Sunday, September 23, 2007
ไปเจอเพื่อนเก่า
Friday, September 21, 2007
คุยกับเพื่อนเก่า: นักปีนเขา
แต่ถึงอะไรๆจะเปลี่ยนไปแค่ไหน เขาก็ยังน่ารักเหมือนเดิม เหมือนตอนที่ได้เจอกันเมื่อหลายปีก่อน (ตอนนั้นทำโครงการภาวนาของหมู่บ้านพลัมด้วยกัน) เขาบอกว่าเขาเป็นคนที่คุยเรื่องมีสาระได้ไม่เกิน 5 นาที (ฮ่า) เราละอยากเข้าไป sit in ในชั้นเรียนของเขาเสียนี่กระไร ท่าทางจะสนุกดี ชอบนักเชียวอาจารย์ที่พูดสาระได้ไม่เกิน 5 นาทีเนี่ย
เราคุยกันหลายเรื่อง มีทั้งเรื่องการทำงาน ความเป็นไปของสภาพชีวิต มิตรสหาย ฯลฯ แต่มีอยู่เรื่องหนึ่งที่เรารู้สึกว่าน่าสนใจ ก็คือ เราถามเขาว่า เขาเรียนมาทางด้านวิศวะตลอดตั้งแต่ป.ตรี แต่อะไรทำให้เขาหันมาสนใจด้านจิตวิญญาณ การพัฒนาด้านใน ชีวิตและการทำกิจกรรมเพื่อสังคมล่ะ
(ขอบอกก่อนว่าเพื่อนเราคนนี้ ตัวอยู่วิศวะก็จริง แต่ใจนะไปปฏิธรรม + ช่วยเหลือสังคมเรียบร้อยแล้ว หาตัวเขาที่คณะไม่ค่อยเจอหรอก -- เขาบอกว่ามันเป็นวิทยายุทธขั้นสูง ที่ต้องฝึกฝนอยู่สักหน่อย ---หมายถึงการหายตัวไปโดยไร้ร่องรอยจากห้องทำงาน เพื่อไปทำอะไรบางอย่างที่ตนเองชอบและสนใจโดยไม่ก่อให้เกิดความกระทบกระเทือนต่อสถานะและการทำงานน่ะ)
เพื่อนบอกว่า ก็เพราะมันเกิดความทุกข์ครั้งใหญ่ในชีวิต จนแทบจะเอาตัวไม่รอด ตอนเรียน ป.เอกน่ะสิ (เขาได้ทุนไปเรียนป.เอกสาขาวิศวะฯ ที่เยอรมัน) รู้สึกท้อแท้มาก เขาเกิดคำถามหลายอย่างกับชีวิต ว่า "เรากำลังทำอะไรอยู่ ? ทำไมเราต้องมาทำอะไรแบบนี้ให้ทุกข์ทรมานด้วย? ทำไมเราต้องมาดิ้นรนไขว่คว้าปีนป่ายภูเขาสูงแบบนี้ด้วย? นอนอยู่กับบ้านเฉยๆก็ได้ ไม่สบายกว่าหรือ ? ฯลฯ"
ความทุกข์ที่ไม่อาจหาคำตอบได้จากสิ่งที่ทำอยู่ ผลักดันให้เขาหันหน้าเข้าหาการปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง
การปฏิบัติธรรม ทำให้เขาเห็นแง่มุมอะไรบางอย่างในชีวิต เห็นคำตอบบางประการที่เขาละเลยไป ทำให้เขาพบกับความสุขสงบภายใน เกิดการปล่อยวางมายาคติบางอย่างลงไปได้
ในที่สุดเขาก็สามารถกลับมาปีนเขาลูกนั้นได้อีกครั้ง อย่างสนุกสนานและมีความสุขมากกว่าเดิม เขาบอกว่าภูเขาลูกนั้นที่เคยดูว่าแสนจะชันนั้น มันก็เหมือนจะไม่ชันเท่าเมื่อก่อนแล้ว ในที่สุดเขาก็พิชิตเขาลูกนั้นได้ (เป็นภูเขาอีกลูกหนึ่งที่สำคัญและสุดแสนจะท้าทาย ในบรรดาเทือกเขาสูงทั้งหมด ที่เขาจะต้องเผชิญในชีวิต)
เมื่อมุมมองชีวิตเปลี่ยน สิ่งต่างๆภายนอกก็ดูเหมือนจะเปลี่ยนไปด้วย หรือพูดในอีกแง่หนึ่งว่า เมื่อตัวเราเปลี่ยน ทุกสิ่งภายนอกก็ดูเหมือนจะเปลี่ยนตามไปเองโดยธรรมชาติ (ทั้งๆที่ในสายตาของคนอื่น มันอาจจะดูเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลงเลย)
