Tuesday, July 10, 2007

เรื่องเล่าจากเพื่อนชายแดนใต้


เราได้รับ forward mail นี้มาจากพี่เล็ก มันเป็นเรื่องราวของเพื่อนคนหนึ่งชื่อ เมาะ กำลังทำงานรณรงค์เรื่องสันติภาพและการหยุดยิงที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตอนนี้เขาคิดโครงการรณรงค์ด้วยการทำสติ๊กเกอร์โลโก้หยุดยิงและสันติภาพ เพื่อให้ผู้คนที่เห็นด้วยกับแนวทางแห่งสันติฯ นำไปติดตามที่ต่างๆเพื่อชักชวนและกระตุ้นเตือนหรือสะกิดให้ผู้คนตระหนักถึงหนทางแห่งสันติวิธี เราอาจเข้าร่วมการณรงค์ครั้งนี้ด้วยได้ไม่ยาก ด้วยการประกาศจุดยืนและความเชื่อของเราในการใช้สันติวิธีแก้ปัญหาความขัดแย้ง ด้านล่างเป็นที่มาและเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจให้เมาะตัดสินใจเลือกใช้โลโก้หยุดยิง เป็นเครื่องมือในการรณรงค์ ตอนนี้ตัวโครงการกำลังอยู่ในขั้นวางแผนดำเนินงาน เชื่อว่าในอีกไม่ช้าเราคงได้เห็นโลโก้หยุดยิง/สันติภาพออกมา


ที่มาของโลโก้หยุดยิงและสันติภาพในภาคใต้ของประเทศไทย[1]


ชู๊ต (นามสมมติ) เด็กสาวชาวอะเจห์เป็นบุคคลสำคัญที่สร้างแรงบันดาลใจให้ฉัน ให้สามารถคิดวิธีการรณรงค์การไม่ใช้ความรุนแรง หรือ โลโก้หยุดยิง

ฉันพบชู๊ตโดยบังเอิญในช่วงที่ไปทำวิจัยอยู่ในประเทศอินโดนีเซียโดยทุนปัญญาชนสาธารณะ (API) จนบัดนี้ฉันยังไม่สามารถลืมใบหน้าของเด็กสาวที่ฉายแววตาอันแสนเศร้า และมักจะร้องให้ออกมาเสมอเมื่อมีใครพูดถึงเหตุการณ์เผาโรงเรียนที่เธอรัก...

เรื่องราวมากมายพรั่งพรูออกมาจากปากของเธอ พร้อมกับหยาดน้ำตาอาบแก้ม...เธอเล่าว่า...เธอต้องนอนราบบนพื้นเพราะบริเวณรอบบ้านมีการยิงกันระหว่างกลุ่มกัม (GAM-Free Aceh Movement) และรัฐบาล...

เหตุการณ์ที่เห็นผู้คนต้องอยู่ในบ้านหลบภัยในช่วงเหตุการณ์ระเบิดอย่างรุนแรง... บ้านที่ต้องสร้างขึ้นชั่วคราวสำหรับรองรับคนที่ถูกเผาบ้าน.... การสูญเสียเพื่อนสนิทชาวชวา 2 คน เพราะถูกกัมข่มขู่ให้กลับไปยังเกาะชวาเนื่องจากไม่ใช่คนอะเจห์.... และแม้แต่ชาวอะเจห์ที่ไม่สามารถพูดภาษาอะเจห์ได้ก็ยากที่จะอยู่ในอะเจห์เช่นกัน

เธอได้เปรียบเทียบช่วงชีวิตในระหว่างเหตุการณ์ความรุนแรงว่า ‘ชีวิตของเราไม่มีค่าและมีราคาถูกกว่าปลา’ (Our soul is no price and cheaper than fish) ชู๊ตเล่าให้ฟังว่าในสถานการณ์แห่งความสับสนและสังคมไร้ระเบียบเช่นนี้ ทุกคนมีสิทธิจะตกเป็นเหยื่อได้หมด ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น ทหาร หรือตำรวจ หรือกลุ่มแบ่งแยกดินแดน แต่ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือ ประชาชนที่อยู่ท่ามกลางขั้วทั้งสองนั้นถูกยัดเยียดโชคชะตาอันโหดร้ายจากทั้งสองฝ่าย

เหตุการณ์ในอะเจห์ตอนนี้ได้รับสันติภาพแล้วเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2548 หลังจากต่อสู้กันมาเกือบ 30 ปี มีคนตายและอุ้มหายมากมายเหลือคณานับ และสึนามิเองก็มีส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดสันติภาพในอะเจห์ขึ้น…

บ้านของชู๊ตสงบลงแล้วแต่บ้านของฉันกำลังจะซ้ำรอยและเป็นเช่นเดียวกับบ้านของเธอเมื่อ 30 ปีก่อน... เหตุการณ์นานวันผ่านไป....เริ่มรุนแรงขึ้นและใกล้ตัวมากขึ้นทุกขณะ...ฉันถามตัวเองอยู่เสมอว่า ฉันมีทางเลือกเช่นใดบ้างในสภาวะการณ์เช่นนี้.... ทางเลือกที่ไม่ต้องการถูกยัดเยียดโชคชะตาแห่งความเลวร้ายจากทั้งสองฝ่าย...ดังเช่นชู๊ตเคยเผชิญ...ฉันไม่อยากจะจินตนาการเลยว่า จะมีเด็ก ๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเติบโตขึ้นกลายเป็นเด็กน้อยที่แสนเศร้าอย่างชู๊ตอีกกี่คน...

อีกครั้งที่ฉันย้อนกลับไปนึกถึงระหว่างทางที่เดินสำรวจเมือง Banda Aceh… ฉันเห็นโลโก้หยุดยิงติดอยู่ท้ายรถยนต์บ้าง หน้ากระจกรถบ้าง ข้าง ๆ รถบ้าง... และเวลาที่ฉันไปซื้อของที่ระลึกในร้านก็เห็นเสื้อที่สกรีนข้อความต่าง ๆ เกี่ยวกับการไม่ใช้ความรุนแรง... ฉันรู้สึกว่าสัญลักษณ์เหล่านี้มีพลัง...แต่ก็ไม่เคยคิดว่าสักวันหนึ่งจะต้องมาขอยืมใช้บ้างในเมืองไทย...

แต่วันนี้ฉันต้องขอยืมสัญลักษณ์ดังกล่าวมาใช้บ้าง...ถึงแม้จะรู้ว่า..แค่โลโก้อันเล็ก ๆ เช่นนี้ จะไม่ได้นำมาซึ่งสันติภาพ.... แต่อย่างน้อยก็เป็นก้าวเล็ก ๆและการแสดงพลัง ....ให้กับผู้คนที่ต้องการทางเลือก... ในการที่จะได้เลือกว่า “ฉันไม่เอาความรุนแรงไม่ว่าจากฝ่ายใดก็ตาม”...



----------------------------------------------

[1] จริง ๆ แล้วมีหลายปัจจัยและบุคคลหลายคนที่ช่วยทำให้ฉันคิดถึงการใช้โลโก้เช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยในช่วงการประท้วงใหญ่... พี่ละม้าย..ก๊ะโซรยา...และการประชุมที่สงขลา...

No comments:

Post a Comment