Thursday, May 7, 2009

คนกลางข้างถนน

โดย : ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ

แนวร่วมอาสาสมัคร หวังสังคมที่มีความคิดเห็นแตกต่างสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติ ผ่านกลไกฝึกอบรมกลุ่มย่อย

แม้ความวุ่นวายจะจางลงไปมากแล้ว แต่ลึกๆ แล้วหลายคนบอกว่า "เกมยังไม่จบ"

ด้วย 'สี' สัญลักษณ์แห่งความเป็นพวกพ้องยังคงอยู่ และไม่จำเป็นต้องแสดงตัวผ่านเสื้อ หรือ ผ้าโพกหัว อีกต่อไป

นั่นหมายความว่า ความขัดแย้ง ระหว่างสียังมีเหมือนเดิม แต่พัฒนาไปในรูปแบบที่เดาทางยากมากขึ้น ซึ่งอาจหมายถึง ความสามารถในการจัดการน้อยลง?

อย่างที่รู้ สังคมเรียกร้อง 'คนกลาง' มาตลอด โดยเฉพาะคนกลางผู้มีบารมี คนกลางที่ทั้งสองฝ่ายเพราะจะเคารพและเชื่อฟัง...

"เหมือนเรากำลังนั่งรอคนกลางให้หล่นลงมาจากฟ้าหรือเปล่า" หลิน ไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์ ผู้อบรบนักสื่อสารอย่างสันติ ตั้งคำถามต่อสังคม

การเมือง ‘เป็นเรื่อง’ ในบ้าน

ในบ้านหลังเล็กๆ สามี-ภรรยา คู่หนึ่งอยู่กันมาอย่างสงบสุขมานานหลายปี เขาและเธอไม่มีลูก พอใจที่จะใช้ชีวิตกันสองคนมากกว่า

จนสงกรานต์ที่ผ่านมา เขาและเธอไม่ออกไปไหน นั่งดูข่าวโทรทัศน์ที่ถ่ายทอดเหตุการณ์ความวุ่นวาย ชนิดนาทีต่อนาที...โดยไม่พูดจากันสักคำ

เขา...ผู้สงสัยในการขึ้นมาของ 'รัฐบาล' ชุดนี้ ว่ามีคนในเครื่องแบบเป็นแบคอยู่เบื้องหลัง คำถามและความไม่ยุติธรรมจึงเกิดขึ้น

เธอ...ผู้อยากเห็นบ้านเมืองสงบสุข เห็นใจและเห็นด้วยกับรัฐบาลในการคลี่คลายปัญหาอย่างละมุนละม่อม พร้อมกับเปิดโอกาสให้รัฐบาลพิสูจน์ผลงานของตัวเองต่อไป

จุดยืนของทั้งคู่ ไม่ได้เป็นความลับ และถูกแสดงออกผ่านวงสนทนาอันประกอบไปด้วยเพื่อนฝูงที่รักใคร่สนิทสนมมาเป็นเวลาหลายปี

มื้อเย็นนอกบ้านวันนั้น มีขึ้นหลังรัฐบาลตัดสินใจจัดการความวุ่นวายด้วยวิธีการที่ฝ่ายค้านตั้งคำถาม

"ไม่มีใครสงสัยเลยหรือว่า ทำไมถึงมีแต่ข่าวเสื้อแดงป่วนเมือง" ฝ่ายชาย ผู้ออกตัวก่อนว่าไม่ได้รักชอบ 'ทักกี้' …เป็นฝ่ายชวนคุย

แม้โดยทั่วไป การเมืองจะเป็นหัวข้อยกเว้นในการสนทนา แต่จังหวะเวลาแบบนั้น การถกเถียงเรื่องการเมือง เป็นเรื่องที่สมาชิกร่วมโต๊ะเข้าใจได้ และหลายคนก็เตรียมจะมาคุยเรื่องนี้อยู่แล้ว

ความเห็นหลากสี หลายฝ่าย ประเดประดังเข้ามาเต็มโต๊ะ แดงบ้าง เหลืองบ้าง น้ำเงินหน่อยๆ ก็ยังมี ไม่มีสีก็มาด้วย

แต่ความเห็นใดๆ ก็ไม่สมารถจุดชนวนให้ 'แดงหนุ่ม' คนนั้น เดือดได้เท่ากับประโยคสั้นๆ จากคนข้างตัว

