Wednesday, August 17, 2011
Tuesday, July 12, 2011
บันทึกประสบการณ์เดินสันติปัตตานี สี่วันแห่งมิตรภาพและการเรียนรู้
ฉันได้มีโอกาสไปร่วมเดินสันติปัตตานี ในช่วงวันที่ 24-27 กรกฎาคม 2553 ซึ่งเป็นระยะที่คณะเดินได้เดินทางไปถึงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในช่วงเวลาเพียง 3-4 วันของการเดินเท้าผ่านชุมชนต่างๆ เลียบเลาะชายฝั่งอ่าวไทยแถบบ่อนอก บ้านกรูด บางสะพานนั้น ฉันได้รับประสบการณ์และเรื่องราวที่น่าประทับใจหลายหลากเรื่องราวด้วยกัน
เรื่องประทับใจไม่รู้ลืมเรื่องแรกคือ อาหารเย็นมื้อแรกที่ฉันเดินทางไปถึงยังจุดพักแรมที่โรงเรียนบ่อนอกวิทยา มื้อนั้นเป็นอาหารชาวบ้านทำมาเลี้ยงคณะเดินที่โรงเรียนบ่อนอกวิทยา อาหารพื้นบ้านเรียบง่าย แต่อร่อยอย่าบอกใครเพราะความสดใหม่ของผักปลาที่ชาวบ้านนำมาประกอบอาหาร และฝีมือการปรุงรสแบบบ้านๆที่อร่อยล้ำเลิศ โดยเฉพาะปลาทูตัวเล็กๆทอดกรอบจนกินได้ทั้งตัวนั้นอร่อยเป็นที่สุด(ซึ่งหมดเกลี้ยงในเวลาอันรวดเร็ว) ชาวบ้านที่นี่บอกว่าพื้นที่ชายฝั่งบริเวณนี้เป็นหนึ่งในถิ่นที่มีปลาทูเยอะมากที่สุดในอ่าวไทย และปลาทูที่จับได้แถบนี้อร่อยที่สุดในประเทศ (ชาวบ้านเขาว่ากันอย่างนั้น) ฉันก็ไม่รู้หรอกว่าปลาทูที่นี่อร่อยที่สุดในประเทศหรือเปล่า(เพราะยังไม่เคยตามไปชิมปลาทูที่จับได้ในแถบอื่นๆจนครบทั่วทั้งประเทศ) รู้แต่ว่ามันอร่อยมากๆ สมคำร่ำลือไม่แพ้ที่ไหนๆเลย
หลังจากอาหารมื้ออร่อย เราก็มีวงคุยบอกเล่าสถานการณ์การเดินในช่วงวันที่ผ่านมาและมีการแนะนำตัวสมาชิกใหม่ที่ตามมาสมทบ รวมทั้งวางแผนการของกิจกรรมและการเดินในวันถัดไป แต่ละวันจะมีคนผลัดกันขึ้นมาเป็นผู้นำทีมเดิน ค่ำนั้นเรานอนกันที่โรงเรียน บ้างก็นอนในห้องเรียน ผอ.โรงเรียนช่วยเหลือบริการด้านที่พักให้เต็มที่ โดยเปิดห้องผอ.(มีแอร์เย็นๆด้วย)ให้พวกเราเข้าไปปูเสื่อนอนกัน แต่บางคนก็อยากจะไปนอนกางมุ้งในห้องเรียนมากกว่า (ผูกหูมุ้งกับโต๊ะเก้าอี้นักเรียนนั่นเอง) ต่างคนต่างแยกย้ายกันไปจับจองที่เหมาะๆที่อยากจะนอนกันในอาคารเรียนนั่นเอง เช้าวันถัดมาเรามีการจัดวงสานเสวนาโดยเชิญแกนนำชาวบ้านและตัวแทนภาครัฐมาพูดคุยแลกเปลี่ยนรับฟังปัญหาซึ่งกันและกัน มีตัวแทนจากศาสนาพุทธและอิสลามมาร่วมสานเสวนาด้วย ซึ่งฉันจะไม่ขอเล่าถึงประเด็นในวงสานเสวนาวันนั้น เนื่องจากฉันแอบหนีไปนั่งวาดรูปเล่นกับจ่าจ๊าสาวน้อยวัย 7 ขวบที่มาร่วมเดินด้วยพร้อมกับแม่โอ๋และพ่อพจน์ ฉันก็เลยไม่ได้อยู่ฟังอย่างตั้งใจและจดจำประเด็นใดๆไม่ได้เลย (ฮา)
เช้าวันต่อมา เราพร้อมหน้ากันในเวลาราวๆตีสี่ครึ่ง มีการออกกำลังกายบริหารยามเช้าเล็กน้อยเพื่อสร้างความพร้อมให้ร่างกาย แจกนมแจกขนมให้ทีมเดินเพื่อกินรองท้องก่อนออกเดินทาง วันนี้คณะเดินจะใช้ถนนเพชรเกษมเป็นเส้นทางหลัก เมื่อเดินออกมาจากโรงเรียนในตอนเช้ามืดท่ามกลางฝนปรอยๆ ก่อนจะเข้าสู่ถนนใหญ่เราได้ไปหยุดแวะยังบริเวณศาลาริมทางตรงปากทางแยกใหญ่ซึ่งเป็นจุดที่คุณวัฒน์ เจริญอักษร[1] ได้เสียชีวิตจากการถูกลอบยิงที่นี่ เราหยุดยืนไว้อาลัยครู่ใหญ่ๆให้กับการจากไปของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและความอยู่รอดของชาวบ้านบ้านกรูด-บ่อนอก จากนั้นเราก็ออกเดินทางต่อไปอย่างสงบเพื่อมุ่งตรงไปสู่บางสะพาน
ฉันพบว่าฉันมีความสุขกับการเดินเงียบๆอย่างยิ่ง เดินไปเรื่อยๆ ละวางความกังวลเกี่ยวกับเรื่องงาน เรื่องเรียนและภาระที่ค้างคาเอาไว้ข้างหลัง เดินโดยไม่ต้องคิดอะไร เดินมองท้องฟ้า ดูต้นไม้ เดินดูลมหายใจกับจังหวะก้าวเดินของตนเอง เดินเพื่อที่จะเดิน เมื่อมีความคิดใดๆผุดพรายขึ้นมาก็แค่รับรู้ บางครั้งก็เผลอคิดตามอย่างสนุกสนาน แต่เมื่อรู้สึกตัวความคิดก็ดับไป สำหรับฉันแล้วการเดินก็คือการภาวนาในอีกรูปแบบหนึ่ง ฉันพบว่าการได้เดินไปด้วยกันกับเพื่อนๆทำให้เรามีพลังใจที่ก้าวเดินต่อไป แม้ว่าจะรู้สึกเหนื่อยล้าหรือร้อนขนาดไหน แต่เมื่อหันไปเห็นเพื่อนๆที่กำลังเดินอยู่อย่างไม่ท้อถอย ก็ช่วยให้เราเกิดแรงฮึดที่จะเดินต่อไปด้วยเช่นกัน เพื่อนคนหนึ่งที่ฉันชอบเดินด้วยมากที่สุดคือ นภา สาวน้อยตัวเล็กผอมบางที่เวลาลมพัดมาที ก็แทบจะปลิวไปกับลม ยิ่งเวลารถสิบล้อขับสวนมาแต่ละหนนั้น ฉันร่ำๆอยากจะเข้าไปจับแขนนภาเอาไว้ เพราะเกรงว่าน้องจะปลิวไปกับแรงลมของรถสิบล้อ นภาเดินเงียบ เดินอึด เดินทน ไม่บ่นไม่เกี่ยงใดๆ และที่สำคัญคือเรามีความเป็นเพื่อนกัน แม้เราจะเดินกันไปในความเงียบ แต่ว่าฉันกับรับรู้ได้ถึงมิตรภาพระหว่างกันในความเงียบนั้น เพราะเหตุนี้กระมังจึงทำให้ฉันชอบเดินกับนภา การได้เดินเงียบๆ ไปกับเพื่อนๆ บนเส้นทางที่ทอดยาวไกลเป็นอีกหนึ่งความประทับใจของการมาร่วมเดินในครั้งนี้
