Wednesday, August 22, 2007

คุยกับเพื่อนเก่า (ศิษย์ผู้พี่)


มีโอกาสได้คุยกับเพื่อนเก่า ซึ่งข้าพเจ้ามักเรียกสหายท่านนี้ว่า ศิษย์ผู้พี่ (ฉายา หวูเว่ย) หลังจากไม่ได้ติดต่อกันนานนับเกือบ 3 ปี

พี่ท่านโทรมาเพื่อบอกว่าขออภัยที่ไม่ได้ตอบบัตรอวยพรปีใหม่ที่ข้าพเจ้าส่งไปให้ท่านทุกปี

พี่ท่านบอกเล่าเรื่องราวชีวิตในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ว่าไปทำร่วมทำกิจกรรมสนับสนุนเด็กๆในโรงเรียนต่างๆ เพื่อการเรียนรู้อย่างสนุกสนาน แต่ทำไปทำมากลับถูกผู้คนรอบข้างมองว่า มาทำดีหวังผลประโยชน์ คิดจะเล่นการเมืองหรือเปล่า ทำไมต้องมาทุ่มเทมากขนาดนี้ รวยอยู่แล้วก็อยู่ส่วนรวย ก็เป็นนายทุนไปมายุ่งอะไรด้วย ฯลฯ แม้จะมีเจตนาดีและบริสุทธิ์ใจ แต่เมื่อถูกกระแสกดดัน และเสียงสะท้อนแง่ลบมากๆเข้า ก็เลยตัดสินใจหยุด

พี่ท่านมีปรัชญาชีวิตประจำตัวที่น่าสนใจ คือ หวูเว่ย - กระทำโดยไม่กระทำ ท่านใช้หลักการนี้ในการบริหารธุรกิจและโรงงานเครื่องเรือน (ส่งออก) ของท่านด้วย คือการบริหารด้วยความกรุณาและความเข้าใจพนักงานในโรงงาน มากกว่าที่จะไปออกกฎระเบียบอะไรต่างๆให้มากมาย ท่านไม่พูดมาก ไม่กระทำมาก ท่านเชื่อว่าทุกคนรู้และเข้าใจดีอยู่แล้วว่าตัวเองต้องทำอะไร หน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบของแต่ละคนคืออะไร ในฐานะที่เราอยู่ร่วมกันอย่างเป็นชุมชน

ท่านบอกว่าความกรุณานั้น ไม่ใช่แค่พูด เพราะมันพูดไม่ได้ แต่ความกรุณาคือสิ่งที่เราต้องเป็น หากเราเป็นความกรุณาแล้ว แม้เราไม่พูดสักคำแต่ทุกคนรอบข้างก็จะสัมผัสรับรู้ได้

ท่านไม่ได้จบเอ็ม บี เอ มาจากไหน และไม่เชื่อในหลักการแนวคิดแบบเอ็ม บี เอ ที่เราไปเอามาจากฝรั่ง แต่ท่านเชื่อในหลักการของจักรวาล คือ หลักของความอนิจจังและ หลักของความกรุณา ท่านบอกว่าเห็นหลายคนที่ไปเรียน เอ็ม บี เอ กลับมาแล้ว มีสีหน้าแห้งแล้งยิ่งกว่าเดิม รู้สึกราวกับตนเองอยู่ในทุ่งนาเวิ้งว้างที่แวดล้อมไปด้วยควาย คือ มองว่าคนอื่นๆโง่เหมือนควายหมดเลย แล้วก็รู้สึกว่ากูรู้อยู่คนเดียว แล้วกูจะไปทำอะไรได้ แล้วก็พาลสิ้นหวังในชีวิตและวิถีธุรกิจ(ที่น่าจะมีชีวิตชีวา) ท่านบอกว่า เอ็ม บี เอ ที่ดีมันต้องทำให้คนเรียนจบกลับมาแล้ว รู้สึกฮึกเฮิม มีความหวัง มีความเชื่อมั่นในศักยภาพความเป็นมนุษย์ของเพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมโลก มากกว่าที่จะทำให้รู้สึกท้อแท้สิ้นหวังและหวาดกลัว

โรงงานของพี่ท่านไม่มีระบบ คิวซี ที่ยุ่งยากซับซ้อน แต่พี่ท่านใช้วิธีคุยกับพนักงาน แล้วถามพนักงานผู้เป็นที่รักยิ่งว่า

"ไอ้โต๊ะตัวนี้ (หรือเก้าอี้ตัวนี้) ที่มึงทำออกมาน่ะ ถ้ามึงเป็นคนซื้อ มึงจะซื้อหรือเปล่า?" "ถ้ามึงซื้อ คนอื่นเขาก็ซื้อเหมือนกัน ฉันใดก็ฉันนั้น ถ้าแม้แต่ตัวมึงเอง (ที่เป็นคนทำออกมากะมือ)ยังไม่ซื้อ แล้วใครมันจะไปซื้อเล่า?"