"ก็ทำไมไม่ให้โอกาสเขาหน่อยล่ะ เท่าที่ดูเขาก็ออกมาจัดการปัญหาได้ดี ไม่รุนแรง รอดูผลงานเขาต่อไปอีกสักหน่อยดีกว่า"

"รัฐบาลทหารน่ะเหรอ มันไม่ยุติธรรม นี่น่ะเหรอประชาธิปไตย" แดงหนุ่มชักแรงขึ้นเรื่อยๆ

การโต้เถียงระหว่างคนร่วมชายคา ร้อนขึ้นเป็นระยะ เพื่อนร่วมโต๊ะทั้งหลายที่เคยฝักใฝ่ในหลายสี ก็สลายขั้วเฉพาะกิจ เปลี่ยนบทเป็น 'คนกลาง' ช่วยไกล่เกลี่ย ไม่ให้สามีภรรยาบาดหมางกันไปมากกว่านี้

"เคารพความเห็นนะ แต่ก็น่าจะฟังเราบ้าง ไม่เข้าใจเลย แต่ก่อนเธอ (ภรรยา) เคยมีจุดยืนที่เป็นกลางกว่านี้" ลึกๆ แล้ว สามีอยากให้ภรรยาเห็นด้วยกับเขา

ด้วยอารมณ์หลายอย่างผสมกัน ฝ่ายภรรยาหลบไปเข้าห้องน้ำ กดโทรศัพท์หาญาติ ระบายความรู้สึก

"ไม่ไหว อึดอัดมาก อยู่บ้านพูดกันไม่ได้เลย"

เหตุการณ์เช่นนี้ พลอยทำให้ คนกลาง (อย่างไม่ได้ตั้งใจ) รู้สึกอึดอัดไปด้วย เพราะเล่นบทผู้ไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จ

และปัญหาสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ผู้ไกล่เกลี่ยเองก็อาจจะไม่ได้กลางอย่างบริสุทธิ์ ในใจเองก็เอียงซ้ายบ้าง ขวาบ้าง จนสับสนว่า ตัวเองจะยึดหลักใดในการไกล่เกลี่ย กระทั่ง ไม่แน่ใจว่าระหว่างไกล่เกลี่ย ความรู้สึกส่วนตัวจะยิ่งทำให้ความขัดแย้ง รุนแรงขึ้นหรือไม่

คนกลาง เลือกข้างก็ได้

"คนกลาง ไม่จำเป็นต้องเป็นกลางนะ" ไพรินทร์ กำลังจะบอกอีกว่า ทุกคนเป็นคนกลางได้ ถ้าอยากและมีความตั้งใจดีที่จะเป็น

สงกรานต์ร้อนระอุที่ผ่านมา คลิปไล่รถแท็กซี่ของชาวสาธรที่ถูกส่งต่อกันให้วุ่น เป็นการแสดงพลังอย่างหนึ่งของพวกไม่เลือกข้าง หลังจากโดนรุกก่อนด้วยการปิดถนน

คำถามก็คือ ถ้าไม่ตกอยู่ในสถานะผู้ถูกกระทำอย่างจังแบบนี้ จะมีใครออกมาเคลื่อนไหวบ้างไหม

หรือใครก็ตามที่นั่งเฝ้าข่าวหน้าจอแทบจะ 24 ชั่วโมงในช่วงนั้น เคยอึดอัด (มากๆ) จนต้องถามตัวเองหรือไม่ว่า “แล้วเราจะช่วยอะไรได้บ้าง” ที่มากกว่าการเป็นผู้ชมที่ดี

“นั่นเป็นความตั้งใจที่ดีและมีค่ามากนะคะ” กัญญา ลิขนสุทธิ์ นักฝึกอบรบการสื่อสารอย่างสันติ และนักจิตบำบัดจากสหรัฐอเมริกา วิทยากรหลักสูตร ‘การเป็นคนกลางตามแนวทางการสื่อสารอย่างสันติ’ ของเสมสิกขาลัยร่วมกับไพรินทร์ ชี้ช่องที่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของคนกลางได้

แต่แค่ความตั้งใจดียังไม่พอ การเป็นกาวใจเชื่อมความขัดแย้งได้ ต้องมีผ่านคอร์สบ่มทักษะกันหลายขั้น