มีอีกเรื่องที่ประทับใจไม่รู้ลืมคือ ในวันที่สามของการเดินนั้น ทีมเพื่อนๆที่มาเริ่มต้นเดินพร้อมกันรวมทั้งตัวฉันเริ่มมีอาการเดี้ยงกันไปต่างๆนานา ไม่ว่าจะเป็นอาการเท้าระบม มีตุ่มใสๆขึ้นที่เท้า ปวดขา ปวดเข่า ฯลฯ ซึ่งอาการเหล่านี้จะแสดงออกมาทันทีในตอนที่เราหยุดพัก แต่ถ้าเราเริ่มต้นออกเดินไปสักพักอาการก็จะหายไปหรือทุเลาลง กระนั้นอาการเดี้ยงเหล่านี้ทำให้ฉันเองก็นึกลังเลใจสงสัยตัวเองอยู่ครามครันว่าวันนี้ฉันจะเดินไหวไหม จะไปถึงจุดหมายไหม แต่พอเห็นเพื่อนๆออกเดิน ฉันก็กัดฟันบอกตัวเองว่าคนอื่นเขายังเดินไหว เราก็ไหวเหมือนกันสิน่า แล้วก็ก้าวเท้าเดินต่อไป แต่พอเข้าช่วงบ่ายของวันที่สาม ซึ่งเราเดินผ่านตัวอำเภอที่ตั้งอยู่ริมถนนใหญ่ ร่มไม้บังใบที่เคยให้ความร่มรื่นชื่นใจระหว่างการเดินทางก็หายไปเกือบหมด เหลือแต่เสาไฟฟ้าและพื้นผิวซีเมนต์อันร้อนระอุ ฉันรู้สึกทรมานมาก นับว่าเป็นช่วงการเดินที่ยากลำบากที่สุดเท่าที่ฉันเจอมาในช่วงสองสามวันนี้ ตอนนั้นรู้ซึ้งเลยว่าต้นไม้มีความสำคัญต่อชีวิตขนาดไหน นาทีนั้นขอแค่ได้เดินผ่านร่มเงาต้นไม้แม้เพียงสักต้นก็รู้สึกเหมือนกันได้ขึ้นสวรรค์กันเลยทีเดียว
ฉันมองเห็นรถกระบะที่ใช้ติดตามขบวนขับโฉบผ่านไปผ่านมาค่อยส่งน้ำให้คณะเดินและคอยเก็บตกคนที่เดินไม่ไหวระหว่างทาง ฉันมองตามตาปริบๆ ใจร่ำๆอยากจะกระโดดขึ้นรถไปให้รู้แล้วรู้รอด แต่ยังเห็นเพื่อนที่มาเดินด้วยกันเดินต่อไป ฉันก็เลยเดินต่อ แต่ตอนนั้นนภากับยุ่น (เพื่อนที่มาร่วมเดินพร้อมกัน) หายไปไหนแล้วไม่รู้ คาดว่าคงจะอยู่ช่วงท้ายๆขบวน เดินกันไปสักพัก ก็เห็นรถกระบะคันเก่าขับผ่านมาอีก แต่คราวนี้เห็นยุ่นกับนภานั่งส่งยิ้มโบกมือให้กำลังใจอยู่ในรถด้วย นาทีที่เห็นเพื่อนที่มาเริ่มต้นเดินพร้อมกันอยู่ในรถคันนั้น ใจฉันก็แป้วตกลงไปอยู่ที่ตาตุ่ม มองตามตาละห้อย พลางส่งเสียงบ่นงึมงำกับน้องโอ๋เพื่อนร่วมทางว่า “โหย มันยังต้องเดินไปอีกไกลไหมเนี่ย เมื่อไหร่จะถึงอ่ะ” แอบคิดในใจว่าอยากนั่งรถไปด้วยจังเลย รู้งี้น่าจะเลือกกระโดดขึ้นรถไปด้วยตั้งแต่แรกก็ดี น้องโอ๋(แม่ของจ่าจ๊า) พูดตอบกลับมาว่า “โถๆๆ ดูใจตัวเองไปนะพี่นะ” ว่าแล้วน้องโอ๋ก็ส่งยิ้มหวานให้แล้วก็เดินต่อไป ส่วนฉันเมื่อเจอคำตอบนี้ก็ทำเอาจ๋อยและอึ้ง แต่ก็นึกในใจว่า “เออเนอะ จริงด้วย” ว่าแล้วก็กัดฟันเดินต่อไป ในตอนแรกเรื่องนี้ออกจะเป็นประสบการณ์ที่ทุกข์ทรมาน แต่พอเดินไปจนถึงจุดหมายแล้วก็พบว่า เหตุการณ์นี้เป็นประสบการณ์ประทับใจและฮาไม่รู้ลืมจริงๆ ที่สำคัญฉันรู้สึกขอบคุณน้องโอ๋อย่างมากที่แม้จะไม่ได้ให้กำลังใจใดๆ(อย่างชัดเจน) แต่ได้ให้สิ่งที่สำคัญกว่าคือให้การเตือนสติในการเดินแก่ฉันแทน ^_^
เรื่องราวที่ทำให้ฉันรู้สึกประทับใจมากอีกเรื่องคือ การได้รับฟังเรื่องราวการรวมกลุ่มกันต่อสู้ของชาวบ้านที่นี่ ฉันนับถือในพลังใจของชาวบ้านกลุ่มเล็กๆที่รวมตัวกันต่อสู้คัดค้านโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของรัฐที่วางแผนมาเบ็ดเสร็จแล้วล่วงหน้าและได้ทุ่มงบประมาณลงมาเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ โดยไม่ได้มีการชี้แจงหรือสอบถามความเห็นใดๆจากชาวบ้านเจ้าของท้องถิ่น ฉันไม่ขอวิพากษ์ว่าโครงการนั้นดีหรือไม่ดีอย่างไร เพราะถ้ามองจากสายตาของภาครัฐโครงการนี้ย่อมดีแน่ เพราะมันย่อมนำมาซึ่งเม็ดเงินและผลกำไรมหาศาลสู่ภาคอุตสาหกรรมและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในแง่ของการลงทุนที่เพิ่มขึ้นจากต่างชาติ แต่หากมองจากสายตาของชาวบ้านที่เป็นเจ้าของชุมชน เจ้าของถิ่นอาศัย โครงการนี้ย่อมสร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อวิถีชีวิตของคนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นมลพิษทางสิ่งแวดล้อม การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ การส่งผลกระทบต่ออาชีพการประมงพื้นบ้านของชาวบ้านที่ดำเนินสืบเนื่องกันมายาวนานที่อาจจะสูญหายไป รวมไปถึงการทำลายสายสัมพันธ์ของชุมชนที่อาจจะขาดสะบั้นลงเพราะวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป
พี่หนิงหนึ่งในแกนนำที่ทำหน้าที่ศึกษาข้อมูลและผลกระทบจากการพัฒนาอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้ากล่าวว่า จริงๆแล้ว ชาวบ้านไม่ได้คัดค้านการพัฒนา ไม่ได้คัดค้านการมีโรงไฟฟ้า ชาวบ้านไม่ได้ต่อต้านความเจริญ แต่เขาคัดค้านการพัฒนาที่ทำลายสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตชุมชนต่างหาก หากพิสูจน์ได้แน่ชัดว่าการพัฒนานั้นเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเกื้อกูลต่อผู้คนในชุมชน ทุกคนก็ยินดีต้อนรับ คนนี่ที่เขามีความภาคภูมิใจในถิ่นเกิดและมีความรักความผูกพันต่อบ้านเกิดไม่น้อยไปกว่าที่ใดๆ ฉันเองก็เพิ่งรู้ว่าจังหวัดประจวบฯ มีของดีหลายอย่าง นอกจากจะเป็นถิ่นสับปะรดที่ปลูกกันมากแล้ว ก็ยังมีมะพร้าว ซึ่งชาวบ้านเขาบอกว่ามะพร้าวที่นี่มีรสชาติหวานมันอร่อยที่สุด ปลาทูสดๆเนื้อมันๆ(ดังที่ได้เล่าไปแล้ว) มีชายทะเลและหาดทรายสวยๆอีกหลายหาดที่ยังคงความเป็นธรรมชาติดั้งเดิมเอาไว้ได้ (ยังไม่ถูกรุกรานและทำลายจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมากนัก) ยังไม่นับไปถึงปลาวาฬบูรด้าที่จะปรากฏตัวให้เห็นเป็นครั้งคราวในแถบนี้อีกด้วย
