วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 19 ฉบับที่ 6835 ข่าวสดรายวัน
อาจารีย์ เอมชุ่มรส
การเดินทางของทีมงานรายการพันแสงรุ้ง แต่ละครั้งนอกจากจะเก็บเกี่ยวข้อมูลและประสบการณ์ เพื่อถ่ายทอดบอกเล่าเรื่องราวของพี่น้องหลากหลายชาติพันธุ์ร่วมผืนแผ่นดินผ่านสถานีโทรทัศน์ทีวีไทยแล้ว ยังเป็นโอกาสให้ได้พบเจอ เปิดใจ และเรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ ของวิถีปฏิบัติทางศาสนา ของเหล่าพี่น้องชาวกะเหรี่ยง ในประเทศไทยมีกะเหรี่ยงหลายกลุ่ม แต่กลุ่มหลักๆ คือ "กะเหรี่ยงสะกอ" หรือ "ปกาเกอะญอ" "ปกาเกอะญอ" เป็นคนไทยภูเขากลุ่มใหญ่สุดในประเทศ มีอัตลักษณ์เด่นชัดเรื่องเคารพธรรมชาติ ใช้ไม้เคารพป่าไม้ ใช้น้ำเคารพแหล่งน้ำ เพราะความอ่อนน้อมของปกาเกอะญอต่อสรรพสิ่ง ทำให้การนับถืออำนาจเหนือธรรมชาติ เป็นหลักยึดให้กับชีวิตและจิตวิญญาณของบรรพชนมานับพันปี ถ่ายทอดผ่านประเพณี พิธีกรรม คำสอน และหลักปฏิบัติในการดำรงชีวิตรุ่นแล้วรุ่นเล่า
แต่หลังจากโลกเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นสมัยใหม่ ปกาเกอะญอต้องเผชิญปัญหาในยุคล่าอาณานิคมจากตะวันตก การครอบงำจากนครรัฐสมัยใหม่ อยู่ท่ามกลางอำนาจของพม่า สยาม อังกฤษ พร้อมๆ กับการแย่งชิงทรัพยากรสินแร่และป่าไม้ ที่มีอย่างอุดมสมบูรณ์ในดินแดนบรรพชน ละแวกแม่น้ำสาละวิน และแม่น้ำเมย รวมทั้งการเดินทางมาถึงของศาสนาใหม่ๆ เช่น ศาสนาคริสต์ โดยคณะมิชชันนารี นำไปสู่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ ที่คน ปกาเกอะญอต้องคิดทบทวน และเลือกตัดสินใจในหนทางของตน
ศาสนาคริสต์เข้ามาไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ยุคแรกเป็นพิธีกรรมทางศาสนากันในกลุ่มคนต่างชาติ และค่อยๆ มีคนไทยหันมานับถือศาสนาคริสต์ในพื้นที่ต่างๆ แต่การเผยแพร่คริสต์ศาสนาไปยังผู้คนแถบเทือกเขา โดยเฉพาะในกลุ่มกะเหรี่ยงต่างๆ เกิดขึ้นในช่วง 100 กว่าปีมานี้เอง
ศาสนาคริสต์ นิกายโปรเตสแตนต์ เข้ามาถึงปกาเกอะญอในภาคเหนือ เนื่องจากความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างปกาเกอะญอฝั่งไทยกับพม่า ที่เดินทางไปมาหาสู่เหนือเขตพรมแดน ทางคณะมิชชันนารีได้เดินทางนำคำสอน การศึกษา และสาธารณสุข เข้าไปสู่ชนเผ่าห่างไกล เป็นจุดเริ่มต้นเปิดรับศรัทธาและความเชื่อใหม่ของปกาเกอะญอ
ศาสนาจารย์ซันนี แดนพงพี เลขาธิการคณะคริสตจักรกะเหรี่ยงแบ๊บติสท์ เล่าว่า การแพร่ธรรมสู่ปกาเกอะญอในยุคแรก ผ่านในรูปของนิทาน หรือกลอนของชาวกะเหรี่ยง เรียกว่า "ทา" กล่าวถึงพลังอำนาจศักดิ์สิทธิ์ เรียกว่าพระเจ้า ทำให้พี่น้องปกาเกอะญอเปิดใจ นับถือศรัทธาพระเจ้าในศาสนาคริสต์ และนำมาประยุกต์เข้ากับความเชื่อดั้งเดิมของบรรพชน ปัจจุบันปกาเกอะญอประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ นับถือศาสนาพุทธและอำนาจเหนือธรรมชาติ แต่แนวโน้มของการปรับเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ ทั้งนิกายโรมันคาทอลิก และโปรเตสแตนต์ ยังคงเพิ่มสูงขึ้น รวมกว่า 30,000 คน
