Friday, July 20, 2007

Water


เป็นหนังสัญชาติอินเดียอีกเรื่องที่รับการโจษจันกล่าวขานในแวดวงคอหนัง
กำกับโดย Deepa Mehta นำแสดงโดย Seema Biswas, Lisa Ray, John Abraham, Sarala

หนังได้รับคำชมมากมายจากนักวิจารณ์ต่างประเทศ ได้รับการโหวตให้เป็นหนังที่ดีที่สุดในสิบอันดับหนังดีแห่งปี 2005 ของแคนาดา แต่กลับถูกต่อต้านและห้ามฉายในอินเดีย เพราะหนังสะท้อนสภาพชีวิตที่ถูกกดขี่ของหญิงหม้ายในสังคมฮินดูและตั้งคำถามที่ท้าทายเกี่ยวกับคำสอนในคำภีร์อุปนิษัทเรื่องเพศสภาวะและสถานะของผู้หญิงฮินดู อย่างชนิดที่คนฮินดูเองก็รับไม่ได้ เพราะมันอาจจะจริง ตรง และโหดร้ายเกินไป

เหตุการณ์ในเรื่องนี้เกิดขึ้นในช่วงรอยต่อของการเรียกร้องเอกราชของอินเดียเมื่อราวปี 1938 (เราจะได้เห็นคานธีในเรื่องนี้ด้วย) หนังเริ่มต้นด้วยการเล่าถึง Chuhyia เด็กผู้หญิงอายุ 8 ขวบที่ต้องกลายเป็นหม้ายเนื่องจากสามีที่อายุมากกว่าเธอถึง 43 ปีถึงแก่กรรม เธอแทบจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าตัวเองแต่งงานแล้ว เธอถูกจับโกนหัว ใส่ชุดขาวและส่งไปอยู่ในอาศรม (ริมแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์) ที่หญิงหม้ายทุกคนจะต้องมาอยู่ที่นี่ ที่นี้เธอได้พบกับศกุนตลาและกัลยาณีซึ่งต่อมาได้กลายเป็นเพื่อนต่างวัยที่ช่วยดูแลเธอ Chuhyia ได้เรียนรู้จักสภาพความเป็นจริงอันโหดร้ายของการเป็นหญิงหม้ายในสังคมฮินดูที่ต้องกลายเป็นขอทาน (เพราะพวกเธอจะไม่ได้รับอนุญาตให้ครอบครองทรัพย์สมบัติและเครื่องประดับใดๆจากครอบครัวเดิม) บ้างก็ต้องเป็นโสเภณี(อย่างลับๆ)เพื่อความอยู่รอด และได้รับการปฏิบัติอย่างดูถูกเหยียดหยามจากสังคมรอบข้าง เพราะถือว่าพวกเธอคือผู้นำพาความโชคร้ายมาสู่สามีของเธอ เธอเป็นสาเหตุที่ทำให้สามีเสียชีวิต

หนังเล่าเรื่องและตั้งคำถามผ่านสายตาและมุมมองของเด็กหญิง Chuhyia ในเรื่องนี้เด็กหญิง Chuhyia ตั้งคำถามกับศกุนตลาด้วยความสงสัยว่า "แล้วอาศรมของผู้ชายที่เป็นหม้ายล่ะอยู่ที่ไหน" แทนที่จะได้รับคำตอบ เธอกลับถูกหญิงหม้ายคนอื่นๆดุเอาด้วยสีหน้าตื่นตกใจว่า "คิดอย่างนี้ได้อย่างไร เพียงแค่คิดก็เป็นบาปแล้ว" ไม่มีใครกล้าตั้งคำถามในเรื่องนี้ ทุกคนต่างก้มหน้ายอมรับชะตากรรมตามความเชื่อและคำสอนในคัมภีร์อย่างมืดบอด แม้ในยุคนั้นอินเดียจะออกกฎหมายให้หญิงหม้ายสามารถแต่งงานใหม่ได้ แต่ในแง่ของการปฏิบัติและความเชื่อทางศาสนาในยุคนั้นไม่มีใครยอมรับการปฏิบัติตามกฎหมายในข้อนี้

ในอินเดียนั้นผู้หญิงฮินดูจะต้องมีชีวิตอยู่ภายใต้การปกครองของผู้ชายในสามสถานะคือ เป็นลูกสาว (อยู่ในความปกครองของบิดา) เป็นภรรยา(เป็นสมบัติของสามี) และเป็นแม่ (อยู่ในการดูแลของลูกชาย)

หากเธอกลายเป็นหญิงหม้ายก็จะมีทางเลือกให้เธอเพียงสามทางคือ 1) กระโดดเข้ากองไฟฆ่าตัวตายพร้อมศพของสามี 2) ใช้ชีวิตที่ตัดขาดจากโลกภายนอกโดยสิ้นเชิง (เข้ามาอยู่ในอาศรม) และ 3) หากทางครอบครัวของสามียินยอม ก็ให้น้องชายของสามีรับช่วงต่อ (ตกเป็นภรรยาของน้องชายสามี)

หนังเรื่องนี้ไม่สามารถถ่ายทำในอินเดียได้ หากแต่ต้องไปถ่ายทำในศรีลังกา เพราะถูกต่อต้านจากสมาคมศาสนาฮินดูในอินเดียอย่างรุนแรง แต่หนังก็ถ่ายทำออกมาได้ดี โทนหนังสวยเศร้า มุมกล้องสวยมาก เราจะสัมผัสได้ถึงบรรยากาศของวิถีชีวิตคนอินเดียเมื่อร้อยกว่าปีก่อนที่มีชีวิตผูกพันอยู่กับสายน้ำและความเชื่อความศรัทธาในศาสนาของตน (และยังคงเป็นเช่นนั้นจนทุกวันนี้ในหลายๆแห่งในอินเดีย)

เพลงประกอบภาพยนตร์เพราะมาก แม้ว่าจะฟังไม่ออกเลยสักคำเพราะเป็นภาษาฮินดีก็ตาม แต่ท่วงทำนองของดนตรีและน้ำเสียงของผู้ร้องก็สื่ออารมณ์และความหมายได้ชัดเจนพ้นไปจากถ้อยคำและภาษาใดๆ

เป็นอีกเรื่องที่ประทับใจและควรค่าแก่การดูอย่างยิ่ง แม้ว่าดูจบแล้วจะรู้สึกเศร้าและสะเทือนใจแทนผู้หญิงเหล่านั้นก็ตาม

มีข้อมูลท้ายเรื่องที่น่าตกใจก็คือ จนกระทั่งปี 2001 นี้ก็ยังคงมีหญิงหม้ายอีกราว 3 ล้านกว่าคนในอินเดียที่ยังคงต้องทนอยู่ในสภาพชีวิตเช่นนั้น ไม่แตกต่างจากหลายร้อยหลายพันปีที่ผ่านมาเลย

หมายเหตุ: ก่อนหน้านี้ Deepa Mehta เคยสร้างและกำกับหนังเรื่อง Fire และ Earth ซึ่งได้รับการโจษจันและกล่าวขานถึงไม่แพ้กันมาแล้ว (พูดถึงประเด็นเรื่องสถานะของผู้หญิงในอินเดียเช่นกัน) ฟังดูแล้วเดาว่าภาคต่อไป/เรื่องต่อไปคงต้องชื่อ Wind แน่ๆเลย จะได้ครบธาตุทั้งสี่คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ พอดีไง ว่าไหมล่ะ?

1 comment:

  1. ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆครับ

    ReplyDelete