ฉันได้มีโอกาสไปร่วมเดินสันติปัตตานี ในช่วงวันที่ 24-27 กรกฎาคม 2553 ซึ่งเป็นระยะที่คณะเดินได้เดินทางไปถึงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในช่วงเวลาเพียง 3-4 วันของการเดินเท้าผ่านชุมชนต่างๆ เลียบเลาะชายฝั่งอ่าวไทยแถบบ่อนอก บ้านกรูด บางสะพานนั้น ฉันได้รับประสบการณ์และเรื่องราวที่น่าประทับใจหลายหลากเรื่องราวด้วยกัน
เรื่องประทับใจไม่รู้ลืมเรื่องแรกคือ อาหารเย็นมื้อแรกที่ฉันเดินทางไปถึงยังจุดพักแรมที่โรงเรียนบ่อนอกวิทยา มื้อนั้นเป็นอาหารชาวบ้านทำมาเลี้ยงคณะเดินที่โรงเรียนบ่อนอกวิทยา อาหารพื้นบ้านเรียบง่าย แต่อร่อยอย่าบอกใครเพราะความสดใหม่ของผักปลาที่ชาวบ้านนำมาประกอบอาหาร และฝีมือการปรุงรสแบบบ้านๆที่อร่อยล้ำเลิศ โดยเฉพาะปลาทูตัวเล็กๆทอดกรอบจนกินได้ทั้งตัวนั้นอร่อยเป็นที่สุด(ซึ่งหมดเกลี้ยงในเวลาอันรวดเร็ว) ชาวบ้านที่นี่บอกว่าพื้นที่ชายฝั่งบริเวณนี้เป็นหนึ่งในถิ่นที่มีปลาทูเยอะมากที่สุดในอ่าวไทย และปลาทูที่จับได้แถบนี้อร่อยที่สุดในประเทศ (ชาวบ้านเขาว่ากันอย่างนั้น) ฉันก็ไม่รู้หรอกว่าปลาทูที่นี่อร่อยที่สุดในประเทศหรือเปล่า(เพราะยังไม่เคยตามไปชิมปลาทูที่จับได้ในแถบอื่นๆจนครบทั่วทั้งประเทศ) รู้แต่ว่ามันอร่อยมากๆ สมคำร่ำลือไม่แพ้ที่ไหนๆเลย
หลังจากอาหารมื้ออร่อย เราก็มีวงคุยบอกเล่าสถานการณ์การเดินในช่วงวันที่ผ่านมาและมีการแนะนำตัวสมาชิกใหม่ที่ตามมาสมทบ รวมทั้งวางแผนการของกิจกรรมและการเดินในวันถัดไป แต่ละวันจะมีคนผลัดกันขึ้นมาเป็นผู้นำทีมเดิน ค่ำนั้นเรานอนกันที่โรงเรียน บ้างก็นอนในห้องเรียน ผอ.โรงเรียนช่วยเหลือบริการด้านที่พักให้เต็มที่ โดยเปิดห้องผอ.(มีแอร์เย็นๆด้วย)ให้พวกเราเข้าไปปูเสื่อนอนกัน แต่บางคนก็อยากจะไปนอนกางมุ้งในห้องเรียนมากกว่า (ผูกหูมุ้งกับโต๊ะเก้าอี้นักเรียนนั่นเอง) ต่างคนต่างแยกย้ายกันไปจับจองที่เหมาะๆที่อยากจะนอนกันในอาคารเรียนนั่นเอง เช้าวันถัดมาเรามีการจัดวงสานเสวนาโดยเชิญแกนนำชาวบ้านและตัวแทนภาครัฐมาพูดคุยแลกเปลี่ยนรับฟังปัญหาซึ่งกันและกัน มีตัวแทนจากศาสนาพุทธและอิสลามมาร่วมสานเสวนาด้วย ซึ่งฉันจะไม่ขอเล่าถึงประเด็นในวงสานเสวนาวันนั้น เนื่องจากฉันแอบหนีไปนั่งวาดรูปเล่นกับจ่าจ๊าสาวน้อยวัย 7 ขวบที่มาร่วมเดินด้วยพร้อมกับแม่โอ๋และพ่อพจน์ ฉันก็เลยไม่ได้อยู่ฟังอย่างตั้งใจและจดจำประเด็นใดๆไม่ได้เลย (ฮา)
เช้าวันต่อมา เราพร้อมหน้ากันในเวลาราวๆตีสี่ครึ่ง มีการออกกำลังกายบริหารยามเช้าเล็กน้อยเพื่อสร้างความพร้อมให้ร่างกาย แจกนมแจกขนมให้ทีมเดินเพื่อกินรองท้องก่อนออกเดินทาง วันนี้คณะเดินจะใช้ถนนเพชรเกษมเป็นเส้นทางหลัก เมื่อเดินออกมาจากโรงเรียนในตอนเช้ามืดท่ามกลางฝนปรอยๆ ก่อนจะเข้าสู่ถนนใหญ่เราได้ไปหยุดแวะยังบริเวณศาลาริมทางตรงปากทางแยกใหญ่ซึ่งเป็นจุดที่คุณวัฒน์ เจริญอักษร[1] ได้เสียชีวิตจากการถูกลอบยิงที่นี่ เราหยุดยืนไว้อาลัยครู่ใหญ่ๆให้กับการจากไปของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและความอยู่รอดของชาวบ้านบ้านกรูด-บ่อนอก จากนั้นเราก็ออกเดินทางต่อไปอย่างสงบเพื่อมุ่งตรงไปสู่บางสะพาน