ท่านบอกว่า ระบบคิวซี ที่ดีที่สุดก็คือ ระบบที่อยู่ในจิตสำนึกของตัวพนักงาน คนที่อยู่ในสายพานการผลิตนั่นเอง ให้พนักงานนั่นแหละเป็นคนคิวซีผลงานของตัวเอง

ท่านบอกว่าโรงงานของท่านเป็นโรงงานขนาดเล็ก (พนักงานประมาณ 800 คน) และท่านใช้หลักการนี้มาตลอดจนทุกวันนี้ ธุรกิจก็ไม่เจ๊ง นั่นแปลว่าหลักการนี้มันใช้ได้ผลจริง (มันเวิร์คครับท่าน) และมันไม่มีต้นทุนทางวัตถุดิบ (แต่แน่นอนว่าต้องมีต้นทุนทางใจสูงมาก) มีโรงงานที่ใหญ่กว่านี้หลายแห่งเจ๊งไปมากมายแล้ว

ลูกค้าญี่ปุ่นหลายรายที่เคยปรามาสพี่ท่านว่าทำแบบนี้ไม่นานก็ต้องแย่ แล้วหันไปหาโรงงานที่ใหญ่กว่า แลดูดีมีมาตรฐานกว่า ในที่สุดเมื่อโรงงานเหล่านั้นเจ๊ง ลูกค้าเหล่านี้ก็หวนกลับมาหาพี่ท่าน พร้อมกับบอกว่าตอนนี้เข้าใจแล้ว พร้อมใจกลับมาซื้อสินค้าของพี่ท่านโดยไม่ต่อรองราคาแม้แต่น้อย ทั้งยังบอกว่า "ราคาของคุณ คือต้นทุนของผม"

พี่ท่านยังเชื่อในหลักการ ครอบครองโดยไม่ครอบครอง พี่ท่านได้ปรับใช้หลักการนี้กับวิถีชีวิตประจำวันทั่วๆไปด้วย เช่น ข้าพเจ้าไม่จำเป็นต้องขับเฟอร์รารี่ แต่ก็สามารถมีความสุขเหมือนหรือยิ่งกว่าคนที่ขับเฟอร์รารี่ได้

พี่ท่านว่า คนที่ขับเฟอร์รารี่จริงๆนั้นเขาอาจจะไม่มีความสุขเท่าใดนักก็ได้ เพราะรถมันคันใหญ่จะจอดทีก็ต้องระวังแล้วระวังอีก จอดดีไม่ดีก็อาจเป็นรอยขูดขีดให้เสียราคา แถมเวลาขับโฉบไปมาคนอื่นๆก็อาจจะพาลหมั่นไส้เอา เกิดรถหายขึ้นมาก็ยิ่งแย่หนัก เพราะรถหรูๆราคาแพงๆ ย่อมเป็นที่หมายปองของหมู่โจร

หลักการนี้ยังใช้ได้ดีสำหรับความรัก ท่านบอกว่า หากคุณรักใครสักคน มันไม่จำเป็นที่คุณจะต้องครอบครองเขาเลย การรักโดยไม่ครอบครองนั้นเป็นสุขยิ่งกว่า การได้ครอบครอง และคำว่า "รัก" นั้นไม่จำเป็นต้องพูด และไม่สมควรพูดอย่างยิ่ง เพราะมันกลายเป็นคำที่ถูกใช้กันจนเฝือ ไร้ความหมายที่แท้ไปแล้ว ทั้งยังมีนัยยะของการ "ครอบครอง" อย่างยิ่ง

ท่านบอกว่าที่ยิ่งใหญ่กว่าคำว่า "รัก" คือ คำว่า "เข้าใจ" ถ้ามีใครสักคนบอกคุณอย่างลึกซึ้งว่า เขา "เข้าใจ" คุณ นั่นแปลว่าความสัมพันธ์ระหว่างคุณและเขามันยิ่งใหญ่กว่าคำว่ารักเสียอีก

ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่ท่านบอกเล่า พูดคุย แต่งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา ข้าพเจ้าจึงต้องจำต้องจบการอัพเดตบล็อกวันนี้ไว้แต่เพียงเท่านี้

ก่อนจบ ท่านอาจต้องถามตนเองว่า วันนี้ มีใครบอกว่า "เข้าใจ" ท่านบ้างหรือยัง แต่ท้ายที่สุดแล้วคำถามที่อาจสำคัญกว่านั้นคือ วันนี้ ท่านได้บอกใครบางคนว่า "เข้าใจ" เขาบ้างหรือยัง (ฮิ้ว)

Tuesday, August 21, 2007

ดูจิตด้วยความรู้สึกตัว: เย็นลงแล้วล่ะ

เช้าวันถัดมาหลังจากอาการจี๊ดเราก็รู้สึกสงบสติอารมณ์ลงได้มากแล้ว สบายใจขึ้นมากแล้วก็ได้มีโอกาสคุยกับพี่นุช ฟังพี่นุชสะท้อนเรื่องนี้ เราปรึกษากับพี่นุชว่า จริงๆแล้วเราควรจะบอกน้องเขาดีหรือเปล่า เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

