทุกวัดจะมีการจัดทำโคมไฟสีและเรือไม้ไผ่ติดโคมไฟ เพื่อร่วมฉลองเทศกาลประเพณีออกพรรษา เราจะเห็นพระและจั่วตัวเล็กตัวน้อยช่วยกันนั่งเหลาไม้ไผ่ ตัดกระดาษติดโคมกันทุกวัดเลยทีเดียว สอบถามได้ความจากแล่ว่า รัฐบาลมีประกาศข้อบังคับให้ทุกวัดในเขตเมืองหลวงพระบางทำโคมและทำเรือไฟ (เรือบก) เพื่อร่วมฉลองงานบุญประเพณี

ในตอนบ่ายฝนเริ่มตกพรำอีกครั้ง เรารีบเดินไปให้ถึงวัดเชียงทองที่อยู่สุดปลายแหลมใกล้ๆกันกับบริเวณที่สายน้ำโขงมาสบกันกับสายน้ำคาน วัดเชียงทองเป็นอีกวัดในฝันที่จะต้องมาเยือนให้ได้ของฉันเลยทีเดียว งานปูนปั้น ลายลงรักปิดทอง และภาพกระจกสีบนฝาผนังที่นี่มีชื่อเสียงมาก โดยเฉพาะภาพต้นไม้กระจกสีบนพื้นปูนสีส้มบนผนังที่หลังสิมนั้นจะปรากฎอยู่ในหนังสือท่องเที่ยวหลวงพระบางทุกเล่มที่คุณอ่าน ฉันใช้เวลาถ่ายภาพและนั่งวาดรูปในวัดนี้ร่วม ๒-๓ ชั่วโมง โรงเมี้ยนโกศ (รถเก็บรถในพระราชพิธีของเจ้าชีวิต) ที่นี่สวยงามและมีชื่อเสียงเช่นกัน ภาพนูนต่ำลงรักษ์ปิดทองเรื่องรามเกียรติ์ที่ฝาผนังเป็นฝีมือของเพี้ยตัน ศิลปินคนสำคัญของลาว





จากวัดเชียงทอง แล่พาฉันเดินไปดูท่าเรือข้างวัดที่อยู่ในหนังรักเรื่องดังขวัญใจคนลาวคือ เรื่อง สะบายดีหลวงพระบาง ท่าเรือที่ว่าเป็นจุดที่นางเอกกับพระเอกนัดว่าจะมาพบกันในปีถัดไป แม้จะมารอพบกันตามสัญญา แต่ทั้งคู่ก็เดินสวนกันไปสวนกันมาคนละทาง จนไม่ได้พบกันในที่สุด (เป็นตอนจบของเรื่อง) แล่บอกว่าเขาดูเรื่องนี้ไม่ต่ำกว่า ๓ รอบ เรื่องนี้คนลาวชื่นชอบกันมาก มีข่าวว่าภาคสองจะสร้างต่อมาในเร็วๆนี้


จากนั้นเราก็เดินต่อ เพื่อไปขึ้นเขาชมพระธาตุพูสีและทิวทัศน์รอบเมืองหลวงพระบางยามเย็น พระธาตุพูสีมีทางขึ้นลงหลายทาง ทางที่ฉันขึ้นไปนั้นเป็นเส้นที่อยู่ใกล้กับสายน้ำคาน จากบนพระธาตุพูสีเราจะเห็นเมืองหลวงพระบางได้รอบด้าน เห็นสายน้ำโขงและสายน้ำคานที่ไหลมาบรรจบกัน และสะพานเหล็กโบราณที่สร้างในสมัยยุคอาณานิคม จุดนี้เป็นจุดชมวิวที่มีชื่อเสียงของเมือง จนมีคำกล่าวว่า ถ้ามาหลวงพระบางแล้วไม่ได้ขึ้นไปชมพระธาตุพูสี ก็เหมือนกับยังมาไม่ถึงหลวงพระบาง