ฉันพบว่าฉันมีความสุขกับการเดินเงียบๆอย่างยิ่ง เดินไปเรื่อยๆ ละวางความกังวลเกี่ยวกับเรื่องงาน เรื่องเรียนและภาระที่ค้างคาเอาไว้ข้างหลัง เดินโดยไม่ต้องคิดอะไร เดินมองท้องฟ้า ดูต้นไม้ เดินดูลมหายใจกับจังหวะก้าวเดินของตนเอง เดินเพื่อที่จะเดิน เมื่อมีความคิดใดๆผุดพรายขึ้นมาก็แค่รับรู้ บางครั้งก็เผลอคิดตามอย่างสนุกสนาน แต่เมื่อรู้สึกตัวความคิดก็ดับไป สำหรับฉันแล้วการเดินก็คือการภาวนาในอีกรูปแบบหนึ่ง ฉันพบว่าการได้เดินไปด้วยกันกับเพื่อนๆทำให้เรามีพลังใจที่ก้าวเดินต่อไป แม้ว่าจะรู้สึกเหนื่อยล้าหรือร้อนขนาดไหน แต่เมื่อหันไปเห็นเพื่อนๆที่กำลังเดินอยู่อย่างไม่ท้อถอย ก็ช่วยให้เราเกิดแรงฮึดที่จะเดินต่อไปด้วยเช่นกัน เพื่อนคนหนึ่งที่ฉันชอบเดินด้วยมากที่สุดคือ นภา สาวน้อยตัวเล็กผอมบางที่เวลาลมพัดมาที ก็แทบจะปลิวไปกับลม ยิ่งเวลารถสิบล้อขับสวนมาแต่ละหนนั้น ฉันร่ำๆอยากจะเข้าไปจับแขนนภาเอาไว้ เพราะเกรงว่าน้องจะปลิวไปกับแรงลมของรถสิบล้อ นภาเดินเงียบ เดินอึด เดินทน ไม่บ่นไม่เกี่ยงใดๆ และที่สำคัญคือเรามีความเป็นเพื่อนกัน แม้เราจะเดินกันไปในความเงียบ แต่ว่าฉันกับรับรู้ได้ถึงมิตรภาพระหว่างกันในความเงียบนั้น เพราะเหตุนี้กระมังจึงทำให้ฉันชอบเดินกับนภา การได้เดินเงียบๆ ไปกับเพื่อนๆ บนเส้นทางที่ทอดยาวไกลเป็นอีกหนึ่งความประทับใจของการมาร่วมเดินในครั้งนี้
มีอีกเรื่องที่ประทับใจไม่รู้ลืมคือ ในวันที่สามของการเดินนั้น ทีมเพื่อนๆที่มาเริ่มต้นเดินพร้อมกันรวมทั้งตัวฉันเริ่มมีอาการเดี้ยงกันไปต่างๆนานา ไม่ว่าจะเป็นอาการเท้าระบม มีตุ่มใสๆขึ้นที่เท้า ปวดขา ปวดเข่า ฯลฯ ซึ่งอาการเหล่านี้จะแสดงออกมาทันทีในตอนที่เราหยุดพัก แต่ถ้าเราเริ่มต้นออกเดินไปสักพักอาการก็จะหายไปหรือทุเลาลง กระนั้นอาการเดี้ยงเหล่านี้ทำให้ฉันเองก็นึกลังเลใจสงสัยตัวเองอยู่ครามครันว่าวันนี้ฉันจะเดินไหวไหม จะไปถึงจุดหมายไหม แต่พอเห็นเพื่อนๆออกเดิน ฉันก็กัดฟันบอกตัวเองว่าคนอื่นเขายังเดินไหว เราก็ไหวเหมือนกันสิน่า แล้วก็ก้าวเท้าเดินต่อไป แต่พอเข้าช่วงบ่ายของวันที่สาม ซึ่งเราเดินผ่านตัวอำเภอที่ตั้งอยู่ริมถนนใหญ่ ร่มไม้บังใบที่เคยให้ความร่มรื่นชื่นใจระหว่างการเดินทางก็หายไปเกือบหมด เหลือแต่เสาไฟฟ้าและพื้นผิวซีเมนต์อันร้อนระอุ ฉันรู้สึกทรมานมาก นับว่าเป็นช่วงการเดินที่ยากลำบากที่สุดเท่าที่ฉันเจอมาในช่วงสองสามวันนี้ ตอนนั้นรู้ซึ้งเลยว่าต้นไม้มีความสำคัญต่อชีวิตขนาดไหน นาทีนั้นขอแค่ได้เดินผ่านร่มเงาต้นไม้แม้เพียงสักต้นก็รู้สึกเหมือนกันได้ขึ้นสวรรค์กันเลยทีเดียว