พี่นุชแนะว่าถ้าบอกได้ด้วยความเมตตาจะดีมาก เพราะจะเป็นทั้งการเกื้อกูลทั้งตัวเขาและตัวเรา ในการอยู่ร่วมกันทำงานร่วมกันด้วย มันจะดีกว่า จะก่อให้เกิดบรรยากาศที่เป็นกัลยาณมิตรกัน มากกว่าที่จะเก็บเอาไว้แล้วก็ขุ่นๆ สะสมกันไปเรื่อยๆ จนกระทั่งวันหนึ่งอาจทนไม่ได้ จนมองหน้ากันไม่ติดขึ้นมา

และบางทีสิ่งที่น้องเขาทำลงไปนั้น เขาอาจจะไม่รู้ตัวเลยก็ได้ว่าไปทำให้เราขุ่นเคือง เขาอาจจะไม่คิดอะไรเลยก็ได้ มันอาจเป็นบุคลิกตามธรรมชาติของเขา ซึ่งกระทบกับผู้อื่นโดยที่เขาไม่ได้ตั้งใจ แต่หากมีกัลยาณมิตรสักคน ที่กล้าหาญพอที่จะเตือนหรือบอกให้เขารู้ตัวในจุดนี้ มันอาจจะเป็นประโยชน์ต่อตัวของน้องเขามากๆก็ได้

เหมือนอย่างที่พี่นุชเคยได้รับมาแล้วจากเพื่อนคนหนึ่ง และยังรู้สึกขอบคุณเพื่อนคนนั้นมาจนถึงบัดนี้ ที่กล้าบอกกับพี่นุชตรงๆด้วยความเมตตา เป็นเพื่อนคนเดียวที่ยังจำชื่อได้แม่นจนถึงวันนี้ (ในขณะที่ลืมชื่อเพื่อนคนอื่นๆไปเกือบหมดแล้ว ฮา)
การบอกครั้งนั้น มีส่วนทำให้พี่นุชเปลี่ยนแปลงท่าที และลักษณะนิสัยของตัวเองไปเยอะเลย

เราเองเมื่อก่อนก็นิสัยแย่มาก (ตอนนี้ก็ยังแย่อยู่ แต่ก็ดีกว่าเมื่อก่อนเยอะเลย) หน้าตาบูดบึ้ง มีกิริยาอาการหยาบกระด้างไม่น่าเข้าใกล้เอาเสียเลย แต่เราโชคดีที่ได้พบกับอาจารย์ในทางธรรมที่มีเมตตาสูง (คือ อาจารย์วรรณี ) ท่านได้มาช่วยขัดเกลาและตักเตือนเราอย่างตรงไปตรงมาด้วยความอดทน เกี่ยวกับนิสัยเสียๆของเราหลายอย่าง แน่นอนว่าในหลายๆครั้งที่ท่านบอกนั้น มันก็เจ็บ มันปวดแสบปวดร้อน ทรมานที่จะฟัง และมันก็ตีอีโก้ของเราเสียแหลกไปเลย ฟังตอนแรกก็รับไม่ได้ ร้องไห้โฮฮาไปหลายวันและโกรธอาจารย์มาก แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลับปรากฏว่าคำเตือนของอาจารย์นั้นมีประโยชน์ มีคุณต่อตัวเราเองจริงๆ จนในที่สุด เราก็เกิดการเปลี่ยนแปลงนิสัย และบุคลิกหลายๆอย่างของตัวเองไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ ต้องกราบขอบพระคุณอาจารย์มากๆ มา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

หลังจากเหตุการณ์จี๊ดผ่านไปได้สักสองวัน เราก็ได้มีโอกาสพูดคุยกับน้องแสนดีอย่างตรงไปตรงมา ในภาวะที่อารมณ์ของเราเย็นลงมากแล้วไม่โกรธไม่จี๊ดแล้ว เป็นการพูดคุยด้วยสติมากขึ้นไม่ใช่ด้วยความโกรธ สามารถสบตามองหน้าเขาได้อย่างเปิดเผย ไม่มีอาการตะหงิดๆหรือขุ่นเคืองใดๆอีก ตอนก่อนจะพูดก็ประหม่าตื่นเต้นเหมือนกันว่าจะพูดยังไง ท่าไหนดี ที่จะไม่ทำให้น้องเขารู้สึกแย่ แต่สามารถเห็นได้ว่าเราบอกด้วยความปรารถนาดีไม่ได้มีเจตนาร้าย