ชาวบ้านเคยเสนอกับทางภาครัฐว่า หากจะเอาโรงไฟฟ้ามาลงที่นี่ขอให้เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดอย่างเช่น พลังงานลมได้ไหม หรือพลังงานอย่างอื่นที่ได้รับการพิสูจน์ยืนยันมาแล้วว่าไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และหากจะนำการพัฒนาลงมาก็ขอให้เป็นการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตชุมชนจะได้ไหม เขาไม่ต้องการให้เอาโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มาอยู่ที่หลังบ้านเขา เพราะมลพิษที่ตามมานั้นคงเกินจะรับไหว และไม่มีหลักประกันใดๆเลยว่าพวกเขาจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าว ยกเว้นแต่ว่าบรรดานายทุนจะรวยขึ้น (ดูตัวอย่างกรณีนิคมอุตสาหกรรมที่ระยองที่ยังคงมีปัญหาเรื้อรังมาจนบัดนี้ เป็นต้น) ซึ่งคำว่าคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของชาวบ้านนั้น ไม่ได้หมายถึงแค่รายได้หรือตัวเงินที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่มันหมายถึงความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เกื้อกูล การมีสุขภาพที่ดี การมีสายสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในชุมชน การเคารพวิถีชีวิตชุมชน
สำหรับฉันแล้วปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่าจนแล้วจนรอดรัฐไทย(ไม่ว่าจะรัฐบาลไหนๆ) ก็ยังคงไม่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการวางแผนพัฒนาอย่างแท้จริง ด้วยเหตุนี้นโยบายและโครงการพัฒนาของภาครัฐหลายๆโครงการจึงส่งผลให้เกิดปัญหาความขัดแย้งเรื้อรังยืดเยื้อยาวนานในที่ต่างๆของประเทศมาจนบัดนี้ และผลกระทบจากโครงการต่างๆเหล่านี้นี่เองที่เป็นเสมือนระเบิดเวลาที่รัฐบาลวางไว้กับมือในประเทศของตัวเองเพื่อรอวันให้มันระเบิดประทุออกมาทำลายตัวเองในที่สุด พี่หนิงบอกว่ากรณีปัญหาความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น คือตัวอย่างของระเบิดเวลาที่ได้ระเบิดประทุออกมาเป็นความรุนแรงแล้ว ซึ่งจนบัดนี้รัฐไทยก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ส่วนในที่อื่นๆรวมทั้งในจังหวัดประจวบฯนั้น คือระเบิดเวลาที่รอวันระเบิดออกมา ถ้าหากยังทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยังไม่สามารถหาทางออกจากความขัดแย้งนั้นได้อย่างสร้างสรรค์ และชาวบ้านที่นี่ก็กำลังพยายามส่งเสียงร้องบอกให้รัฐรับรู้และได้ยินมานานหลายปีแล้วแต่ก็ไม่รู้ว่าจนบัดนี้รัฐจะได้ยินเสียงของชาวบ้านบ้างหรือยัง
ฉันเดินทางจากมาในวันที่สี่ของการไปร่วมเดินที่จังหวัดประจวบฯ (ในช่วงรอยต่อก่อนจะเข้าสู่เขตจังหวัดชุมพร) กระนั้นการเดินทางยังคงดำเนินต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการเดินเท้าของคณะเดินที่มุ่งมั่นเดินไปจนถึงปัตตานีเพื่อเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหันมาใส่ใจกับการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการเดินทางในการต่อสู้ของชาวบ้านที่บ้านกรูด บ่อนอกและบางสะพานที่ยังคงดำเนินต่อไปเพื่อปกป้องพิทักษ์บ้านเกิดของตนเอง ไม่ว่าการเดินทางนั้นจะไปสิ้นสุดลงที่ใด แต่ฉันเชื่อว่าสิ่งที่เราค้นพบไม่ว่าจะเป็นมิตรภาพและการเรียนรู้ในระหว่างทางนั้นเองคือบทเรียนล้ำค่าและสำคัญไม่น้อยไปกว่าการบรรลุจุดหมายปลายทางเลย
ปล. เราใช้เวลาเดินเท้าราวสามวันจากบ่อนอกไปจนถึงบางสะพาน ได้พบพานสิ่งต่างๆมากมายในระหว่างทาง มีรายละเอียดของชีวิต ผู้คนและสถานที่ที่เราแวะพัก แต่ขณะที่นั่งรถกลับมานั้นใช้เวลาเพียงแค่ไม่ถึงสองชั่วโมง ทุกอย่างผ่านพ้นสายตาไปอย่างรวดเร็ว ในขณะที่นั่งรถกลับมามีความรู้สึกใจหายอย่างบอกไม่ถูก ยังไม่รู้ชัดเหมือนกันว่าใจหายเพราะเหตุใด
[1] คุณวัฒน์ เจริญอักษร เป็นหนึ่งในแกนนำชาวบ้านที่ร่วมคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าบ่อนอก การจากไปของเขาเป็นแรงผลักดันและขับเคลื่อนให้คนที่ยังอยู่ต่อสู้ต่อไปจนประสบความสำเร็จในการยับยั้งไม่ให้รัฐสร้างโรงไฟฟ้าในบริเวณนี้
Thursday, April 14, 2011
หน่ออ่อนต้นออมบู
จากหนังสือ "ฉันจะเล่าให้คุณฟัง" เขียนโดย ฆอร์เฆ่ บูกาย แปลโดย เพ็ญพิสาข์ ศรีวรนารถ
อย่างไรก็ตามชาวบ้านก็รักหมู่บ้าน จัตุรัสและต้นไม้ของพวกเขา ต้นไม้ที่ว่านี้คือต้นออมบูขนาดใหญ่ขึ้นอยู่กลางจัตุรัสพอดิบพอดี นอกจากนี้มันยังเป็นศูนย์กลางชีวิตประจำวันของชาวบ้านอีกด้วย ทุกเย็นราวๆหนึ่งทุ่มหลังเลิกงานแล้ว ชาวบ้านทั้งชายและหญิงจะนัดพบกันที่จัตุรัสแห่งนี้ ทุกคนอาบน้ำหวีผมและแต่งตัวสวยหล่อเพื่อจะมาเดินเล่นรอบต้นออมบูสักรอบ - สองรอบ
ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา คนหนุ่มสาวและพ่อแม่ของคนหนุ่มสาวต่างมาพบปะสังสรรค์กันใต้ต้นออมบูนี้ ณ ที่แห่งนั้นมีการเจรจาธุรกิจสำคัญๆ มีการตัดสินใจเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับหมู่บ้าน มีการจัดงานแต่งงาน มีพิธีรำลึกถึงผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ทุกอย่างดำเนินเช่นนี้มาหลายสิบปี
วันหนึ่งสิ่งแปลกประหลาดน่าทึ่งก็เริ่มเกิดขึ้น กล่าวคือ มีกิ่งไม้เล็กๆสีเขียวแตกออกบริเวณรากด้านข้างของต้นออมบู ใบน้อยๆทั้งสองของมันชูรับแสงแดด ต้นออมบูไม่เคยแตกหน่อเลย ครั้งนี้เป็นครั้งแรก
หลังจากอารมณ์ตื่นเต้นผ่านพ้นไปมีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดงานเลี้ยงฉลองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
แต่คณะผู้จัดงานก็ต้องแปลกประหลาดใจเมื่อรู้ว่ามีชาวบ้านบางคนไม่ได้มาร่วมดื่มฉลอง เพราะคิดว่าหน่อที่แตกออกจะนำมาซึ่งความวุ่นวาย
หลังจากนั้นไม่กี่วันหน่อที่สองก็โผล่ขึ้น เมื่อผ่านไปหนึ่งเดือนก็มีกิ่งเล็กๆสีเขียวนับรวมได้กว่ายี่สิบกิ่งแตกออกมาจากรากสีเทาของต้นออมบู