ดร.ขวัญชีวัน บัวแดง ผู้เชี่ยวชาญด้านชาติพันธุ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ทรรศนะว่า ระบบศาสนาดั้งเดิมนับถืออำนาจเหนือธรรมชาติ โดยเฉพาะพิธีกรรมที่จะต้องให้ลูกหลานคนในตระกูลอยู่พร้อมหน้า มีพิธีล้มหมู เซ่นสังเวยต่างๆ พร้อมๆ กับการมาถึงของชีวิตแบบโลกสมัยใหม่ ทำให้ศาสนาดั้งเดิมเริ่มไม่ตอบสนองต่อชีวิต ปรับตัวไม่ได้ เมื่อปรับยากจึงต้องเปลี่ยนกรอบความคิดเป็นระบบใหม่ ความเป็นจริงในวันนี้คือ ทุกกลุ่มชาติพันธุ์ต้องเข้าสู่วิถีแห่งโลกสมัยใหม่
ด้านคุณยายกริปอย วัย 78 ปี แม่เฒ่าปกาเกอะญอแห่งบ้านดอกแดง อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ คนรุ่นแรกที่เปลี่ยนมาเป็นนับถือศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก เล่าถึงสาเหตุตัดสินใจครั้งสำคัญว่า
"ลูกหลานต้องเดินทางไปเรียนในเมือง ไม่สามารถกลับมาร่วมพิธีสำคัญภายในครอบครัวได้ โดยเฉพาะพิธีเอาะบกา หรือพิธีกินเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างวงศาคณาญาติ ที่สมาชิกทุกคนต้องอยู่ร่วม หากไม่ครบจะเกิดสิ่งไม่ดีขึ้นกับคนในครอบครัว อีกทั้งของเซ่นไหว้ที่ใช้ในแต่ละครั้ง เป็นค่าใช้จ่ายจำนวนมาก เมื่อมิชชันนารีเดินทางเข้ามาถึงหมู่บ้านในช่วงเกือบ 50 ปีที่แล้ว จึงตัดสินใจเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ และไม่ประกอบพิธีเซ่นไหว้ผีอีกเลย"
ถึงวันนี้ หมู่บ้านปกาเกอะญอส่วนใหญ่อยู่ร่วมกันทั้งศาสนาดั้งเดิม พุทธ และคริสต์ สำหรับปกาเกอะญอคริสต์ แม้ต้องละทิ้งการปฏิบัติด้านพิธีกรรมและความเชื่อที่เกี่ยวกับการเซ่นไหว้ผี แต่หลายพื้นที่ทางทีมงานยังได้พบการผสมผสานระหว่างความเชื่อดั้งเดิมกับพิธีกรรมของคริสต์ที่ศูนย์อบรมเด็กชาวไทยภูเขาบ้านแม่ปอน อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ทีมงานได้เห็นภาพซิสเตอร์พาเด็กๆ ไปปักไม้กางเขน และสวดภาวนาริมคันนา เพื่อให้พืชพันธุ์ออกผลงอกงามดี
ระหว่างการเดินทางสำรวจข้อมูลในพื้นที่ ทีมงานได้พบกับความแตกต่างที่อยู่ร่วมกันในงานแต่งงาน ระหว่างสตรีชาวปกาเกอะญอที่นับถือศาสนาดั้งเดิม กับหนุ่มปกาเกอะญอคริสต์ นิกายคาทอลิก ที่บ้านห้วยข้าวลีบ อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ งานจัดขึ้นที่บ้านเจ้าสาว มีขั้นตอนการไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ วิญญาณบรรพบุรุษ และดื่มเหล้าแบบพิธีดั้งเดิม แต่บาทหลวงให้ศีลและประกอบพิธีแลกแหวนแต่งงานแบบคริสต์ การอยู่ร่วมกันของคนในชุมชนเอง ถึงแม้แต่ละครอบครัวจะมีศรัทธาความเชื่อที่เคารพนับถือแตกต่างกัน แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความสัมพันธ์ในชุมชนลดลงตามไปด้วย ปกาเกอะญอคริสต์คาทอลิก หลายครอบครัวยังคงต้มเหล้าพื้นบ้าน เพื่อร่วมกันดื่มกินกับคนในชุมชนที่มาช่วยเมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว
"ชิ"สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ ปกาเกอะญอนักพัฒนารุ่นใหม่ แสดงความกังวลในเรื่ององค์ความรู้ดั้งเดิมที่อาจหายไป เช่น สมุนไพรที่เป็นภูมิปัญญาการรักษาโรคของปกาเกอะญอถูกลดค่าลงจากการรับเอายาแผนปัจจุบันเข้ามาแทนที่ หากผู้รับศาสนาไม่เข้าใจว่าการเป็นคริสเตียนที่แท้จริง คือการเติมเต็มสิ่งที่มีอยู่เดิมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น มิใช่การละทิ้งสิ่งที่เป็นสมบัติของชาติพันธุ์
"ผมอยากให้ชาวปกาเกอะญอคริสต์ที่ศรัทธาอย่างแท้จริง เป็นคริสต์ที่เกิดจากการเข้าใจคริสต์จริงๆ ถ้าเราไม่เข้าใจ ทำให้เราเป็นอะไรก็ไม่รู้ ฝรั่งก็ไม่ใช่ ปกาเกอะญอก็ไม่ใช่ ไปไม่ได้ อยู่ก็ไม่มีความสุข คนที่จะเป็นคริสต์ขอให้เป็นคริสต์แบบคนปกาเกอะญอ"เช่นเดียวกับศาสนาจารย์ซันนี แดนพงพี เลขาธิการคณะคริสตจักรกะเหรี่ยงแบ๊บติสท์ ให้ทรรศนะแทนปกาเกอะญอคริสต์ โปรเตสแตนต์ ว่า อยากให้นำการอื่อทาของคนปกาเกอะญอกลับมารื้อฟื้นใหม่ เพราะไม่ได้เกี่ยวกับศาสนา แต่เป็นวิถีชีวิตที่สามารถเล่าสู่คนรุ่นต่อไปได้
เรื่องราวของพี่น้องปกาเกอะญอนับถือศาสนาคริสต์ ถ่ายทอดผ่านรายการ "พันแสงรุ้ง" ในสารคดีชุดศรัทธาของปกาเกอะญอ ทั้งปกาเกอะญอคริสต์ นิกายคาทอลิก และโปรเตสแตนต์ มีทั้งหมด 3 ตอน วันอาทิตย์ที่ 16 ส.ค.นี้ ตอน "พลังแห่งศรัทธา" ที่สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย
Friday, August 28, 2009
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
อยากให้ทางภาคใต้เอาเป็นตัวอย่างบ้างจังแม้นับถือต่างศาสนา
ReplyDeleteแต่ปรับให้อยู่กันได้อย่างเป็นสุข ทางใต้จะได้สงบซะที หรือมีอำนาจจากใครแอบแฝงอยู่ก็ไม่รู้หึ หึ ถึงไม่สงบซะที....เฮอ
จริงแล้ว เพื่อนหลายคนทางใต้บอกว่า ประเด็นความขัดแย้งไม่ใช่ศาสนา เพราะศาสนาแม้จะต่างกันแต่สอนให้คนทำความดีเหมือนกัน ศาสนาอิสลามเองก็บอกว่าคำว่าอิสลาหรือมุสลิมนั้นแปลว่า สันติ ศาสนาพุทธก็สอนเรื่องความเมตตาและการไม่เบียดเบียน
ReplyDeleteแต่ว่า คนที่ก่อความขัดแย้งในภาคใต้นั้นพยายามใช้ศาสนามาเป็นเครื่องมือปลุกระดม และสร้างความชอบธรรมให้กับตนเองในการใช้ความรุนแรง
มีข่าวหลายกระแสบอกว่าที่ความขัดแย้งยังไม่สงบเป็นเรื่องของการรักษาผลประโยชน์และฐานอำนาจของคนบางกลุ่มในพื้นที่น่ะค่ะ อีกประเด็นคือเรื่องของการเมืองการปกครอง และโอกาสทางสังคมที่ไม่เท่าเทียมกัน