เขียนโดย อรุณธตี รอย
แปลโดย สดใส
ตีพิมพ์โดย สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก
เพิ่งมีโอกาสได้หยิบหนังสือ เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ (God of Small Things) มาอ่านหลังจากวางทิ้งไว้บนชั้นหนังสือนานนับเดือน ได้หนังสือเล่มนี้มาในฐานะของกำนัลจากเพื่อนผู้เป็น บ.ก.อยู่ที่สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก (ประมาณว่าเล่นเส้น) หาไม่แล้วข้าพเจ้าคงไม่มีโอกาสอ่าน เพราะเขาตีพิมพ์แค่ 1000 เล่มเอง (นัยว่ากะจะให้เป็นหนังสือหายากกระมัง)
หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องราวของโศกนาฎกรรมชีวิตอันแสนขมปนหวานขื่น ภายในครอบครัวของคู่แฝดสองคน คือ ราเฮลและเอสธา คู่แฝดที่เกิดจากไข่คนละใบ หน้าตาไม่เหมือนกันสักนิด แต่มีความผูกพันกันทางจิตวิญญาณและอัตลักษณ์อย่างลึกซึ้ง เช่นว่า คืนหนึ่งราเฮลเคยตื่นขึ้นมาหัวเราะขบขันให้กับความฝันสนุกๆของเอสธา หรือ สัมผัสได้ถึงรสชาติของแซนด์วิชมะเขือเทศ - แซนด์วิชของเอสธา - ที่เขากินบนรถไฟขนส่งไปรษณีย์สู่เมืองมัทราส
ฉากของโศกนาฎกรรมเรื่องนี้เกิดขึ้นในรัฐเคราลา ทางตอนใต้ของอินเดีย (เป็นบ้านเกิดของ อรุณธตี รอย ผู้เขียน) ดินแดนที่ชุ่มฉ่ำเขียวชะอุ่มและแสนจะชื้นแฉะในฤดูมรสุม
เรื่องราวทั้งหมดถูกบอกเล่า และรื้อฟื้นผ่านมุมมองและสายตาของฝาแฝดทั้งสอง
ดูเหมือนว่าโศกนาฎกรรมของครอบครัวและฝาแฝดในเรื่องนี้ จะเปิดฉากเริ่มต้นขึ้นนับตั้งแต่การตายจากไปของ โซฟี โมล ลูกพี่ลูกน้องวัยเก้าขวบของพวกเขา
แล้วเรื่องราวต่างๆ ก็ถูกรื้อฟื้น ย้อนไปจนถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของครอบครัว ความบาดหมางลึกๆในชีวิตคู่ของตา-ยาย ความไม่สมหวังในความรักในวัยสาวของป้า ที่ไปหลงรักบาทหลวงเข้า และตัดสินใจอยู่เป็นโสดมาจนถึงบัดนี้
จนกระทั่งมาถึงเรื่องราวของมารดาคู่แฝด ที่อาจหาญฝ่าฝืนจารีตประเพณี ด้วยการหนีไปแต่งงานกับชายที่เพิ่งจะพบหน้าไม่นาน และอาจหาญที่จะหย่าร้างกับเขา เมื่อพบว่าชีวิตการแต่งงานกับชายขี้เหล้านั้นแสนจะบัดซบ เมื่อซมซานกลับมาบ้านพร้อมลูกแฝดสองคน ก็กลับไม่ได้รับการต้อนรับจากครอบครัว และได้รับการปฏิบัติราวกับเธอไม่มีตัวตน หรือเป็นเพียงชนชั้นสองของครอบครัว
แต่ที่ร้ายไปกว่านั้นคือ เพราะความรู้สึกอ้างว้างโดดเดี่ยว เธอจึงได้มีความสัมพันธ์กับคนงานภายในบ้านซึ่งถือว่าเป็นชนชั้นต่ำ เธอถูกลงโทษและถูกประณามจากครอบครัวและสังคมรอบข้างอย่างรุนแรง เธอมีชีวิตอยู่อย่างยากลำบากจนกระทั่งเสียชีวิตจากไปในที่สุดด้วยวัย 31 ปี ดังที่ราเฮลคำนึงถึงการตายในวัยนี้ของมารดาว่า
"ไม่สาว ไม่แก่ แต่แก่พอจะตายได้"
ฝาแฝดทั้งคู่ถูกจับแยกห่างออกจากกันนับตั้งแต่พวกเขาอายุเจ็ดขวบ และได้ย้อนกลับมาพบกันอีกครั้งเมื่ออายุ 31 ปี ต่างได้พานพบเรื่องราว และประสบการณ์ซึ่งได้หล่อหลอมพวกเขาให้เป็น อย่างที่เป็นอยู่ ต่างมีบาดแผลร้าวลึกซ่อนอยู่ภายในจิตวิญญาณ