แต่แล้วความปีติยินดีของบางคน และความเพิกเฉยของคนบางกลุ่มก็คงอยู่ไม่นาน วันหนึ่งยามที่เฝ้าจัตุรัสเตือนให้ทุกคนรู้ว่าต้นออมบูเก่าแก่ต้นนี้เริ่มจะมีบางอย่างผิดปกติ ใบของมันเริ่มเหลือง เหี่ยวเฉาและร่วงหล่นลงง่ายดาย เปลือกไม้ที่เคยสมบูรณ์กลายสภาพเป็นเปลือกไม้แห้งกรอบ
คนยามวินิจฉัยว่า "ต้นออมบูกำลังป่วย มันอาจจะใกล้ตายก็ได้"
บ่ายวันนั้นเองขณะเดินเล่นในช่วงเย็น ทุกคนเริ่มถกกันถึงเรื่องนี้ บางคนเริ่มจะบอกว่าทั้งหมดเป็นความผิดของกิ่งเล็กๆ เหล่านั้น เหตุผลของกลุ่มนี้คือ ทุกอย่างเป็นปกติดีก่อนที่พวกมันจะโผล่ออกมา
ฝ่ายกลุ่มพิทักษ์หน่อก็แย้งว่าไม่เห็นจะเกี่ยวกัน หน่อที่แตกออกมาเป็นสิ่งรับประกันอนาคต หากเกิดอะไรขึ้นแก่ต้นออมบูจริงๆ
ความคิดเห็นแตกต่างนี้เป็นที่มาของการเผชิญหน้ากันของทั้งสอง คือ กลุ่มที่สนับสนุนต้นออมบู และกลุ่มที่สนับสนุนหน่อ ไม่รู้ว่าเพราะเหตุใดนับวันทั้งสองฝ่ายยิ่งทะเลาะกันหนักขึ้นและห่างเหินกันมากขึ้นทุกทีๆ ครั้นกลางคืนทั้งหมดก็ตกลงจะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมหมู่บ้านวันถัดไป ทั้งนี้เพื่อทุกคนจะได้ไปสงบสติอารมณ์กันเสียก่อน
แต่แล้วก็ไม่มีใครระงับอารมณ์ตนเองได้ เพราะในที่ประชุมวันถัดมา กลุ่มพิทักษ์ต้นออมบูซึ่งเป็นชื่อที่พวกเข้าตั้งขึ้นชี้แจงว่า วิธีการแก้ปัญหาคือกลับไปเป็นเหมือนเดิม หน่อที่เกิดขึ้นกำลังทำให้ต้นออมบูชรานั้นหมดแรงลงเรื่อยๆ พวกมันทำตัวเหมือนวัชพืช ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือกำจัดพวกมันเสีย
ด้านกลุ่มพิทักษ์ชีวิต ชื่อที่พวกเขาเลือกกันขึ้นมาเอง ฟังคำพูดเหล่านั้นด้วยอาการตื่นตระหนก เพราะได้คิดหาหนทางแก้ปัญหามาแล้วเช่นกัน ทางออกของกลุ่มนี้คือ ตัดต้นออมบูทิ้งเพราะมันสิ้นอายุขัยแล้ว หากปล่อยไว้ก็รังแต่จะแย่งแสงแดด แย่งน้ำหน่อที่เพิ่งแตกออกมาเท่านั้น ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะปกป้องต้นออมบู เพราะแท้จริง มันก็มีสภาพไม่ต่างจากต้นไม้ที่ตายแล้ว
หลังจากเถียงกัน ลงท้ายก็จบด้วยการทะเลาะวิวาท ตะโกนด่าทอ เตะต่อยกันชุลมุน ตำรวจเข้ามาสลายเหตุวิวาทแล้วสั่งให้ทุกคนกลับบ้านไปเสีย
คืนนั้นเองกลุ่มพิทักษ์ต้นออมบูประชุมกัน ลงความเห็นว่า สถานการณ์มาถึงจุดวิกฤตแล้ว ทำอย่างไรอีกฝ่ายก็ไม่รับฟังเหตุผล เห็นทีต้องลงมือจัดการเสียที ว่าแล้วพวกเขาก็คว้ากรรไกร เสียม พลั่ว มุ่งหน้าไปจัดการให้รู้แล้วรู้รอด คิดว่าเมื่อหน่ออ่อนถูกทำลายสิ้นซากการเจรจาก็ย่อมเปลี่ยนไปด้วย
พวกเขาเดินมาถึงจัตุรัสด้วยหัวใจพองโต เมื่อเข้าใกล้ต้นออมบูก็สังเกตเห็นคนกลุ่มหนึ่งกำลังสุมฟืนรอบๆต้นไม้ ที่แท้คือกลุ่มพิทักษ์ชีวิตซึ่งกำลังจะจุดไฟเผาต้นออมบูนั่นเอง ทั้งสองฝ่ายจึงเริ่มทะเลาะกันอีกแต่คราวนี้มือของพวกเขาเต็มไปด้วยความเกลียดชัง ความเจ็บปวดและประสงค์จะทำลาย
ระหว่างการทะเลาะวิวาทหน่อเล็กหน่อน้อยก็โดนเหยียบย่ำทำลาย ต้นออมบูก็โดนทำร้ายบริเวณลำต้นและกิ่งด้วย ลงท้ายคืนนั้นคนกว่ายี่สิบคนจากทั้งสองฝ่ายถูกหามเข้าโรงพยาบาล บาดเจ็บมากน้อยต่างกันไป
เช้าวันรุ่งขึ้นจัตุรัสดูแปลกตาเพราะกลุ่มพิทักษ์ต้นออมบูเอารั้วไปล้อมต้นไว้ มีคนสี่คนยืนถืออาวุธเฝ้าอยู่ด้วย ส่วนกลุ่มพิทักษ์ชีวิตก็ขุดหลุมรอบๆหน่อ เพื่อวางรั้วลวดหนามล้อมเพื่อป้องกันการบุกรุกทุกรูปแบบ
ชาวบ้านอื่นๆก็ย่ำแย่เช่นกัน แต่ละฝ่ายพยายามนำสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมาเป็นประเด็นทางการเมืองและบังคับให้ชาวบ้านเลือกข้าง ต่างหวังให้ฝ่ายตนมีผู้สนับสนุนมากกว่า ใครปกป้องต้นออมบู คือศัตรูของกลุ่มพิทักษ์ชีวิต และใครปกป้องหน่ออ่อนที่แตกออกมาก็ย่อมเกลียดกลุ่มพิทักษ์ต้นออมบูเข้าไส้
ในที่สุดทุกคนตกลงจะนำเรื่องให้ผู้พิพากษาด้านสันติภาพตัดสิน ซึ่งในเวลานั้นคือบาทหลวงของโบสถ์เล็กๆแห่งหนึ่งในหมู่บ้าน ในวันอาทิตย์ถัดไป
ประชาชนซึ่งถูกแบ่งเป็นสองฝ่ายโดยมีเชือกมากั้นไว้ต่างด่าทอกันไปมา เสียงตะโกนโหวกเหวกจนไม่มีใครฟังอะไรรู้เรื่อง
ทันใดนั้นประตูก็เปิดออก ผู้เฒ่าถือไม้เท้าเดินออกมา สายตาของทั้งสองฝ่ายคอยจับจ้อง ผู้เฒ่าอายุกว่าหนึ่งร้อยปีเป็นผู้ก่อต้ังหมู่บ้านเมื่อสมัยยังเป็นหนุ่ม เป็นคนวางผังถนนหนทาง แบ่งที่ดินให้ทุกคน และแน่นอนว่าเป็นคนปลูกต้นออมบูต้นนี้ ทุกคนเคารพท่านผู้เฒ่ามาก ท่านเป็นผู้มีวาจาแหลมคมมาตลอด
ผู้เฒ่าบอกปัดแขนที่ยื่นมาช่วยพยุง และค่อยๆเดินขึ้นเวทีอย่างยากลำบาก ท่านเอ่ยว่า
"พวกโง่เอ๊ย" ท่านพูด " พวกเจ้าเรียกตัวเองว่ากลุ่มพิทักษ์ต้นออมบู กลุ่มพิทักษ์ชีวิต--ผู้พิทักษ์อย่างนั้นรึ พวกเจ้าปกป้องอะไรไม่ได้หรอก เพราะพวกเจ้าเพียงมุ่งทำร้ายคนที่คิดแตกต่างเท่านั้น"
"พวกเจ้าไม่รู้ข้อผิดพลาดของตัวเอง ผิดทั้งสองฝ่ายนั่นแหละ" "ต้นออมบูไม่ใช่หิน มันเป็นสิ่งมีชีวิต เพราะฉะนั้นมันจึงมีวงจรชีวิตของมันเช่นกัน วงจรนั้นรวมถึงให้กำเนิดชีวิตใหม่เพื่อสืบต่อหน้าที่ของมัน นั่นหมายความว่ามันแตกหน่อ เพื่อต่อไปหน่อเหล่านั้นจะได้กลายเป็นต้นออมบูต้นใหม่"
"แต่หน่อเหล่านั้น พวกโง่เง่าเอ๊ย มันไม่ใช่แค่หน่อ มันมีชีวิต อยู่เองไม่ได้ดอก หากต้นออมบูตายไปชีวิตของต้นออมบูจะไม่มีความหมายอะไร หากให้กำเนิดชีวิตใหม่ไม่ได้"