ฉันมองเห็นรถกระบะที่ใช้ติดตามขบวนขับโฉบผ่านไปผ่านมาค่อยส่งน้ำให้คณะเดินและคอยเก็บตกคนที่เดินไม่ไหวระหว่างทาง ฉันมองตามตาปริบๆ ใจร่ำๆอยากจะกระโดดขึ้นรถไปให้รู้แล้วรู้รอด แต่ยังเห็นเพื่อนที่มาเดินด้วยกันเดินต่อไป ฉันก็เลยเดินต่อ แต่ตอนนั้นนภากับยุ่น (เพื่อนที่มาร่วมเดินพร้อมกัน) หายไปไหนแล้วไม่รู้ คาดว่าคงจะอยู่ช่วงท้ายๆขบวน เดินกันไปสักพัก ก็เห็นรถกระบะคันเก่าขับผ่านมาอีก แต่คราวนี้เห็นยุ่นกับนภานั่งส่งยิ้มโบกมือให้กำลังใจอยู่ในรถด้วย นาทีที่เห็นเพื่อนที่มาเริ่มต้นเดินพร้อมกันอยู่ในรถคันนั้น ใจฉันก็แป้วตกลงไปอยู่ที่ตาตุ่ม มองตามตาละห้อย พลางส่งเสียงบ่นงึมงำกับน้องโอ๋เพื่อนร่วมทางว่า “โหย มันยังต้องเดินไปอีกไกลไหมเนี่ย เมื่อไหร่จะถึงอ่ะ” แอบคิดในใจว่าอยากนั่งรถไปด้วยจังเลย รู้งี้น่าจะเลือกกระโดดขึ้นรถไปด้วยตั้งแต่แรกก็ดี น้องโอ๋(แม่ของจ่าจ๊า) พูดตอบกลับมาว่า “โถๆๆ ดูใจตัวเองไปนะพี่นะ” ว่าแล้วน้องโอ๋ก็ส่งยิ้มหวานให้แล้วก็เดินต่อไป ส่วนฉันเมื่อเจอคำตอบนี้ก็ทำเอาจ๋อยและอึ้ง แต่ก็นึกในใจว่า “เออเนอะ จริงด้วย” ว่าแล้วก็กัดฟันเดินต่อไป ในตอนแรกเรื่องนี้ออกจะเป็นประสบการณ์ที่ทุกข์ทรมาน แต่พอเดินไปจนถึงจุดหมายแล้วก็พบว่า เหตุการณ์นี้เป็นประสบการณ์ประทับใจและฮาไม่รู้ลืมจริงๆ ที่สำคัญฉันรู้สึกขอบคุณน้องโอ๋อย่างมากที่แม้จะไม่ได้ให้กำลังใจใดๆ(อย่างชัดเจน) แต่ได้ให้สิ่งที่สำคัญกว่าคือให้การเตือนสติในการเดินแก่ฉันแทน ^_^
เรื่องราวที่ทำให้ฉันรู้สึกประทับใจมากอีกเรื่องคือ การได้รับฟังเรื่องราวการรวมกลุ่มกันต่อสู้ของชาวบ้านที่นี่ ฉันนับถือในพลังใจของชาวบ้านกลุ่มเล็กๆที่รวมตัวกันต่อสู้คัดค้านโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของรัฐที่วางแผนมาเบ็ดเสร็จแล้วล่วงหน้าและได้ทุ่มงบประมาณลงมาเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ โดยไม่ได้มีการชี้แจงหรือสอบถามความเห็นใดๆจากชาวบ้านเจ้าของท้องถิ่น ฉันไม่ขอวิพากษ์ว่าโครงการนั้นดีหรือไม่ดีอย่างไร เพราะถ้ามองจากสายตาของภาครัฐโครงการนี้ย่อมดีแน่ เพราะมันย่อมนำมาซึ่งเม็ดเงินและผลกำไรมหาศาลสู่ภาคอุตสาหกรรมและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในแง่ของการลงทุนที่เพิ่มขึ้นจากต่างชาติ แต่หากมองจากสายตาของชาวบ้านที่เป็นเจ้าของชุมชน เจ้าของถิ่นอาศัย โครงการนี้ย่อมสร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อวิถีชีวิตของคนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นมลพิษทางสิ่งแวดล้อม การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ การส่งผลกระทบต่ออาชีพการประมงพื้นบ้านของชาวบ้านที่ดำเนินสืบเนื่องกันมายาวนานที่อาจจะสูญหายไป รวมไปถึงการทำลายสายสัมพันธ์ของชุมชนที่อาจจะขาดสะบั้นลงเพราะวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป
พี่หนิงหนึ่งในแกนนำที่ทำหน้าที่ศึกษาข้อมูลและผลกระทบจากการพัฒนาอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้ากล่าวว่า จริงๆแล้ว ชาวบ้านไม่ได้คัดค้านการพัฒนา ไม่ได้คัดค้านการมีโรงไฟฟ้า ชาวบ้านไม่ได้ต่อต้านความเจริญ แต่เขาคัดค้านการพัฒนาที่ทำลายสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตชุมชนต่างหาก หากพิสูจน์ได้แน่ชัดว่าการพัฒนานั้นเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเกื้อกูลต่อผู้คนในชุมชน ทุกคนก็ยินดีต้อนรับ คนนี่ที่เขามีความภาคภูมิใจในถิ่นเกิดและมีความรักความผูกพันต่อบ้านเกิดไม่น้อยไปกว่าที่ใดๆ ฉันเองก็เพิ่งรู้ว่าจังหวัดประจวบฯ มีของดีหลายอย่าง นอกจากจะเป็นถิ่นสับปะรดที่ปลูกกันมากแล้ว ก็ยังมีมะพร้าว ซึ่งชาวบ้านเขาบอกว่ามะพร้าวที่นี่มีรสชาติหวานมันอร่อยที่สุด ปลาทูสดๆเนื้อมันๆ(ดังที่ได้เล่าไปแล้ว) มีชายทะเลและหาดทรายสวยๆอีกหลายหาดที่ยังคงความเป็นธรรมชาติดั้งเดิมเอาไว้ได้ (ยังไม่ถูกรุกรานและทำลายจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมากนัก) ยังไม่นับไปถึงปลาวาฬบูรด้าที่จะปรากฏตัวให้เห็นเป็นครั้งคราวในแถบนี้อีกด้วย
ชาวบ้านเคยเสนอกับทางภาครัฐว่า หากจะเอาโรงไฟฟ้ามาลงที่นี่ขอให้เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดอย่างเช่น พลังงานลมได้ไหม หรือพลังงานอย่างอื่นที่ได้รับการพิสูจน์ยืนยันมาแล้วว่าไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และหากจะนำการพัฒนาลงมาก็ขอให้เป็นการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตชุมชนจะได้ไหม เขาไม่ต้องการให้เอาโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มาอยู่ที่หลังบ้านเขา เพราะมลพิษที่ตามมานั้นคงเกินจะรับไหว และไม่มีหลักประกันใดๆเลยว่าพวกเขาจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าว ยกเว้นแต่ว่าบรรดานายทุนจะรวยขึ้น (ดูตัวอย่างกรณีนิคมอุตสาหกรรมที่ระยองที่ยังคงมีปัญหาเรื้อรังมาจนบัดนี้ เป็นต้น) ซึ่งคำว่าคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของชาวบ้านนั้น ไม่ได้หมายถึงแค่รายได้หรือตัวเงินที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่มันหมายถึงความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เกื้อกูล การมีสุขภาพที่ดี การมีสายสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในชุมชน การเคารพวิถีชีวิตชุมชน