จริงดังคาด เมื่อเราถามน้องเขาถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เขาบอกว่าเขาไม่ได้คิดอะไร ไม่ได้รู้สึกอะไรเลย เราก็พอจะเข้าใจได้ เพราะหลายๆครั้ง เราก็ทำอะไรที่ทำให้คนอื่นรู้สึกไม่ดีลงไปโดยไม่รู้ตัวเลย แต่ก็มีโอกาสได้บอกเล่าให้น้องเขาฟังว่า เรารู้สึกอย่างไรบ้างในเช้าวันนั้น และเราคิดว่าเราน่าจะบอกน้องเขาตามตรง ดีกว่าเก็บสะสมความไม่พอใจเอาไว้ จนกระทั่งวันหนึ่งก็ระเบิดออกมาแล้วมองหน้ากันไม่ติดอีกเลย เพื่อที่ว่าเราจะได้ช่วยกันหาทางแก้ไข หรือป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นซ้ำรอยเดิมอีก เพราะเรายังต้องทำงานไปด้วยกันต่อไปอีกนาน (ไม่รู้เหมือนกันว่าจะนานเท่าไร อาจไม่นานมากก็ได้ ขึ้นอยู่กับอารมณ์ของเราเองแหละ ว่าจะเปลี่ยนงานอีกไหม)

แล้วเราก็สะท้อนทั้งข้อดีและข้อที่เราเห็นว่าน่าจะแก้ไข จากมุมมองของเราเกี่ยวกับตัวของน้องเขา ให้เขาทราบ

แล้วก็ถามความเห็นว่าเขาด้วยว่า เขารู้สึกอย่างไร เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย คิดว่ามันจริงหรือไม่จริงอย่างไรต่อมุมมองที่เราสะท้อนให้เขาฟัง เพราะมันคงจะไม่มีประโยชน์อะไรเลยกับทั้งสองฝ่าย ถ้าเราไปบอกให้เขาเปลี่ยนหรือปรับปรุง ในสิ่งที่เขาเองไม่เห็น ไม่เชื่อหรือไม่ยอมรับ แต่ถ้าเขาเห็นเหมือนกันหรือเห็นร่วมกันอย่างที่เราเห็น มันก็ง่ายกว่าที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ในความสัมพันธ์ต่อไป

ในที่สุดเราก็ได้ข้อสรุป/ข้อตกลงร่วมกันว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ขึ้นอีก ไม่ว่าจะจากฝ่ายใดก็ตาม(เพราะบางทีอาจเป็นเราก็ได้ ที่เป็นฝ่ายทำให้คนอื่นจี๊ด) เราขออนุญาตเตือนกันและกัน ด้วยการถามว่า "พี่ -- / น้อง -- เป็นอะไรหรือเปล่า?" เพื่อเป็นการสะกิดให้อีกฝ่ายหนึ่งได้คิดว่า เออ ตะกี้เราทำอะไรลงไป หรือพูดอะไรออกไป ที่ไปกระทบคนอื่นบ้างหรือเปล่าหนอ? เพื่อจะได้หยุดและสงบใจ แล้วเปลี่ยนแปลงท่าทีหรือพฤติกรรมเสียใหม่ในบัดนั้น เพื่อไม่ให้ก่อการทำร้ายหรือกระทบกระทั่งกันไปมากกว่านี้

มีอีกสิ่งหนึ่งที่เราได้เรียนรู้จากเหตุการณ์นี้ก็คือ คนเราจะคบกัน จะอยู่ด้วยกันได้ยาวนาน (ทั้งในแง่ของมิตรภาพ และชีวิตคู่) จะให้อภัยกันได้มากน้อยแค่ไหนนั้น มันขึ้นอยู่กับคุณงามความดีที่มีในตัวของกันและกันด้วย ความดีต่างหากที่เป็นตัวชี้วัดสำคัญ ไม่ใช่ความเก่ง ความฉลาด ความสวย ความหล่อ หรือฐานะการงานใดๆ เลย

อย่างกรณีนี้ที่เราสามารถให้อภัยน้องเขาได้รวดเร็ว (ภายในหนึ่งวัน --ถือว่าเร็วแล้วล่ะสำหรับคนขี้โกรธอย่างเราอ่ะนะ) เพราะเราระลึกได้ถึงคุณความดีที่มีอยู่ภายในตัวของน้องเขานั่นเอง พอมองเห็นความดีของเขาที่มีมา พลังความโกรธ ความขุ่นเคืองมันก็ลดลง อ่อนกำลังลงไปเอง

อีกเรื่องคือ การมีกัลยาณมิตรที่ดี ที่มาช่วยตักเตือนเราได้ถึงข้อบกพร่อง ข้อเสียของเราได้ อย่างตรงไปตรงมา และด้วยความมีเมตตานั้น ถือเป็นความโชคดีอย่างยิ่งของชีวิต เขาคือผู้บอกขุมทรัพย์ของเรา แท้จริงแล้ว การมีมิตรแท้--การมีกัลยาณมิตร นั่นแหละคือ การมีขุมทรัพย์แห่งชีวิต

ประการสุดท้าย การกระทำอีกอย่างหนึ่งที่ช่วยเราได้มาก คือ การได้บอกเล่าเรื่องราว ทบทวนตัวเอง ทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมาผ่านการเขียนนี่เอง