"เตรียมตัวไว้ให้ดีกลุ่มพิทักษ์ชีวิต หมั่นฝึกซ้อมและเตรียมอาวุธไว้ให้พร้อม ไม่ช้าก็จะถึงเวลาที่พวกเจ้าจะได้เผาบ้านซึ่งพ่อแม่ของพวกเจ้าอยู่ข้างใน อีกไม่นานพวกนั้นก็จะเริ่มแก่เฒ่า และจะเริ่มเกะกะขวางทางเดินของพวกเจ้า "
"เตรียมตัวไว้ให้ดี กลุ่มพิทักษ์ต้นออมบู ซ้อมกับหน่อพวกนี้ไปก่อน พวกเจ้าต้องเตรียมพร้อมที่จะเหยียบย่ำและฆ่าลูกๆของพวกเจ้า เมื่อพวกนั้นอยากขึ้นมาแทนที่ หรืออยากมีอำนาจเหนือกว่า"
"แล้วนี่รึที่พวกเจ้าเรียกตัวเองว่าผู้พิทักษ์ สิ่งเดียวที่พวกเจ้าต้องการคือ ทำลาย แล้วก็ยังไม่รู้ตัวอีกว่า ทำลายกันไป ทำลายกันมา พวกเจ้ากำลังทำลายทุกสิ่งทุกอย่างที่ตัวเองต้องการปกป้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คิดกันให้มากสักหน่อย เหลือเวลาไม่มากนักดอก"
พอกล่าวจบผู้เฒ่าก็เดินลงจากเวทีช้าๆ ตรงไปที่ประตูท่ามกลางความเงียบของทุกคน-- แล้วก็เดินจากไป...
Tuesday, March 15, 2011
งานอาสาสมัครกับการแก้ปัญหาเชิงสันติวิธี
สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมา ก่อให้เกิดกระบวนการเคลื่อนไหวทางสันติวิธีของกลุ่มต่างๆ จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาสังคม สถาบันวิชาการ ภาครัฐและเอกชน เพื่อเรียกร้องให้ทุกฝ่ายโดยเฉพาะฝ่ายที่เป็นคู่กรณีหรือคู่ขัดแย้งใช้สันติวิธีแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของบ้านเมือง ทั้งนี้การที่จะขับเคลื่อนงานด้านสันติวิธีได้อย่างมีพลังส่งผลต่อสังคมในวงกว้างนั้นจำเป็นต้องใช้อาสาสมัครที่ใส่ใจปัญหาบ้านเมืองและมีความสนใจหรือมีศรัทธาในพลังของสันติวิธีมาร่วมขบวนการ แต่การระดมหาอาสาสมัครที่สนใจการทำงานด้านสันติวิธีนั้นไม่ง่ายนัก เพราะการเคลื่อนไหวงานด้านสันติวิธีในเมืองไทย มีทั้งจุดอ่อน-จุดแข็ง และมีเหตุปัจจัยและตัวแปรแวดล้อมที่เป็นทั้งอุปสรรคและโอกาสต่างๆหลายประการ บทความนี้มุ่งนำเสนอภาพรวมของงานอาสาสมัครด้านสันติวิธีในเครือข่ายสันติวิธี (Nonviolence Network)ในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศไทยในปี ๒๕๕๓ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โดยจะวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง ปัจจัยที่เป็นโอกาสและอุปสรรคในการทำงาน รวมทั้งข้อเสนอแนะที่จำเป็นต่อการพัฒนางานอาสาสมัครกับการแก้ปัญหาเชิงสันติวิธีใน
การเคลื่อนไหวของกลุ่มอาสาสมัครสันติวิธีมีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์และบทบาทอย่างสำคัญในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองในปี ๒๕๕๓ จากเดิมที่ต่างกลุ่มต่างแยกส่วนกันทำงานไม่มีการเชื่อมประสานกันอย่างเป็นรูปธรรมมากนักในช่วงก่อนหน้านั้น (ปี ๒๕๔๗-๒๕๕๑) ในปี ๒๕๕๓ นี้กลุ่มองค์กรภาคเอกชนและสถาบันทางวิชาการได้รวมตัวกันก่อตั้ง เครือข่ายสันติวิธีขึ้น ในวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๓ โดยกลุ่มที่รวมตัวกันเหล่านี้ประกอบด้วย ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล เครือข่ายพุทธิกา กลุ่มเยาวชนศึกษาสันติวิธี กลุ่มประชาชนผู้ไม่เอาสงครามกลางเมือง เครือข่ายหยุดทำร้ายประเทศไทย นอกจากกลุ่มต่างๆเหล่านี้แล้ว เครือข่ายฯยังมีการเชื่อมประสานการขับเคลื่อนงานกับกลุ่มภาคประชาสังคมอื่นๆ ที่เคลื่อนไหวเรียกร้องให้เกิดการแก้ปัญหาโดยสันติวิธีในช่วงเวลานั้นด้วย[1] การปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์เช่นนี้ช่วยสร้างความเป็นเอกภาพของการทำงานและเพิ่มศักยภาพในการเรียกร้องให้เกิดการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธีต่อทุกฝ่ายมากขึ้น
กลยุทธ์และรูปแบบกิจกรรม
เครือข่ายฯได้มีการปรับกลยุทธ์และรูปแบบกิจกรรมซึ่งมีหลากหลายและเข้าถึงกลุ่มต่างๆมากขึ้น กล่าวคือ มีกิจกรรมรณรงค์ต่อสาธารณชน การจัดแถลงข่าว การยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและแกนนำผู้ชุมนุม กิจกรรมสัมมนาทางวิชาการ กิจกรรมสันติอาสาสักขีพยาน กิจกรรมเพื่อนรับฟัง กิจกรรมต่างๆเหล่านี้มีวัตถุประสงค์ จุดแข็งและข้ออ่อนแตกต่างกันไปดังต่อไปนี้
กิจกรรมรณรงค์ต่อสาธารณชน และกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เช่น บิณฑบาตความรุนแรง จุดเทียนภาวนา รถไฟฟ้ามหาสติ (สันติไม่รุนแรง) ชูป้ายผ้ารณรงค์เรื่องสันติวิธี กำแพงสันติภาพ (ศิลปะเพื่อสันติภาพ) เดินเพื่อสันติปฏิบัติการหยุดฆ่า ฯลฯ เป็นมุ่งเน้นการสร้างความเข้าใจและกระตุ้นความสนใจของสาธารณชนวงกว้างเพื่อให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนของมวลชนในการกดดันไม่ให้คู่กรณีใช้ความรุนแรงต่อกัน มีจุดเด่นคือ ผู้คนทั่วไปสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้โดยไม่ต้องมีพื้นฐานความรู้ด้านสันติวิธีมาก่อน ทั้งยังเป็นการเปิดพื้นที่ให้ผู้คนทั่วไปได้มีโอกาสแสดงจุดยืนและความต้องการสันติภาพของตนให้สังคมได้รับรู้ สามารถระดมอาสาสมัครและผู้เข้าร่วมได้จำนวนค่อนข้างมาก เป็นกิจกรรมไม่มีความเสี่ยงมากนัก เพราะจัดในพื้นที่ที่ค่อนข้างปลอดภัย กิจกรรมประเภทนี้สามารถช่วงชิงพื้นที่สื่อได้ดี สื่อกระแสหลักให้ความสนใจค่อนข้างมากทำให้ประเด็นเรื่องสันติวิธีเผยแพร่ออกไปในวงกว้าง ข้ออ่อนคือสามารถสื่อสารหรือแตะเรื่องความรู้เกี่ยวกับสันติวิธีได้ในระดับผิวเผิน ไม่สามารถสร้างความเข้าใจในระดับลึกต่อสังคมเกี่ยวกับสันติวิธีได้ มีบางเสียงสะท้อนกล่าวว่ากิจกรรมทำนองนี้เป็นเพียงสีสันสร้างบรรยากาศให้ผู้คนสนใจตื่นตัว แต่ไม่สามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้อย่างจริงจัง