ราเฮลกลายเป็นคนที่ดูราวกับไม่แยแสสนใจสิ่งใด ใช้ชีวิตไปอย่างเรื่อยเปื่อย ในขณะที่เอสธา กลายเป็นคนเงียบงัน เบื้อใบ้ ราวกับว่าคำพูดทั้งปวงที่สูญหายไปจากชีวิตของเขาเสียสิ้น ทว่าทั้งคู่ยังคงมี ความทรงจำ มีดวงตาที่มองเห็นความงาม และความเป็นไปของโลก
หนังสือสอดแทรก ร้อยเรียง ประเด็นทางการเมือง สังคม วัฒนธรรม ศาสนา วิถีชีวิต ความเชื่อ และทุกสิ่งประดามีในจักรวาลนี้เข้าด้วยกันเอาไว้ได้อย่างงดงาม กลมกลืน ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นสิ่งละอันพันละน้อยน้อยเพียงใดก็ตาม แต่เราจะสัมผัสรับรู้ได้ถึงการดำรงอยู่ของมันได้อย่างมีชีวิตชีวา
แม้หนังสือเล่มนี้จะเป็นโศกนาฎกรรม แต่มันก็มีความตลกขบขันและความสดใสแบบซื่อๆของเด็กๆสอดแทรกอยู่ตลอดทั้งเรื่อง แม้จะเศร้าแต่เราก็ยังอมยิ้มไปกับตัวละครเหล่านี้ได้
ประทับใจกับภาษาที่ใช้ในเรื่องนี้อย่างยิ่ง ภาษาเพราะมาก ต้องชื่นชมผู้แปลคือ อ.สดใส มีความเชี่ยวชาญและใช้ภาษาได้อย่างสุนทรีย์ดื่มด่ำ เข้มข้น ช่างทำให้เราเห็นภาพได้ชัดและงามนัก เราจะสัมผัสได้ถึงกลิ่น รส เสียง ผัสสะ อายตนะทั้งหมดของเราจะตื่นฟื้นขึ้นด้วยถ้อยคำเหล่านั้น อ่านหน้าแรกก็ชอบเลย ดังตัวอย่างในบางตอนที่จะยกมาให้ชิมกัน
"เดือนพฤษภาที่อเยเมเน็ม อากาศร้อนชื้น อบอ้าวนาเซาซึม แต่ละวันช่างยาวนาน น้ำในแม่น้ำค่อยๆลดระดับ มะม่วงยืนต้นนิ่ง ใบเขียวเคล้าฝุ่น ฝูงการุมสวาปามผลผิวมันปลาบของมัน กล้วยแดงสุก ขนุนปริ แมลงวันหัวเขียวเมามึน กรีดปีกอื้ออึงอยู่กลางบรรยากาศอวลกลิ่นผลไม้ สุดท้ายบินชนกระจกหน้าต่าง ตายสนิทอยู่กลางแดด"
หรืออีกตอนหนึ่งที่ว่า
" ...เอสธัปเปนกับราเฮลได้เรียนรู้แล้วว่าโลกมีวิธีอื่นที่จะทำลายมนุษย์ได้ พวกเขาคุ้นเคยกับกลิ่นนี้ดี หวานอมขม เหมือนดอกกุหลาบแก่เก่ากลางสายลม"
หนังสือเล่มนี้โด่งดังมาก (อันที่จริงเขาเขียนออกมาตั้ง 10 ปีแล้วเห็นจะได้ แต่บ้านเราเพิ่งจะมีโอกาสได้นำมาแปล) เป็นหนังสือนวนิยายเล่มแรกและเล่มเดียว ที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ อรุณธตี รอย ผู้เขียน เธอได้รับรางวัล Booker Prize จากเรื่องนี้ และเรื่องนี้ได้รับการตีพิมพ์และแปลเป็นภาษาต่างประเทศแล้วกว่า 30 ภาษาทั่วโลก
ขอยกบางตอนของคำวิจารณ์มากล่าวปิดท้ายไว้ดังนี้
"จุดเด่นของนวนิยายเรื่อง The God of Small Things นอกจากการสร้างตัวละครแต่ละตัวอย่างละเอียดล้วงลึก และความสมเหตุสมผลของการผูกเงื่อนชะตากรรมของตัวละครอย่างแน่นหนาแล้ว ยังอยู่ที่วิธีการเล่าเรื่องที่ตัดสลับไปมาระหว่างอดีตกับปัจจุบัน และการใช้ภาษาอันอุดมด้วยจินตภาพ ทั้งแสง สี เสียง กลิ่น รส การใช้ภาพพจน์อุปมา อุปลักษณ์ และสัญลักษณ์ อย่างแพรวพราว แปลกใหม่ และไม่จำกัด จนกล่าวได้ว่า อรุณธตี รอย นักเขียนสตรีชาวอินเดียผู้นี้ เป็นสถาปนิกแห่งถ้อยคำ"
วิจารณ์โดย รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ นักวิจารณ์วรรณกรรม, รศ.ประจำภาควิชาภาษาไทย ม.รามคำแหง
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
เผอิญได้ฟังเพลงนี้ ไม่รู้ว่ามันเกี่ยวกันรึเปล่า
ReplyDeletehttp://www.youtube.com/watch?v=0A9r3AyWMmI&feature=related