กรณีนี้การพูดระบายให้คนอื่นฟังก็อาจช่วยได้ แต่สำหรับกรณีของเรา การเขียนช่วยได้มากกว่าการพูด เพราะเราจะนิ่งมากกว่า และฟังเสียงความคิดและความรู้สึกของตัวเองได้ชัดกว่า มีการไตร่ตรองมากกว่า การพูดระบายออกไป

อีกอย่างเรายังไม่มีใครที่สนิทมากพอ ที่จะพูดระบายเรื่องนี้ออกไป ให้เขาฟังได้อย่างตรงไปตรงมาด้วยละมั้ง แล้วก็จะหาคนที่จะมีเวลามากพอ มีความเมตตา ความอดทนและมีความเข้าใจมากพอ ที่จะมานั่งฟังปัญหาของเราอย่างไม่ตัดสินถูก-ผิดนั้น ก็คงหาได้ไม่ง่าย ฮะๆ

และต่อไปเมื่อเราเติบโตขึ้นมากกว่านี้ พอลองย้อนกลับมาอ่านงานเขียนเก่าๆ เราอาจได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ต่างจากตอนนั้น (ตอนที่เขียน)ซึ่งเราอาจมองข้ามไปก็ได้ หรืออาจจะหัวเราะกับมันได้โดยไม่รู้สึกแย่กับมันอีกเลย หรืออาจจะทึ่งและนับถือตัวเองขึ้นมา อย่างไม่น่าเชื่อว่า ตอนนั้น ฉันคิดแบบนี้ได้ไงฟะเนี่ย (อันนี้คงเป็นกรณีที่ การเติบโตของเรามันถดถอยลง)

Wednesday, August 8, 2007

ดูจิตด้วยความรู้สึกตัว: วันนี้จี๊ดมาก


วันนี้ตอนเช้าจี๊ดสุดๆ ความโกรธและความไม่พอใจพุ่งปรี๊ด และยังคงดำเนินต่อเนื่องแบบกรุ่นๆ มาตลอดวัน จนถึงตอนนี้ที่กำลังเขียนอยู่

เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อเช้าตอนนั่งทำงานกันอยู่ เรานึกขึ้นมาได้ถึงงานที่มีคนฝากตามเรื่องมากับน้องคนหนึ่ง เราก็ตะโกนข้ามโต๊ะถามน้องคนนั้นที่นั่งอยู่ฟากตรงข้ามของห้อง (นั่งห่างกัน 4 - 5 เมตร) สมมติว่าชื่อน้องแสนดีละกัน เราถามว่า "เออ แสนดีส่งรูปไปให้ทีมนักวิ่งหรือยัง วันก่อนพี่ธงไชย (นามสมมติ)โทรมาบอกว่ายังไม่ได้รับรูปเลย"

แสนดีซึ่งในขณะนั้นอาจจะกำลังหงุดหงิดอะไรบางอย่างอยู่ หรือไม่ก็อาจจะกำลังยุ่ง-เครียดกับงานอยู่ (ก็เดาเอาน่ะ อิฉันก็มิอาจตรัสรู้ได้ว่าเจ้าหล่อนกำลังอยู่ในภาวะเช่นไร) ก็ตะโกนสวนกลับมาด้วยน้ำเสียงหงุดหงิดรำคาญว่า "แสนดีส่งไปแล้ว ส่งไปให้ตั้งนานนนนนแล้วค่ะ (เธอเน้นคำว่า "นาน" เป็นพิเศษ ด้วยน้ำเสียงลากยาวและหนัก)" น้ำเสียงหงุดหงิดอย่างรู้สึกได้ชัด

พอได้ยินเสียงตอบเราก็เริ่มรู้สึกจี๊ดขึ้นมาตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว สมองอิฉันประมวลผลอย่างรวดเร็วมาก ว่า "เอ๊ะ กรูถามดีๆทำไมตอบเสียงหมาๆอย่างนี้ฟะ"

แต่ก็ถามต่อไปว่า "อ้าวเหรอ แต่เขาบอกว่ายังไม่ได้รับเลยนะ ส่งไปไม่ถึงหรือเปล่า เพราะส่งไฟล์ภาพใหญ่ๆไปส่วนใหญ่จะมีปัญหานะ"

เธอก็สวนกลับมาอย่างรวดเร็วว่า "ส่งไปแล้วค่ะ และคิดว่าถึงด้วย เพราะไม่เห็นมีอีเมลตีกลับมาเลย แสนดีส่งตรงไปที่อีเมลพี่นักวิ่งน่ะ" ด้วยน้ำเสียงประมาณว่าฉันรู้น่ะ ฉันทำเป็น ไม่ต้องมาสอนหรอก

โห เราอยากสวนกลับไปมากว่า "แล้วเอ็งโทรไปเช็คกับเขาแล้วรึว่ามันถึงแน่ เอ็งถึงได้มั่นใจขนาดนั้นน่ะ แล้วตอนที่เอ็งส่งรูปไป เอ็งได้โทรบอกเขาปล่าว"