กิจกรรมการจัดแถลงข่าว และยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและแกนนำผู้ชุมนุม มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงจุดยืนและแนวทางของสันติวิธีต่อคู่ขัดแย้งและต่อสังคม เพื่อโน้มน้าวให้คู่ขัดแต่ละฝ่ายแย้งเลือกใช้สันติวิธีในการจัดการกับความขัดแย้ง นำเสนอวิธีการแก้ปัญหาและสถานการณ์เฉพาะหน้าด้วยสันติวิธีต่อทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นแนวทางการชุมนุมโดยสันติ หรือแนวทางการจัดการกับผู้ชุมนุมโดยสันติ การเสนอให้หยุดยิง[2] ข้อเด่นของกิจกรรมเหล่านี้คือ สามารถนำเสนอแนวทางออกด้วยสันติวิธีต่อคู่ขัดแย้งและสังคมอย่างเป็นรูปธรรม โดยเสนอทั้งทางแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และการแก้ไขปัญหาระยะยาว ทีมงานมีการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์อยู่ตลอดเวลา ข้ออ่อนคือกิจกรรมประเภทนี้มักไม่ค่อยได้รับความสนใจจากสื่อมากนัก และ การคิดและร่างข้อเสนอได้จำเป็นต้องอาศัยผู้ที่มีประสบการณ์และมีองค์ความรู้เกี่ยวกับสันติวิธีและสามารถวิเคราะห์สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในเชิงลึกและเชิงกว้าง ซึ่งอาสาสมัครที่จะทำหน้าที่นี้ได้มีไม่มากนัก การจัดแถลงข่าวหรือจดหมายเปิดผนึกที่ยื่นเสนอไปนั้นไม่มีหลักรับประกันใดๆ ว่าจะได้รับความร่วมมือหรือการตอบรับในทางที่ดีจากคู่ขัดแย้งแต่ละฝ่าย
กิจกรรมประชุมเสวนาทางวิชาการ เช่น เสวนาแผนที่ทางออกจากวิกฤตความขัดแย้งการเมืองไทย จัดขึ้นเพื่อระดมความเห็นจากนักวิชาการ นักกิจกรรมทางสังคมและผู้ที่สนใจการคิดวิเคราะห์หาทางออกจากวิกฤตความขัดแย้ง ข้อดีของกิจกรรมประเภทนี้คือ การเปิดพื้นที่เพื่อระดมความเห็นที่หลากหลายบนฐานทางวิชาการและแนวทางแก้ไขที่อาจจะเป็นไปได้ต่อสถานการณ์ความขัดแย้ง ข้อมูลที่ได้รับสามารถนำไปพัฒนาเป็นแผนปฏิบัติการ ข้อเสนอเชิงนโยบายหรือแนวทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในระยะยาวได้ต่อไป ข้ออ่อนคือ มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมไม่มากนัก สื่อกระแสหลักไม่ค่อยให้ความสนใจทำข่าวเกี่ยวกับกิจกรรมประเภทนี้มากนัก ทำให้ประเด็นหรือข้อมูลที่ได้จากเวทีเสวนาไม่ได้รับการเผยแพร่หรือสื่อสารออกไปยังสังคมวงกว้าง
กิจกรรมสันติอาสาสักขีพยาน นับเป็นหนึ่งในกิจกรรมสันติวิธีที่ท้าทายที่สุดและเพิ่งจะริเริ่มให้มีขึ้นในสถานการณ์ความขัดแย้งในสังคมไทยเมื่อไม่นานมานี้[3] กิจกรรมสันติอาสาสักขีพยาน คือ การจัดให้มีอาสาสมัครจำนวนหนึ่ง (ประมาณ ๘-๑๐ คน) เข้าไปสังเกตการณ์ในพื้นที่การชุมนุม และการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมโดยอาสาสมัครจะกระจายตัวอยู่เป็นคู่ๆตามจุดต่างๆของพื้นที่ชุมนุม และในระหว่างการสังเกตการณ์นั้น อาสาสมัครแต่ละทีมจะติดต่อสื่อสารกับทีมอาสาสมัครคนอื่นๆในพื้นที่เป็นระยะๆ และจะการรายงานสถานการณ์กลับมายังสำนักงานกลางของเครือข่ายอย่างสม่ำเสมอ ในกรณีที่สันติอาสาสักขีพยานพบเห็นพฤติกรรมของผู้ชุมนุมหรือเจ้าหน้าที่รัฐที่เสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรง อาสาสมัครจะทำหน้าที่สื่อสารแจ้งข่าวไปยังหน่วยรักษาความปลอดภัยหรือแกนนำของผู้ชุมนุมเพื่อให้จัดการระงับเหตุหรือเข้ามาตรวจสอบ
นอกจากนี้อาสาสมัครเหล่านี้ยังทำหน้าที่เป็นสักขีพยาน ในสถานการณ์ความขัดแย้งที่รุนแรงหรือเมื่อเกิดเหตุปะทะกัน และรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อสาธารณะในฐานะของฝ่ายที่สามหรือฝ่ายที่เป็นกลาง งานสันติอาสาสักขีพยานนี้ พัฒนามาจากหลักการพื้นฐานในทางทฤษฏีจิตวิทยาสันติภาพที่ว่า การปรากฏตัวหรือการแสดงตนเป็นสักขีพยานของฝ่ายที่สามหรือฝ่ายที่เป็นกลางในสถานการณ์ความขัดแย้งจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดความรุนแรง หรือการปะทะกันของคู่ขัดแย้งได้ เพราะคู่กรณีแต่ละฝ่ายจะมีความระมัดระวังมากขึ้นในการเคลื่อนไหวและการใช้ความรุนแรงอันอาจจะทำให้ตนสูญเสียความชอบธรรมในการต่อสู้ด้วยสันติวิธีได้ (ดังที่แต่ละฝ่ายประกาศตนว่าต่างก็ใช้แนวทางสันติวิธีในการต่อสู้) ข้อดีของการมีสันติอาสาสักขีพยานคือ นอกจากจะทำหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์และช่วยสื่อสารแจ้งข่าวเพื่อระงับเหตุหรือความเสี่ยงที่อาจจะนำไปสู่การปะทะกันภายในที่ชุมนุมแล้ว ยังช่วยในเรื่องของการให้ข้อมูลการเกิดเหตุในสถานการณ์ความขัดแย้งโดยไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต่อสาธารณชนได้อีกทางหนึ่งด้วย