เริ่มที่ ฟังและแปลความ โดยส่วนใหญ่ คู่ขัดแย้งมักไม่สามารถรับฟังกันได้ หรือเลือกฟังเฉพาะสิ่งที่ตัวอยากฟัง จึงจำเป็นต้องพึ่งการรับฟังทั้งสองฝ่ายของคนกลาง จากนั้นต้องใช้ทักษะการแปลคำพูดที่อาจมีการตัดสิน ต่อว่า วิจารณ์ ให้เป็น ความรู้สึกและความต้องการเบื้องลึก เพื่อให้คู่กรณีเห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกัน และเข้าใจกันได้

“ต่อมาคือ ช่วยให้แต่ละฝ่ายสะท้อนสิ่งที่ตนได้ยิน ขอให้อีกฝ่ายพูดสิ่งที่ตนได้ยินออกมา ยกตัวอย่าง ก.กับ ข.ทะเลาะกัน เราไปฟังทั้งคู่มาแล้ว แล้วจับ ก.กับ ข.มานั่งด้วยกัน ให้สะท้อนความรู้สึกและความต้องการของตัวเองออกมา แล้วให้แต่ละฝ่าย ช่วยทวนซ้ำว่าฝั่งตรงข้ามพูดอะไรบ้าง”

กัญญา อธิบายต่อว่า 2 ขั้นตอนดังกล่าว จะถูกใช้ไปเรื่อยๆ จนทั้ง ก.และ ข. เข้าใจกัน

ระหว่างที่คนกลางกำลังพูดกับ ก.หรือ ข.อยู่ จู่ๆ อีกฝ่ายก็พูดแทรกหรือพูดอะไรที่ทำให้สถานการณ์แย่ลง อาจต้องใช้การ ขัดจังหวะ ด้วยการขอร้องให้อีกฝ่ายหยุดและฟังก่อน

จากนั้นเป็นขั้นตอนการ ปฐมพยาบาลด้วยการให้ความเข้าใจ จะใช้ก็ต่อเมื่อ ขัดจังหวะไปแล้ว ฝ่ายนั้นยังไม่ยอมหยุด

เช่น...

ข. : ก.เองก็น่าจะสำนึกว่าทำอะไรลงไป ทำอย่างนี้เท่ากับก่อจลาจล คนเดือดร้อนไปทั่ว

คนกลาง : คุณต้องการ...

ก. (พูดแทรก) : เราทำไปเพื่อปกป้องตัวเอง

คนกลาง (หันไปทาง ก. ให้การปฐมพยาบาล) : คุณอยากได้รับความเข้าใจในการกระทำของคุณใช่ไหม

ก. : ใช่

คนกลาง : เดี๋ยวเราจะกลับมารับฟังเรื่องคุณแน่นอน ตอนนี้ขอให้เรากลับไปฟัง ข.ก่อนได้ไหม

หากหัวใจสำคัญอยู่ที่การ ให้ความเข้าใจตัวเอง แม้คนกลางจะจะเตรียมตัวมาแล้วอย่างดี แต่ก็ยากที่จะวางตัวเป็นกลางได้จริงๆ แอบตัดสินคู่กรณีในใจหรือมีอคติมาก่อน เรื่องนี้ ไพรินทร์ ประสบกับตัวเองมาก่อน เมื่อคราวลงพื้นที่ไปรับฟังกลุ่ม นปช.

“เราเหลืองทั้งบ้าน ยอมรับว่าก่อนไป มีอคติกับเสื้อแดงมากๆ ไม่ชอบเลย ตั้งคำถามเชิงลบกับสิ่งที่เขาทำตลอด”

แต่พอลงพื้นที่จริงๆ จากที่เคยโกรธ เกลียด ก็กลับต้องเสียน้ำตาให้

“เขาบอกว่าที่ต้องมาต่อต้านอย่างนี้ เพราะสมัยพฤษภาทมิฬ เคยออกมาชุมนุมแล้วถูกทหารเหยียบ จึงเกลียดการปฏิวัติมากๆ พูดไปก็ร้องไห้ไป เราถึงเข้าใจและสงสาร”

หาก ‘อคติ’ และ การเลือกข้าง กลับโผล่มาตอนบทคนกลางกำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม คนเริ่มเอียงก็อาจจะขอเวลานอกหลบไปทบทวนตัวเอง 2 นาที เพื่อทำความเข้าใจตนเองและดึงตัวเองกลับมา

ขั้นตอนนี้ทำได้ครั้งแล้วครั้งเล่า บ่อยเท่าที่เราออกอาการเขว

สุดท้าย ติดตามความต้องการ คนกลางจะคอยติดตามดูว่าเราอยู่ที่ไหนแล้วในกระบวนการและความต้องการใดยังไม่ ได้รับหรือได้รับการสะท้อนแล้วบ้าง

........................................................................