แต่ด้วยอาการหงุดหงิดและรู้ตัวแล้วว่ากำลังโกรธแล้วเฟ้ย ขืนพูดยาวๆต่อได้เป็นเรื่องแน่เลย เราก็เลยตัดบทไปว่า " เดี๋ยวแสนดีช่วยส่งรูปมาให้เราด้วยก็แล้วกัน" ตอนนั้นคิดในใจว่า เออ เดี๋ยวฉันส่งไปให้เขาอีกทีเองก็ได้

ยังไม่หมดแค่นั้น ตอนประชุมกันต่อช่วงสายๆ เราก็ถามอาจารย์เรื่องงบการจัดอบรมงานมหกรรมสันติฯ ซึ่งเป็นส่วนที่เราช่วยประสานงานอยู่ ทำนองว่า ถ้าองค์กรที่เราเชิญมาร่วมจัดบอกว่าไม่มีเงิน แล้วขอให้เราช่วยออกให้ล่ะคะ อาจารย์จะว่าอย่างไร (เราก็รู้อยู่แล้วแหละว่าหลักการคือ ไม่ออกให้ แต่อยากได้ยินคำยืนยันจากปากอาจารย์อีกที เพราะองค์กรนี้อาจารย์เป็นคนเสนอและคะยั้นคะยอให้เชิญมาเอง) อาจารย์ก็ตอบแบบฟังธงตรงตามคาดว่า ไม่ได้หรอก หลักการมีชัดเจนอยู่แล้วก็ให้ทำไปตามนั้น

น้องแสนดีเธอก็พูดแทรกขึ้นมาต่อทันทีว่า "และอย่าลืมนะคะว่าเรามีเงินเหลืออยู่แค่สองแสนแปด" ฉันก็หันไปมองหน้าเธอทันทีด้วยสีหน้าประมาณว่า "อะไร สองแสนแปดอะไร (อะไรของเอ็ง--ยุ่งอะไรด้วยเนี่ย)?" รู้สึกหงุดหงิดขึ้นมาตะหงิดๆอีกหน ประมาณว่าไม่ใช่เรื่องของเธอเลยนะยะ ฉันไม่ได้อยากจะรู้ตัวเลขของเธอ เพราะรู้อยู่แล้วว่าเงินมีไม่มาก

แล้วเราก็ขุ่นๆๆๆ ไม่พอใจและหงุดหงิดเรื่องน้องแสนดีคนนี้ต่อมาอีกทั้งวัน ทุกทีที่เห็นหน้าหรือได้ยินเสียงก็จะเซ็งมากๆ แล้วเรื่องอื่นๆอีกสารพัดในความทรงจำ ที่เคยรู้สึกหงุดหงิดไม่พอใจกับน้องคนนี้ ก้อหลั่งไหลต่อเนื่องพากันเรียงหน้ากระดานมาให้เห็นอีกเป็นสาย เป็นชุดๆ ยิ่งคิดก็ยิ่งพาลหงุดหงิด ไม่พอใจ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

เราก็นั่งตุ๋นๆๆๆอารมณ์โกรธ หงุดหงิดและไม่พอใจนี้ให้ตัวเองกินมาทั้งวัน มากบ้างน้อยบ้าง (สงสารเซลส์ในร่างกายแย่เลย ตายแล้วนี่ฉันคงจะแก่ลงไปอีกหลายปี เซลส์ฉันคงจะตายก่อนอายุขัย เพราะพิษของความโกรธชนิดนี้ของตัวเองแน่ๆเลย)

เราคิดถึงขนาดว่าจะขอพูดเปิดอกกันตรงๆไปเลยดีไหม ว่าฉันกำลังรู้สึกอย่างไรกับเธอบ้างในตอนนี้ ฉันเห็นว่าเธอเป็นคนอย่างไร และเธอได้ทำอะไรหรือมีท่าทีอย่างไรที่ทำให้ฉันรู้สึกหงุดหงิดบ้าง

ขอบอกว่าน้องคนนี้เขาเคยเข้าอบรม NVC - การสื่อสารด้วยรักและสันติ มาแล้ว (มันเอามาใช้ตรงไหนบ้างไหมเนี่ย)

แต่เราก้อรู้ตัวดีว่า ถ้าพูดไปตอนนี้ก็จะเป็นการพูดด้วยความโกรธ ด้วยความหงุดหงิดของเรา ไม่ได้พูดด้วยจิตใจที่ปรารถนาดีหรือเมตตาใดๆทั้งสิ้น (ในแง่ว่าตักเตือนด้วยเมตตาและปรารถนาอยากเห็นเขาดีขึ้น) และแน่นอนว่าผลลัพธ์ของมันก็จะออกมาเป็นลบแน่นอน ไม่ดีต่อทั้งสองฝ่าย ก็เลยข่มใจไว้ไม่ได้พูดอะไร ต้องมาหาทางระบายออกในบล็อกนี้แทน