นอกจากนี้งานของสันติอาสาสักขีพยานยังช่วยให้การขับเคลื่อนงานด้านสันติวิธีในส่วนอื่นๆ มีความหนักแน่นขึ้นเพราะมีข้อมูลจากการเฝ้าสังเกตการณ์ภายในพื้นที่ความขัดแย้งจริง และยังทำให้งานอาสาสมัครด้านสันติวิธีมีความชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้นในการเข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อคลี่คลายปัญหาความรุนแรง อย่างไรก็ตามกิจกรรมนี้มีความเสี่ยงสูง เพราะอาสาสมัครอาจจะเผชิญกับเหตุความรุนแรงในที่ชุมนุมโดยไม่คาดฝันได้ทุกเมื่อ อาสาสมัครต้องมีทักษะในการรับมือกับสถานการณ์ความรุนแรงมากพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นอ่านสัญญาณเตือนภัย การมีความรู้เกี่ยวกับอานุภาพของอาวุธสงครามชนิดต่างๆ เพื่อการป้องกันตัว อาสาสมัครต้องมีความกล้าในการเผชิญหน้ากับความเสี่ยง และมีทักษะในการทำงานเป็นทีม การรับฟัง การวิเคราะห์คัดกรองข้อมูลและการสื่อสารเพื่อลดเหตุปัจจัยที่อาจจะนำไปสู่การขยายตัวของความรุนแรง เพราะการทำหน้าที่สักขีพยานโดยขาดทักษะอาจจะนำไปสู่การขยายตัวของความรุนแรงได้โดยไม่เจตนา กล่าวคือแทนที่อาสาสมัครจะเป็นผู้ช่วยลดความรุนแรง อาจจะกลายเป็นตัวป่วน (Peace spoiler) ก่อให้เกิดความรุนแรงได้ และด้วยเหตุที่มีความเสี่ยงสูงนี่เองจึงทำให้การพิจารณารับอาสาสมัครเพื่อมาทำหน้าที่นี้ต้องมีความรอบคอบระมัดระวัง และจำกัดไว้เฉพาะผู้ที่มีประสบการณ์ในงานด้านสันติวิธี หรือมีทักษะมากพอเท่านั้น ทำให้มีจำนวนอาสาสมัครมีจำนวนจำกัดไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ และเมื่อสถานการณ์ความขัดแย้งดำเนินไปจนถึงจุดที่มีความรุนแรงเกิดขึ้นโดยไม่สามารถคาดการณ์ และไม่สามารถหาทางป้องกันหรือหาผู้ก่อเหตุได้ (เช่น กรณีเหตุระเบิด M79 ที่สถานีรถไฟฟ้าศาลาแดง หรือกรณีการลอบยิงโดยมือปืนจากระยะไกล) เครือข่ายฯ จึงตัดสินใจระงับการลงพื้นที่ของสันติอาสาสักขีพยานอย่างเป็นทางการเนื่องจากต้องการรักษาชีวิตและความปลอดภัยของอาสาสมัคร
กิจกรรมเพื่อนรับฟัง[4] กิจกรรมนี้เกิดขึ้นหลังจากที่มีเหตุปะทะกันที่บริเวณสี่แยกคอกวัวเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๓ โดยอาสาสมัครจะเดินทางไปเยี่ยมผู้ได้รับบาดเจ็บทุกฝ่ายที่โรงพยาบาล เพื่อไปรับฟังเรื่องราว ความทุกข์ ความรู้สึกและความต้องการของผู้บาดเจ็บแต่ละฝ่าย โดยอาสาสมัครจะใช้ทักษะของการสื่อสารด้วยรักและกรุณา คือ การฟังและการสะท้อนให้ความเข้าใจด้วยการละวางคำตัดสินที่มีและที่ได้ยิน เพื่อมุ่งค้นหาและทำความเข้าใจความต้องการและคุณค่าร่วมของมนุษย์ เป้าหมายของการรับฟังเช่นนี้เป็นไปเพื่อการเยียวยาจิตใจของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ความรุนแรงในเบื้องต้น เพื่อให้อาสาสมัครได้เรียนรู้ที่จะเข้าใจและเห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ในตัวคู่ขัดแย้งทุกฝ่าย และในกรณีที่ผู้ได้รับบาดเจ็บยินยอมให้นำเรื่องราวไปเผยแพร่ต่อได้บนเว็บไซต์ของเครือข่ายฯ ทีมอาสาสมัครจะเขียนสรุปประเด็นการพูดคุยโดยจะเน้นที่เนื้อหาที่สะท้อนถึงคุณค่าและความต้องการร่วมของมนุษย์ เพื่อให้คนในสังคมที่อาจจะมีอคติหรือการตัดสินต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้รับรู้และละวางอคติหรือเสียงตัดสินต่างๆลง และมองเห็นความเป็นมนุษย์ในตัวของอีกฝ่ายมากขึ้น
กิจกรรมนี้เกิดขึ้นจากความเชื่อพื้นฐานที่ว่าหากสังคมไทยมีการเปิดพื้นที่รับฟังซึ่งกันและกันโดยปราศจากอคติหรือการตัดสินไว้ก่อน จะทำให้เราเห็นหัวใจของความเป็นมนุษย์ในกันและกัน (แม้จะเป็นฝ่ายที่ขัดแย้งกันก็ตาม) และจะนำไปสู่การสร้างพื้นที่ของการสื่อสารเพื่อหาทางออกจากวิกฤตความขัดแย้งได้ในที่สุด
และแม้การชุมนุมจะสิ้นสุดลงแล้วกิจกรรมนี้ยังคงดำเนินต่อไปในรูปแบบของโครงการเพื่อนรับฟัง โดยจะมีอาสาสมัครเพื่อนรับฟังที่เดินทางเข้าไปในชุมชนต่างๆที่อยู่ใกล้กับพื้นที่การชุมนุมและจุดเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง เพื่อรับฟังผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ข้อเด่นของกิจกรรมเพื่อนรับฟังคือ เป็นการเปิดพื้นที่การสื่อสารด้วยความกรุณาเพื่อสร้างความเข้าใจ และปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้คนที่มีต่อคู่ขัดแย้ง เป็นการเยียวยาในเบื้องต้นผ่านเครื่องมือง่ายๆคือการรับฟัง อาสาสมัครได้พัฒนาทักษะของการสื่อสารและการรับฟังและได้ทำความเข้าใจสถานการณ์จากมุมมองที่หลากหลายของผู้ที่ได้รับผลกระทบ ข้ออ่อนคือ ลำพังการรับฟังเพียงอย่างเดียวยังไม่สามารถแตะลงไปถึงปัญหาความรุนแรงเชิงโครงสร้างและเชิงวัฒนธรรมได้มากนัก และกิจกรรมนี้เป็นปฏิบัติการรับฟังในระดับปัจเจก คือ การฟังแบบตัวต่อตัว ทำให้ขยายผลหรือส่งผลต่อความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคมวงกว้างได้ยาก อาจจะต้องใช้เครื่องมือชนิดอื่นๆมาพัฒนาต่อยอดจากการรับฟัง เพื่อให้เกิดผลในการแปลงเปลี่ยนความสัมพันธ์ของคนในสังคมในวงกว้างต่อไป
ตัวอย่างกิจกรรมที่ยกมาทั้งหมดเป็นกิจกรรมหลักๆที่มีการทำงานอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ปฏิบัติการจริง นอกเหนือจากนี้ยังมีกิจกรรมการฝึกอบรม การประกาศเขตอภัยทาน (Safe zone) การเป็นคนกลางแบบเงียบ (quiet mediator) กิจกรรมพัฒนาเครือข่ายทางสังคม (Facebook, Twitter) การพัฒนาเว็บไซต์สันติวิธี การติดต่อประสานงานกับสื่อกระแสหลักต่างๆ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ในการเผยแพร่องค์ความรู้ เป็นช่องทางสำคัญในการประชาสัมพันธ์และระดมอาสาสมัคร ซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนงานสันติวิธีด้วยเช่นกันแต่จะไม่ขอกล่าวถึงในรายละเอียดในบทความนี้