อันที่จริงแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่าง/ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต ไม่ได้ดีหรือเลวโดยตัวมันเอง แต่มันดี/เลวโดยการตัดสินจากมุมมองของตัวเราต่างหาก เมื่อมุมมองเปลี่ยน สิ่งที่เคยสุดแสนจะเลวร้ายในอดีต อาจกลับกลายเป็นพรอันแสนประเสริฐของชีวิตก็ได้ จากที่เคยก่นด่าประณามเหตุการณ์ต่างๆสารพัด(ที่เรารู้สึกว่ามันแสนจะเลวร้าย และไม่อยากให้มันเกิดขึ้นเลยในชีวิตของเรา) เราอาจจะกลับกลายเป็นการขอบคุณอย่างสุดซึ้งต่อเหตุการณ์เหล่านั้น ที่มันได้เกิดขึ้นในชีวิตของเราก็ได้
อาจารย์ทางธรรมของเราเคยกล่าวว่า แท้จริงไม่มีอะไรเลยสักอย่างเดียวที่เป็นสิ่งเลวร้าย ทุกอย่างเกิดขึ้นและเป็นไปในวิถีทางของมันอย่างสมบูรณ์แบบ ทุกอย่างมีเจตจำนงที่ดีงามและยิ่งใหญ่แฝงอยู่เบื้องหลัง
เมื่อไรก็ตามที่คุณภาพภายในจิตใจของเราเติบโตขึ้น เราจะสามารถมองเห็นและสามารถขอบคุณกับทุกสิ่งและทุกเหตุการณ์ในชีวิตได้อย่างเบิกบาน (ไม่ว่าสิ่งนั้นจะดูแย่หรือเลวร้ายมากมายเพียงใดในสายตาของคนอื่นๆ) เพราะเรารู้ว่าแท้จริงแล้วทุกอย่างล้วนเกิดขึ้นอย่างมีเหตุผลและสมบูรณ์แบบในวิถีทางของมัน
ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา ล้วนเป็นไปเพื่อตอบสนองต่อวาระแห่งการเติบโตทางจิตวิญญาณของเรา ในวิถีทางอันแสนเฉพาะเจาะจงและสุดพิเศษ เพื่อตัวเราโดยเฉพาะ (เส้นทางนี้จะไม่มีวันซ้ำกับของใคร--และไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นโดยบังเอิญ)
เพราะฉะนั้นขอให้ขอบคุณต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิต (ไม่ว่ามันจะดูเลวร้ายเพียงไรก็ตาม เมื่อแรกเห็น) เพราะทุกเหตุการณ์ล้วนมีของขวัญล้ำค่าซ่อนอยู่ ยิ่งทุกข์นั้นใหญ่หลวงเพียงไร ของขวัญก็ยิ่งพิเศษเพียงนั้น
จนถึงตอนนี้ เพื่อนของเราก็ยังคงปีนเขาอยู่ อาจจะเป็นภูเขาลูกใหม่(ในเทือกเขาเดียวกัน) แต่เขาปีนด้วยความเบิกบาน และมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน
ขณะเดียวกันเขาก็พบว่า แท้จริงแล้วเขายังมีเพื่อนร่วมทางอีกหลายคน(แม้จะไม่มากเมื่อเทียบกับประชากรนักปีนเขาทั้งหมด) สหายเหล่านั้นล้วนปีนเขาอย่างเบิกบานเช่นกัน มันทำให้การปีนเขาสนุกขึ้นอีกมาก
อาจมีบางคนถามต่อว่า ก็แล้วทำไมต้องลำบากไปปีนเขาด้วย นอนเล่นอยู่กับบ้านไม่สบายและเบิกบานกว่าหรือ เราเองก็เคยคิด/ถามตัวเองคล้ายๆแบบนี้เหมือนกัน และเคยทดลองปล่อยให้ตัวเองนอนเล่นอยู่กับบ้านสบายๆมาแล้วพักใหญ่ๆ (โชคดี ที่ชีวิตยังมีทางเลือกให้นอนหยุดพักอยู่กับบ้านได้โดยไม่เดือดร้อนนัก)
และสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากการทำแบบนั้นก็คือ เออ...จริงชีวิตโครตสบายเลย ไม่ต้องดิ้นรนเลย นอนเล่นอยู่กับบ้านแบบนี้ช่างแสนวิเศษ (เคยฝันว่าอยากจะทำแบบนี้มาตั้งนานแล้ว)