เรายังคิดต่อไปถึงขนาดที่ว่าไม่อยากอยู่แล้วล่ะองค์กรแบบนี้ ที่มีเพื่อนร่วมงานแบบนี้น่ะ เบื่อเซ็ง เสียสุขภาพจิตเปล่าๆ ดูดิพลังแห่งความโกรธของเรานี่ มันบ่งการชีวิต และวิธีคิดตัดสินใจของเราได้ถึงขนาดนี้เลย

แต่ตอนค่ำพอมาคิดอีกที ถึงไปอยู่ที่อื่นๆเราก็คงต้องเจอคนประเภทนี้อีกอยู่ดีแหละ เราหนีไม่พ้นหรอก คนแบบนี้ก็มีทุกที่ น้องแสนดีเขาก็ยังมีข้อดีอื่นๆอีกหลายอย่าง ที่ทำให้เราพอจะคิดให้อภัยได้ และมองเห็นในส่วนดีของเขาอยู่ได้บ้าง (อาจจะมีมากกว่าอีกหลายๆคนในสังคมโดยส่วนเฉลี่ยด้วยซ้ำ)

เพราะอย่างน้อยเขาก็เป็นคนมีพื้นฐานจิตใจดี มีน้ำใจ ซื่อสัตย์ ฉลาด ขยัน ทำงานเก่ง ไม่เอาเปรียบคนอื่น ขวนขวายใฝ่รู้ แม้จะมีวิธีการพูดหรือทีท่าบางอย่างที่ชวนให้นึกหมั่นไส้ และไม่ชวนนึกเอ็นดูหรือไม่น่ารักเอาเสียบ้างเลยก็ตามในบางครั้ง

คือเขาจะมีทีท่ามั่นใจและมีลักษณะแข็งๆหยิ่งๆไม่ง้อใคร และมีทีท่าว่าฉันรู้ดีอยู่แล้วเสมอ แต่นั่นก็เป็นเพียงบุคลิกภายนอกหรือข้อเสียของเขาซึ่งออกจะเล็กน้อย เมื่อเทียบกับส่วนดีอื่นๆที่เขามีอีกมากมาย

จะว่าไปอีกทีเขานี่แหละอาจจะกระจกเงา ที่มาสะท้อนให้เราเห็นตัวเราเองในด้านมืด ที่เราไม่เคยมองตัวเองมากก่อน เป็นบุคลิกที่เป็นปม เป็นด้านลบของเรา ที่เคยไปทำไปแสดงออกอย่างนี้เอาไว้มาก่อนแล้ว กับคนอื่นๆรอบข้างโดยไม่รู้ตัว

แต่ก่อนเคยมีคนสะท้อนให้เราฟังเหมือนกันแต่ตอนนั้นฟังแล้วก็ผ่าน ไม่ได้ยิน ไม่เข้าใจ และไม่ได้ใส่ใจ เพราะไม่ได้คิดว่ามันเป็นปัญหาอะไร รู้สึกแต่ว่าฉันก็เป็นของฉันอย่างนี้แหละ ใครจะทำไมหรือ ไม่ได้เดือดร้อนใครนี่

แต่คนอื่นเขาคงเซ็งและเจ็บปวดกับคำพูดและวิธีการพูดแบบนี้ของเรา
(ที่เราคิดว่าไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อนนี่แหละ) ไปหลายรายแล้ว

จำได้ว่าเคยทำให้รุ่นพี่ที่ทำงานเก่าไม่ชอบขี้หน้าอยู่นาน โดยไม่รู้ตัวและไม่รู้สาเหตุ แต่ตอนหลังพอรู้จักกันมากขึ้น ก็ดีกัน คุยกันได้ อ้อ! แล้วก็ยังมีรุ่นน้องที่ทำงานเก่าอีกคน ที่ไม่ชอบหน้าเราอย่างแรงตั้งแต่วันแรกที่เข้าทำงาน
เพราะท่าทีหยิ่งยะโส มั่นใจเกินเหตุของเราเอง

พอมาถึงตอนนี้เราก็เลยเกิดอาการจี๊ดมาก--โกรธได้นานและมากอย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อต้องมาเจอกับตัวเอง นึกถึงคำพูดของหมอพีร์(พี่เขาเป็นหมอดูแบบสัมผัสจิต)ขึ้นมาทันทีเลยว่า เราน่ะไปทำวจีกรรมกับคนอื่นไว้เยอะ ทำให้คนอื่นเจ็บกับคำพูดของเราไว้มาก ตอนนี้ถึงเวลาที่ต้องมาใช้กรรมของตัวเองบ้างแล้ว (ช่วงนี้กรรมเรื่องนี้จะมีมาให้ชดใช้เป็นหลักเลย)