ในวันฟ้าเปิดเราสามารถมาชมพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าได้ที่นี่ บนพระธาตุพูสีมีนักท่องเที่ยวมากพอสมควร แต่ละคนล้วนเตรียมกล้องและขาตั้งมารอคอยถ่ายรูปพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า แต่น่าเสียดายวันนี้ฟ้าปิด เมฆครึ้ม ดูท่าพวกเขาจะไม่ได้ภาพอย่างที่ตั้งใจ บนพระธาตุฉันพบแมวดำหนึ่งตัวเดินไปมา มีเด็กน้อยชาวจีนเดินตามแมว ร้องมี๊มี๊ นัยว่าอยากจะเล่นกับแมว แต่ดูท่าเจ้าเหมียวจะไม่ยอมเล่นด้วยง่ายๆ มันเลยทำทีไม่ใส่ใจนั่งเฉย แล้วเดินจากไป

ค่ำนั้นเราไปเสาะหาข้าวซอยกินกัน แต่ร้านข้าวซอยปิด เราเลยต้องไปลงเอยกันที่ร้านบุฟเฟ่ต์มังสวิรัติกันอีกรอบ ที่ร้านนั้นฉันเจอกับคนแคนาดาที่เดินทางมาจากเกาะวิคตอเรียด้วย เขาเห็นเสื้อ RRU ที่ฉันใส่ก็เลยทำท่าดีใจ สอบถามใหญ่ว่าฉันมาจากไหน โลกนี้มันกลมดีจริง ทำให้นึกถึงเรื่องของ Hrach (อาจารย์ของฉันที่ RRU) เขาเดินทางไปเที่ยวเวียดนาม แล้วก็ไปเจอชาวแคนาดาคนหนึ่งยืนร้องเพลงวันคริสมาสต์กับเพื่อนๆบนถนนหน้าโรงแรมที่พัก สอบถามกันไปมาปรากฎว่าเขาเป็นเพื่อนบ้านของ Brian (เพื่อนร่วมชั้นเรียนของเรา) นึกแล้วขำดี เรื่องของ Hrach นี้จะว่าเป็นอารมณ์ขันของจักรวาลก็อาจได้กระมัง เป็นฉันเจอแบบนี้เข้าก็คงตื่นเต้นน่าดูเหมือนกัน

จบเรื่องเที่ยวกันไว้เท่านี้ก่อน  วันพรุ่งนี้จะเป็นการทำงานแวะเยี่ยมวัดต่างๆ ของแล่  เขามาติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาที่นำโดยคณะสงฆ์ในหลวงพระบาง

สวดมนต์อุทิศบุญ



ตื่นมากลางดึกตอนตี ๒.๔๕ น.(ที่รู้เพราะหันไปดูนาฬิกาหัวเตียง) พร้อมๆกับความรู้สึกว่า ไม่ได้อยู่ในห้องตามลำพัง  และมีบางอย่างรบกวน  ได้ยินเสียงแกร่กๆๆดังต่อเนื่องซ้ำๆที่เพดาน  เงี่ยหูฟังในความมืดสักพักก็ตัดสินสรุปเอาว่าเป็นเสียงแมลงบินชนเพดาน  พยายามข่มตานอนต่อ  สักพักก็เคลิ้มหลับไป มีความฝันวุ่นวายเกิดขึ้น แต่สิ่งที่จำได้คือ ในฝันนั้นเรากำลังพยายามเปิดเพลงสวด CD ธรรมะให้แม่ฟัง  ก็เถียงกันในความฝันว่าจะเปิดดังหรือเบาแค่ไหน เพราะกลัวจะรบกวนเพื่อนบ้าน  

เมื่อ CD เริ่มบรรเลงเพลงสวด  ก็รู้สึกตัวว่ากลับมานอนอยู่บนเตียงที่บ้านอีกครั้ง  แต่ครั้งนี้รู้สึกว่ามีมือสองมือมาจับที่ปลายเท้า กุมไว้ไม่ให้ขยับไปไหน ในภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่นนั้น เราก็เลยอุทิศส่วนบุญให้  พร้อมกับสวดมนต์ในใจ เริ่มด้วยบทอะระหังสัมมา ต่อด้วยบทอิติปิโสสรรเสริญพระพุทธคุณ  เมื่อเริ่มสวดมนต์มือที่กุมปลายเท้าอยู่ก็เริ่มขยับ จับปลายเท้าของเราเคลื่อนไหวหมุนวนไปมาเป็นจังหวะไปพร้อมกับบทสวด  เพื่อบอกให้รู้ว่าเขาฟังอยู่  ทันทีที่ได้มีความรู้สึกปิติเกิดขึ้นในขณะที่สวดนั้น  ก็อุทิศบุญให้แก่ผู้ที่จับปลายเท้านั้นเอง  รับรู้ได้ว่าเขาได้รับ  ถามเขาในใจว่าจะให้สวดอีกรอบไหม  ถ้าจะให้สวดอีกรอบช่วยขยับมือบอกให้รู้ด้วย  เขาก็ขยับมือจับปลายเท้าเราโยกไปมา  เราจึงเริ่มต้นสวดอีกรอบ  แต่สวดไปได้ยังไม่ทันจะจบบท ก็คลายออกจากภวังค์ภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่น  ตื่นขึ้นมาเต็มตาและยังรู้สึกได้ถึงสัมผัสที่ปลายเท้า 