สำหรับฉันแล้วปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่าจนแล้วจนรอดรัฐไทย(ไม่ว่าจะรัฐบาลไหนๆ) ก็ยังคงไม่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการวางแผนพัฒนาอย่างแท้จริง ด้วยเหตุนี้นโยบายและโครงการพัฒนาของภาครัฐหลายๆโครงการจึงส่งผลให้เกิดปัญหาความขัดแย้งเรื้อรังยืดเยื้อยาวนานในที่ต่างๆของประเทศมาจนบัดนี้ และผลกระทบจากโครงการต่างๆเหล่านี้นี่เองที่เป็นเสมือนระเบิดเวลาที่รัฐบาลวางไว้กับมือในประเทศของตัวเองเพื่อรอวันให้มันระเบิดประทุออกมาทำลายตัวเองในที่สุด พี่หนิงบอกว่ากรณีปัญหาความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น คือตัวอย่างของระเบิดเวลาที่ได้ระเบิดประทุออกมาเป็นความรุนแรงแล้ว ซึ่งจนบัดนี้รัฐไทยก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ส่วนในที่อื่นๆรวมทั้งในจังหวัดประจวบฯนั้น คือระเบิดเวลาที่รอวันระเบิดออกมา ถ้าหากยังทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยังไม่สามารถหาทางออกจากความขัดแย้งนั้นได้อย่างสร้างสรรค์ และชาวบ้านที่นี่ก็กำลังพยายามส่งเสียงร้องบอกให้รัฐรับรู้และได้ยินมานานหลายปีแล้วแต่ก็ไม่รู้ว่าจนบัดนี้รัฐจะได้ยินเสียงของชาวบ้านบ้างหรือยัง
ฉันเดินทางจากมาในวันที่สี่ของการไปร่วมเดินที่จังหวัดประจวบฯ (ในช่วงรอยต่อก่อนจะเข้าสู่เขตจังหวัดชุมพร) กระนั้นการเดินทางยังคงดำเนินต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการเดินเท้าของคณะเดินที่มุ่งมั่นเดินไปจนถึงปัตตานีเพื่อเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหันมาใส่ใจกับการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการเดินทางในการต่อสู้ของชาวบ้านที่บ้านกรูด บ่อนอกและบางสะพานที่ยังคงดำเนินต่อไปเพื่อปกป้องพิทักษ์บ้านเกิดของตนเอง ไม่ว่าการเดินทางนั้นจะไปสิ้นสุดลงที่ใด แต่ฉันเชื่อว่าสิ่งที่เราค้นพบไม่ว่าจะเป็นมิตรภาพและการเรียนรู้ในระหว่างทางนั้นเองคือบทเรียนล้ำค่าและสำคัญไม่น้อยไปกว่าการบรรลุจุดหมายปลายทางเลย
ปล. เราใช้เวลาเดินเท้าราวสามวันจากบ่อนอกไปจนถึงบางสะพาน ได้พบพานสิ่งต่างๆมากมายในระหว่างทาง มีรายละเอียดของชีวิต ผู้คนและสถานที่ที่เราแวะพัก แต่ขณะที่นั่งรถกลับมานั้นใช้เวลาเพียงแค่ไม่ถึงสองชั่วโมง ทุกอย่างผ่านพ้นสายตาไปอย่างรวดเร็ว ในขณะที่นั่งรถกลับมามีความรู้สึกใจหายอย่างบอกไม่ถูก ยังไม่รู้ชัดเหมือนกันว่าใจหายเพราะเหตุใด
[1] คุณวัฒน์ เจริญอักษร เป็นหนึ่งในแกนนำชาวบ้านที่ร่วมคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าบ่อนอก การจากไปของเขาเป็นแรงผลักดันและขับเคลื่อนให้คนที่ยังอยู่ต่อสู้ต่อไปจนประสบความสำเร็จในการยับยั้งไม่ให้รัฐสร้างโรงไฟฟ้าในบริเวณนี้
No comments:
Post a Comment