แนวทางการพัฒนางานอาสาสมัครในการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี
แนวทางการพัฒนางานอาสาสมัครในการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธีนั้น อาจจะมีได้ดังนี้
๑. พัฒนาองค์ความรู้และทักษะด้านสันติวิธีให้แก่อาสาสมัครในเรื่องที่จำเป็นต่อการทำความเข้าใจสถานการณ์ความขัดแย้งและการลงพื้นที่ปฏิบัติการ ไม่ว่าจะเป็นความเข้าใจเรื่องโครงสร้างสังคม การวิเคราะห์ความขัดแย้ง ความรุนแรง การวิเคราะห์สถานการณ์ การหลบภัยในพื้นที่ที่มีการปะทะกัน การอ่านสัญญาณเตือนภัย ฯลฯ
๒. มีการขยายผลเพิ่มจำนวนของอาสาสมัครผ่านการรับสมัครหรือการอบรม มีการติดตามผลการปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง มีกลุ่มในการดูแลเยียวยาและมีระบบพี่เลี้ยงให้แก่อาสาสมัคร มีระบบฐานข้อมูลของอาสาสมัครที่เป็นปัจจุบันและพร้อมใช้งาน
๓. มีการวางแผนยุทธศาสตร์ในระยะยาว เพื่อพัฒนางานอาสาสมัครในการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธีให้มีทิศทางที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งอาจจะขยายผลไปสู่การทำงานกับความขัดแย้งในระดับโครงสร้างหรือระดับวัฒนธรรมต่อไปได้
โดยสรุปแล้วงานอาสาสมัครในการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธีที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงปี ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นงานอาสาสมัครเพื่อการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือ เป็นไปเพื่อระงับเหตุความรุนแรง ลดความเสี่ยงในการใช้ความรุนแรงต่อกันของคู่กรณี รวมทั้งการใช้ความรุนแรงของคนทั่วไปในสังคมที่ไม่สามารถอดทนต่อภาวะตึงเครียดของความขัดแย้งได้ ยังไม่ใช่งานอาสาสมัครที่มุ่งจัดการกับปัญหาเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรมในระยะยาว เพราะปัญหาเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรมเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนและต้องอาศัยความร่วมมือและความช่วยเหลือจากหลายฝ่าย
นอกจากนี้อาสาสมัครที่เข้ามาทำงานด้านสันติวิธี โดยส่วนใหญ่เป็นอาสาสมัครเฉพาะกิจ คือจะรวมตัวกันทันทีที่มีความขัดแย้งที่เสี่ยงต่อความรุนแรงเกิดขึ้นในบ้านเมือง แต่เมื่อเหตุการณ์สงบก็จะแยกย้ายกันไปทำภารกิจของตน ทำให้ขาดการเชื่อมต่องานหรือการร่วมกันพัฒนางานในเชิงยุทธศาสตร์ระยะยาว แต่ในอีกแง่หนึ่งงานอาสาสมัครที่เกิดขึ้นแม้ว่าจะเป็นงานเฉพาะกิจ แต่ก็นับเป็นโอกาสสำคัญในการเรียนรู้การใช้เครื่องมือและทักษะต่างๆของสันติวิธีในสถานการณ์จริง ผ่านการลองผิดลองถูกเรียนรู้และพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้และทักษะเรื่อยมา เพื่อสามารถให้นำไปใช้ในการปฏิบัติการได้อย่างมีประสิทธิภาพและนำไปสู่การคลี่คลายความขัดแย้งทางสังคมได้ต่อไป
แม้งานอาสาสมัครกับการแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธีในสังคมไทยในปัจจุบัน อาจจะยังไม่เห็นผลของการคลี่คลายความขัดแย้งในสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนนักในตอนนี้ เพราะแท้จริงแล้วงานด้านสันติวิธีเป็น การทำงานกับความคิดของคนในสังคม จึงอาจจะต้องใช้เวลายาวนานร่วมทศวรรษกว่าเราจะเห็นการผลิดอกออกผลของการลงแรงทำงานหว่านเมล็ดพันธุ์ในเรื่องนี้ แต่ก็ขอให้เรามีความหวังอยู่เสมอว่าในที่สุดแล้วสังคมจะเรียนรู้ว่าการใช้ความรุนแรงไม่ใช่ทางแก้ปัญหา และการเลือกใช้สันติวิธีอย่างแท้จริงจะนำไปสู่สันติภาพที่ยั่งยืนกว่า
[1] จดหมายเปิดผนึกถึงภาคสื่อโทรทัศน์ที่เครือข่ายสันติวิธีร่วมเป็น ๑๖ องค์กรภาคประชาสังคม ยื่นในวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๓ และ เครือข่ายสันติวิธีกับองค์กรภาคประชาสังคมลงนามข้อเสนอต่อรัฐบาลและนปช.เพื่อถอดสลักความรุนแรง วันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๕๓ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://nonviolencenetwork.com/taxonomy/term/1
[2] ดูข้อมูลของแถลงการณ์ต่างๆเพิ่มเติมได้ที่ http://nonviolencenetwork.com/taxonomy/term/1
[3] กิจกรรมสันติอาสาสักขีพยาน เกิดขึ้นครั้งแรกอย่างเป็นทางการในประเทศไทยในรูปแบบของโครงการสันติอาสาสักขีพยานที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีกลุ่มนักศึกษาและเยาวชนพุทธมุสลิมเข้าร่วมโครงการดังกล่าว โครงการนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล
[4] กิจกรรมเพื่อนรับฟังเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๕๑ ในช่วงการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นกลุ่มอาสาสมัครที่ทำหน้าที่เข้าไปรับฟังความรู้สึก ความต้องการ ความทุกข์-สุข ของประชาชนผู้มาร่วมชุมนุมในพื้นที่การชุมนุมทั้งฝ่ายพธม.และนปช. เป็นการรับฟังเพื่อการเยียวยา รวมทั้งช่วยให้อาสาสมัครได้เข้าใจผู้มาร่วมชุมนุมของทั้งสองฝ่ายมากขึ้น โดยหวังว่าผลของการรับฟังนี้จะช่วยสร้างพื้นที่ของการมองเห็นความเป็นมนุษย์ระหว่างกันมากขึ้น