น้ำตาจะไหล  เขามารอขอส่วนบุญ เพียงแค่การตั้งใจปฏิบัติเล็กน้อย เช่น การสวดมนต์ก็ช่วยให้เขาได้รับส่วนบุญได้แล้ว อันที่จริงเขามา ๒-๓ วันแล้ว (รู้สึกได้)  แต่เราพยายามไม่สนใจเพิกเฉยละเลย แถมยังเอาพระมาใส่ห้อยคอไว้ เพื่อป้องกันตัวอีกด้วย (ซึ่งก็ช่วยได้ในแง่ที่ทำให้หลับสบายขึ้น ไร้ความกังวลใจในสองวันแรก) วันนี้เขาเลยส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือแรงขึ้นเพื่อให้เรารับรู้ 
เหตุการณ์นี้ไม่ได้ทำให้รู้สึกหวาดกลัว แต่กลับรู้สึกเห็นใจ อยากจะให้ความช่วยเหลือ  ตื่นขึ้นมาน้ำตาจะไหล อยากจะนั่งสมาธิแล้วอุทิศส่วนบุญให้  แต่ละเลยการฝึกมานาน ใจก็ฟุ้งซ่านมากกว่าจะเป็นสมาธิ การละเลยปฏิบัติส่งผลให้ใจไม่ตั้งมั่นไม่มีกำลัง  แม้แต่บทสวดง่ายๆที่เคยสวดอยู่ประจำก็อาจหลงลืมได้(อย่างไม่น่าเชื่อ) จึงได้สวดมนต์ให้อีกรอบแบบตั้งใจ (เปิดหนังสือสวดมนต์ด้วย)

ช่วงหลายอาทิตย์ที่ผ่านมาเราละเลยการปฏิบัติ  เพราะความขี้เกียจและรู้สึกเหนื่อยจากภาระงานประจำ   การสวดมนต์ก่อนนอนจากเดิมที่เคยสวดอย่างตั้งใจ  หลังๆมานี้ ก็สักๆแต่ว่าสวดให้จบๆไปจะได้รีบนอน  เขาก็เลยมาเตือน 


เหตุการณ์นี้ทำให้รับรู้ว่า  การปฏิบัติของเราไม่ได้เป็นไปเพื่อเราคนเดียว  แต่เป็นไปเพื่อประโยชน์และความสุขของผู้อื่นด้วย (ทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็น)  การสวดมนต์ไม่ได้มีแค่เราคนเดียวที่ได้ยินหรือรับฟัง (แม้จะสวดอยู่ตามลำพังในห้องนอนก็ตาม) ด้วยเหตุนี้ครูบาอาจารย์จึงแนะนำว่า  ให้สวดมนต์แบบออกเสียงดังฟังชัดและตั้งใจ  เพราะมีรูปนามที่เรามองไม่เห็นมาร่วมฟังด้วย  เพราะเขาสวดเองไม่ได้  เขาปฏิบัติเองไม่ได้ เพราะฉะนั้นการสวดมนต์และการแผ่เมตตาไม่ใช่การสักแต่ว่าทำๆ ตามธรรมเนียม หรือเป็นแค่พิธีกรรมไร้ความหมาย   แต่การปฏิบัติเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อสภาวะความเป็นอยู่ สุข-ทุกข์ของรูปนามต่างๆ (ทั้งมองเห็น-และมองไม่เห็น)