แต่ว่าพออยู่ๆไปสักพักก็พบว่า มันก็โครตน่าเบื่อมาก มันไม่ท้าทายเอาเสียเลย เราไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ รู้สึกว่าทุกอย่างนิ่งและช้าลง รวมทั้งการเติบโตภายในของตนเองด้วย มันไม่เกิดการสร้างสรรค์อะไรใดๆที่ทำให้เรารู้สึกว่า ภาคภูมิใจและมีคุณค่ามากพอ ไม่เกิดความรู้สึกว่า "ใช่เลย นี่แหละสิ่งที่ฉันเป็น สิ่งที่ฉันทำได้ และจะทำได้ดียิ่งๆขึ้นไปกว่านี้ได้อีกด้วย โอ้ ! ชีวิตช่างแสนสนุกและท้าทาย ฯลฯ"
เราคิดว่า การหยุดอยู่กับบ้านเพื่อนอนเล่นบ้างนั้นดีสำหรับการพักผ่อนเป็นระยะๆชั่วครั้งชั่วคราว คนเราควรมีวันขี้เกียจให้กับตัวเองบ้าง การได้อยู่อยู่นิ่งๆ และช้าลง เป็นสิ่งดีสำหรับชีวิตเช่นกัน
แต่ถ้าจะพักตลอดไปก็คงไม่สนุก เพราะเราจะไม่มีวันรู้เลยว่าบนภูเขาลูกนั้น มันมีสิ่งใดรออยู่ให้เราไปค้นพบ และจะไม่มีวันรู้เลยว่า ทัศนียภาพเบื้องล่างนี้ เมื่อมองจากบนภูเขาลูกนั้นมันจะแตกต่างไปจากเดิมเช่นไร ในที่สุดเราก็เลยกลับมาปีนเขาอีกครั้ง ภูเขาลูกนั้น...
Friday, September 14, 2007
The God of Small Things
แปลโดย สดใส
ตีพิมพ์โดย สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก
เพิ่งมีโอกาสได้หยิบหนังสือ เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ (God of Small Things) มาอ่านหลังจากวางทิ้งไว้บนชั้นหนังสือนานนับเดือน ได้หนังสือเล่มนี้มาในฐานะของกำนัลจากเพื่อนผู้เป็น บ.ก.อยู่ที่สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก (ประมาณว่าเล่นเส้น) หาไม่แล้วข้าพเจ้าคงไม่มีโอกาสอ่าน เพราะเขาตีพิมพ์แค่ 1000 เล่มเอง (นัยว่ากะจะให้เป็นหนังสือหายากกระมัง)
หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องราวของโศกนาฎกรรมชีวิตอันแสนขมปนหวานขื่น ภายในครอบครัวของคู่แฝดสองคน คือ ราเฮลและเอสธา คู่แฝดที่เกิดจากไข่คนละใบ หน้าตาไม่เหมือนกันสักนิด แต่มีความผูกพันกันทางจิตวิญญาณและอัตลักษณ์อย่างลึกซึ้ง เช่นว่า คืนหนึ่งราเฮลเคยตื่นขึ้นมาหัวเราะขบขันให้กับความฝันสนุกๆของเอสธา หรือ สัมผัสได้ถึงรสชาติของแซนด์วิชมะเขือเทศ - แซนด์วิชของเอสธา - ที่เขากินบนรถไฟขนส่งไปรษณีย์สู่เมืองมัทราส
ฉากของโศกนาฎกรรมเรื่องนี้เกิดขึ้นในรัฐเคราลา ทางตอนใต้ของอินเดีย (เป็นบ้านเกิดของ อรุณธตี รอย ผู้เขียน) ดินแดนที่ชุ่มฉ่ำเขียวชะอุ่มและแสนจะชื้นแฉะในฤดูมรสุม
เรื่องราวทั้งหมดถูกบอกเล่า และรื้อฟื้นผ่านมุมมองและสายตาของฝาแฝดทั้งสอง
ดูเหมือนว่าโศกนาฎกรรมของครอบครัวและฝาแฝดในเรื่องนี้ จะเปิดฉากเริ่มต้นขึ้นนับตั้งแต่การตายจากไปของ โซฟี โมล ลูกพี่ลูกน้องวัยเก้าขวบของพวกเขา