นี่เป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ ทางเลือกสำหรับคนที่ไม่มีสี ไม่อยากจะมีสี หรือมีสีอยู่ในใจแต่เลือกที่จะไม่แสดงออก

บางคนก็ตกอยู่ในที่นั่งลำบาก บ้านหลังเล็กๆ ที่เคยสุขสงบ ก็เกิดแบ่งพรรคแบ่งพวก จนพูดจากันไม่ได้ กลุ่มเพื่อนฝูงที่เคยนัดกันทุกเย็นวันศุกร์ งดรวมพลกันไปโดยปริยาย กระทั่งความเงียบที่เกิดขึ้นระหว่างผู้โดยสารกับคนขับแท็กซี่เพื่อหลีก เลี่ยงความขัดแย้ง ฯลฯ

คนหลากกลุ่มนี้ อาจจะมี ‘ความอึดอัด’ ที่เหมือนๆ กัน แต่ไม่รู้จะแปรรูปออกมาเป็นอะไร

“เราไม่มีทางที่จะทำให้ทุกคนคิดเหมือนกันได้ แต่ทำให้ความต่างอยู่ด้วยกันได้อย่างเข้าใจและเคารพ” คำหลัง กัญญา เน้นย้ำว่าสำคัญมากสำหรับสังคมหลากขั้วในปัจจุบัน

เคารพในที่นี้ คือ เคารพในความเป็นมนุษย์เหมือนๆ กัน ที่ไม่ว่าใครก็ต้องการความสุข สงบ และปลอดภัย

ทั้งกัญญาและไพรินทร์ ก็คือ คนธรรมดาๆ ที่ไม่ได้มียศฐา หรือบารมีใดๆ แต่เธอทั้งคู่อาสาที่จะเป็นคนกลาง และกำลังคิดหา ‘แนวร่วม’ ผ่านการจัดอบรมกลุ่มเล็กๆ

แนวร่วม...ผู้อึดอัดและอยากจะเห็นบ้านเมืองมีความสุขมากกว่านี้

* กลางอเนกประสงค์

การเป็นคนกลาง ไม่ได้มีไว้ใช้แค่การเมืองเรื่องใหญ่โต แต่เรื่องทะเลาะจุกจิกระดับในบ้าน โรงเรียน หรือองค์กร ก็เวิร์คเหมือนกัน

น้ำ ครูใหญ่ ศูนย์การเรียนรู้บ้านเด็กป่า จ.กาญจนบุรี ผู้ผ่านการอบรมสานสัมพันธ์ด้วยขันติ ขั้น 1 มาแล้วกับเสมสิกขาลัย ก็เอาวิชานี้ไปใช้กับตัวเอง เพื่อนร่วมงานและ เด็กๆ (ไร้สัญชาติ)

“สำหรับตัวเอง ได้เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกและเหตุผลของตัวเองมากขึ้น จากเดิมที่เวลามีเรื่อง เราก็จะโต้ตอบกลับไปอัตโนมัติแบบเจ็บๆ หรือไม่ก็ปั้นปึ่ง เพราะไม่เข้าใจว่าทำไมเขาทำไม่ได้ คิดว่าเราเป็นเจ้านาย เขาคือลูกน้อง”

หลังกลับจากอบรม น้ำฝึกดูตัวเองมากขึ้นว่า รู้สึกอย่างไร ต้องการอะไร และสิ่งใดที่กังวลอยู่ จนได้คำตอบว่า กลัวโรงเรียนจะเสียทิศทาง ซึ่งลึกๆ แล้วก็คือความเป็นห่วง

น้ำจึงเปลี่ยนวิธีใหม่ โดยการสื่อสารและแจ้งความต้องการของตัวเองไปตามตรง และปรากฏว่า ลูกน้องเองก็ต้องการไม่ต่างกัน เรื่องมันก็เลยง่ายขึ้น เข้าใจกันมากขึ้น