แล้วเรื่องราวต่างๆ ก็ถูกรื้อฟื้น ย้อนไปจนถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของครอบครัว ความบาดหมางลึกๆในชีวิตคู่ของตา-ยาย ความไม่สมหวังในความรักในวัยสาวของป้า ที่ไปหลงรักบาทหลวงเข้า และตัดสินใจอยู่เป็นโสดมาจนถึงบัดนี้
จนกระทั่งมาถึงเรื่องราวของมารดาคู่แฝด ที่อาจหาญฝ่าฝืนจารีตประเพณี ด้วยการหนีไปแต่งงานกับชายที่เพิ่งจะพบหน้าไม่นาน และอาจหาญที่จะหย่าร้างกับเขา เมื่อพบว่าชีวิตการแต่งงานกับชายขี้เหล้านั้นแสนจะบัดซบ เมื่อซมซานกลับมาบ้านพร้อมลูกแฝดสองคน ก็กลับไม่ได้รับการต้อนรับจากครอบครัว และได้รับการปฏิบัติราวกับเธอไม่มีตัวตน หรือเป็นเพียงชนชั้นสองของครอบครัว
แต่ที่ร้ายไปกว่านั้นคือ เพราะความรู้สึกอ้างว้างโดดเดี่ยว เธอจึงได้มีความสัมพันธ์กับคนงานภายในบ้านซึ่งถือว่าเป็นชนชั้นต่ำ เธอถูกลงโทษและถูกประณามจากครอบครัวและสังคมรอบข้างอย่างรุนแรง เธอมีชีวิตอยู่อย่างยากลำบากจนกระทั่งเสียชีวิตจากไปในที่สุดด้วยวัย 31 ปี ดังที่ราเฮลคำนึงถึงการตายในวัยนี้ของมารดาว่า
"ไม่สาว ไม่แก่ แต่แก่พอจะตายได้"
ฝาแฝดทั้งคู่ถูกจับแยกห่างออกจากกันนับตั้งแต่พวกเขาอายุเจ็ดขวบ และได้ย้อนกลับมาพบกันอีกครั้งเมื่ออายุ 31 ปี ต่างได้พานพบเรื่องราว และประสบการณ์ซึ่งได้หล่อหลอมพวกเขาให้เป็น อย่างที่เป็นอยู่ ต่างมีบาดแผลร้าวลึกซ่อนอยู่ภายในจิตวิญญาณ
ราเฮลกลายเป็นคนที่ดูราวกับไม่แยแสสนใจสิ่งใด ใช้ชีวิตไปอย่างเรื่อยเปื่อย ในขณะที่เอสธา กลายเป็นคนเงียบงัน เบื้อใบ้ ราวกับว่าคำพูดทั้งปวงที่สูญหายไปจากชีวิตของเขาเสียสิ้น ทว่าทั้งคู่ยังคงมี ความทรงจำ มีดวงตาที่มองเห็นความงาม และความเป็นไปของโลก
หนังสือสอดแทรก ร้อยเรียง ประเด็นทางการเมือง สังคม วัฒนธรรม ศาสนา วิถีชีวิต ความเชื่อ และทุกสิ่งประดามีในจักรวาลนี้เข้าด้วยกันเอาไว้ได้อย่างงดงาม กลมกลืน ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นสิ่งละอันพันละน้อยน้อยเพียงใดก็ตาม แต่เราจะสัมผัสรับรู้ได้ถึงการดำรงอยู่ของมันได้อย่างมีชีวิตชีวา
แม้หนังสือเล่มนี้จะเป็นโศกนาฎกรรม แต่มันก็มีความตลกขบขันและความสดใสแบบซื่อๆของเด็กๆสอดแทรกอยู่ตลอดทั้งเรื่อง แม้จะเศร้าแต่เราก็ยังอมยิ้มไปกับตัวละครเหล่านี้ได้
ประทับใจกับภาษาที่ใช้ในเรื่องนี้อย่างยิ่ง ภาษาเพราะมาก ต้องชื่นชมผู้แปลคือ อ.สดใส มีความเชี่ยวชาญและใช้ภาษาได้อย่างสุนทรีย์ดื่มด่ำ เข้มข้น ช่างทำให้เราเห็นภาพได้ชัดและงามนัก เราจะสัมผัสได้ถึงกลิ่น รส เสียง ผัสสะ อายตนะทั้งหมดของเราจะตื่นฟื้นขึ้นด้วยถ้อยคำเหล่านั้น อ่านหน้าแรกก็ชอบเลย ดังตัวอย่างในบางตอนที่จะยกมาให้ชิมกัน
"เดือนพฤษภาที่อเยเมเน็ม อากาศร้อนชื้น อบอ้าวนาเซาซึม แต่ละวันช่างยาวนาน น้ำในแม่น้ำค่อยๆลดระดับ มะม่วงยืนต้นนิ่ง ใบเขียวเคล้าฝุ่น ฝูงการุมสวาปามผลผิวมันปลาบของมัน กล้วยแดงสุก ขนุนปริ แมลงวันหัวเขียวเมามึน กรีดปีกอื้ออึงอยู่กลางบรรยากาศอวลกลิ่นผลไม้ สุดท้ายบินชนกระจกหน้าต่าง ตายสนิทอยู่กลางแดด"
หรืออีกตอนหนึ่งที่ว่า
" ...เอสธัปเปนกับราเฮลได้เรียนรู้แล้วว่าโลกมีวิธีอื่นที่จะทำลายมนุษย์ได้ พวกเขาคุ้นเคยกับกลิ่นนี้ดี หวานอมขม เหมือนดอกกุหลาบแก่เก่ากลางสายลม"
หนังสือเล่มนี้โด่งดังมาก (อันที่จริงเขาเขียนออกมาตั้ง 10 ปีแล้วเห็นจะได้ แต่บ้านเราเพิ่งจะมีโอกาสได้นำมาแปล) เป็นหนังสือนวนิยายเล่มแรกและเล่มเดียว ที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ อรุณธตี รอย ผู้เขียน เธอได้รับรางวัล Booker Prize จากเรื่องนี้ และเรื่องนี้ได้รับการตีพิมพ์และแปลเป็นภาษาต่างประเทศแล้วกว่า 30 ภาษาทั่วโลก
ขอยกบางตอนของคำวิจารณ์มากล่าวปิดท้ายไว้ดังนี้
"จุดเด่นของนวนิยายเรื่อง The God of Small Things นอกจากการสร้างตัวละครแต่ละตัวอย่างละเอียดล้วงลึก และความสมเหตุสมผลของการผูกเงื่อนชะตากรรมของตัวละครอย่างแน่นหนาแล้ว ยังอยู่ที่วิธีการเล่าเรื่องที่ตัดสลับไปมาระหว่างอดีตกับปัจจุบัน และการใช้ภาษาอันอุดมด้วยจินตภาพ ทั้งแสง สี เสียง กลิ่น รส การใช้ภาพพจน์อุปมา อุปลักษณ์ และสัญลักษณ์ อย่างแพรวพราว แปลกใหม่ และไม่จำกัด จนกล่าวได้ว่า อรุณธตี รอย นักเขียนสตรีชาวอินเดียผู้นี้ เป็นสถาปนิกแห่งถ้อยคำ"
วิจารณ์โดย รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ นักวิจารณ์วรรณกรรม, รศ.ประจำภาควิชาภาษาไทย ม.รามคำแหง
Conversation with God book I
เมื่อเช้าเปิดหนังสือ Conversation with God เพื่อหาแรงบันดาลใจให้ชีวิต (พักนี้รู้สึกแย่ๆพิกล) เจอข้อความดังต่อไปนี้ (ดีจริงๆเลยน้า)
A true Master is not the one with the most students, but one who creates the most Masters.
A true leader is not the one with the most followers, but one who creates the most leaders.
A true king is not the one with the most subjects, but one who leads the most to royalty.
A true teacher is not the one with the most knowledge, but one who causes the most others to have knowledge.
And a true God is not One with the most servants, but One who serves the most, thereby making Gods of all others.
For this is both the goal and the glory of God: that His subjects shall be no more, and that all shall know God not as the unattainable, but as the unavoidable.