กับเด็กเอง น้ำก็เคยลองวิชาอยู่หลายครั้ง

ลูกศิษย์คนหนึ่ง รายนี้ขาป่วน ขี้โมโห ชอบหาเรื่องเพื่อนตลอดเวลา

“คุยกับเขาว่า โกรธเหรอ เสียใจ อึดอัดใช่ไหม มือเขาที่กำแน่นก็คลายลง น้ำตาไหล คุยกันจนรู้ว่า เขาโตมากับครอบครัวที่ใช้ความรุนแรง”

อีกกรณี พี่น้อง 2 คนทะเลาะกันแรง คนน้องกลัวว่าพี่จะฆ่า

“พอไปสะท้อนให้คนพี่ฟัง เขาก็ตกใจ เขาไม่ได้คิดถึงขั้นนั้น แต่ที่โกรธเพราะน้องมายั่วโมโหก่อน พอเราสะท้อนให้รู้ ทั้งคู่เสียใจ โดยไม่ต้องมาบังคับว่า ขอโทษกันนะ ดีกันนะ มันฝืนใจกัน”

น้ำบอกว่า เรื่องบางเรื่อง ไม่จำเป็นต้องหาทางออก แค่สื่อสารความต้องการลึกๆ อย่างเข้าใจ เรื่องก็พร้อมจะคลี่คลายไปเอง ไม่ต้องบังคับให้จับมือกัน กอดกัน เพราะอาจเป็นแค่ฉากบังหน้า

ส่วนการเมือง เธอออกตัวว่า ไม่ค่อยได้ติดตามข่าว จึงไม่ค่อยมีความเห็น นอกจาก...

“เบื่อๆ เหนื่อยๆ ตามประสาคนทั่วไป”

เพื่อนร่วมคอร์สอีกคน ทพ.เจิมพล ภูมิตระกูล กรรมการบริหารโรงพยาบาลรามคำแหง ที่ตั้งใจจะเอาวิชามาใช้ในงานบริหารบุคคล หวังผลมากกว่านั้นคือ ต้องการขจัดความใจร้อนของตัวเอง

“เราใช้อำนาจแบบ Power over ไปบังคับลูกน้อง บางครั้งลูกน้องไม่ทำตาม เราจะเข้าใจว่าเขาดื้อ กระด้างกระเดื่อง ด่วนตัดสินเขา” แต่พอได้เอาสิ่งที่เรียนกลับไปใช้ สื่อสารความต้องการของตัวเองอย่างจริงใจมากขึ้น

ผลปรากฏว่า เหตุผลที่ลูกน้องไม่รับงานหรือไม่ทำตามคำสั่งนั้น มาจากความกังวลและกลัวว่าจะทำไม่ได้หรือทำผิด

“เราให้ความเชื่อใจ ไว้ใจ ให้เขาลองทำ แล้วเราคอยบอก สอนเขาเป็นระยะๆ เขาจะมั่นใจ” ปัญหาหมดไปได้ เพราะทั้งเจ้านายและลูกน้องต่างก็ต้องการให้งานออกมาดี

ช่วงประชุมร่วมรัฐสภาที่ผ่านมา ทพ.เจิมพล เองก็เฝ้าดูอยู่ พร้อมกับตั้งคำถามว่า ถ้าเราเป็นคนกลางหรือประธานสภา จะทำอย่างไร

“แต่ละฝ่าย พูดถึงแต่วิธีการ ความไม่ดีของอีกฝ่าย เหน็บแนม โจมตี ถ้าผมเป็นประธานสภา จะพยายามพูดให้รู้ว่าแต่ละฝ่ายต้องการอะไร สะท้อนให้ทุกฝ่ายได้รับรู้ ซึ่งลึกๆ แล้ว เขาต่างก็มีจุดหมายเดียวกันคือ อยากเห็นบ้านเมืองเดินไปข้างหน้าอย่างสงบและแข็งแรง” ส่วนผลประโยชน์เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ

ปล. พี่เล็ก(งามศุกร์)ส่งบทความนี้มาให้ อ่านแล้วอยากแบ่งปันจึงขอเอามาโพสต์ไว้

No comments:

Post a Comment