การใช้กรรมที่ว่านี้ก็คือ กรรมจะส่งผลให้เราเป็นคนอ่อนไหว คิดมากและเจ็บปวดง่าย โกรธง่ายมากกับคำพูดของคนอื่นๆ ที่พูดแล้วมากระทบใจหรือสะกิดใจแม้แต่เพียงนิดเดียวก็ตาม แล้วก็จะดึงเราให้จมอยู่กับความทุกข์ ความโกรธ และความเจ็บปวดนั้น ด้วยการเอาคำพูดของเขามาคิดย้ำๆซ้ำๆ วนเวียนไปมาในหัวไม่รู้จบ

สรุปก็คือทำตัวเองทั้งนั้นเลย คนพูดน่ะมันพูดจบมันก็ลืมไปนานแล้ว ไม่ได้คิดอะไรต่อแล้ว แต่ตัวเรานี่สิยังทำตัวเองให้ทุกข์ไม่หยุด ด้วยการไปเก็บเอาคำพูดของเขามาคิด มากัดกิน-ทำร้ายจิตของตนเองจนเศร้าหมองอยู่ได้อีกตั้งนาน
ถ้ายังไม่หายโง่ (คือยังคิดต่อ-โกรธต่อ)ก็ต้องทุกข์อย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ

สุดยอดมากเลยใช่ไหม กฎแห่งกรรมมันทำงานอย่างแม่นยำเที่ยงตรงอย่างน่าทึ่ง ชนิดที่ทำเอาเราพูดไม่ออก อึ้งไปเลย

จำได้ว่าตอนนั้นเราเคยถามหมอพีร์เหมือนกันว่า แล้วอย่างนี้เราควรทำไงดี เขาบอกว่าก็ให้อภัยเขาไปเรื่อยๆ อย่าไปผูกพยาบาทอาฆาตใครเขาทั้งสิ้น ไม่ว่าใครเขาจะพูดอะไรมาก็ตาม ก็ให้วางใจให้หนักแน่นและให้อภัยเขา แล้วกรรมก็จะหมดไปเอง ไม่ต้องกังวล

ตอนนี้เห็นแล้วและเข้าใจแล้วล่ะว่า กฏแห่งกรรมมันทำงานยังไง เข้าใจแล้วว่า คำพูดที่ไม่ดีที่เป็นลบ ที่เราเคยกระทำต่อผู้อื่นนี้มันทำให้จิตของเขาเป็นทุกข์ ร้อนรนทุรนทุรายขนาดไหน เข้าใจมากๆเลย

พอเขียนมาถึงตรงนี้นะ ความโกรธที่มีต่อน้องแสนดีก็หายไปหมดแล้วล่ะ มันค่อยๆหายไปเองตั้งแต่เราเริ่มเขียนย่อหน้าแรก ที่เรานึกขึ้นมาได้ถึงความดีของน้องเขาแล้วล่ะ แล้วก็หายอย่างเป็นปลิดทิ้ง ตอนที่มาเขียนถึงกรรมของตนเองที่ได้ไปทำไว้ต่อคนอื่นๆ

ความรู้สึกสงสารเห็นใจและเข้าใจในความทุกข์ของคนอื่นๆ เกิดขึ้นมาแทนที่ เราเข้าใจและมองเห็นความทุกข์ของเขาได้อย่างชัดเจน และลึกซึ้งขึ้นมากๆเลย มันเข้าใจแบบไม่ต้องใช้คำพูด (เพราะคำพูดมีไม่พอที่จะอธิบายได้) รู้สึกว่าอยากก้มลงไปกราบขอโทษ และขออโหสิกรรมต่อทุกๆคนที่เราเคยพูดไม่ดี ทำไม่ดีต่อเขาไว้ทั้งหมดในตอนนี้ เดี๋ยวนี้เลยค่ะ

โหย ตอนนี้จิตใจมันโล่งและเบาสบายขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด อย่างกับนรกและสวรรค์เลย วันนี้เราทำตัวเองให้ตกนรกมาเกือบทั้งวันแล้ว
โชคดีนะนี่ที่ยังกลับลำได้ทัน มาฉุดตัวเองให้ขึ้นสวรรค์ในช่วงท้ายๆก่อนจะหมดวันนี้ สาธุ

ขอบพระคุณมากค่ะ ขอบคุณจักรวาล พระธรรมะธรรมชาติ ขอบคุณน้องแสนดี หมอพีร์ ทุกๆสิ่งและทุกๆคน ที่มาช่วยสอนและมาทำให้ลูกได้เห็นตัวเองชัดเจนขึ้นในวันนี้ ขอบคุณๆมากๆ ตอนนี้รู้สึกว่าตัวเองโชคดีมากๆเลย และมีความสุขเกิดขึ้นมาในจิตใจเยอะมากๆ ขอบคุณค่ะ

Life Coaching


เพิ่งเสร็จจากการเข้าร่วมอบรม Life Coaching เมื่อเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม 2550 ที่ผ่านมา (อบรมสามวัน)

มีวิทยากรรับเชิญ คือคุณฮิเดะ และคุณแพทริก (ไม่คิดค่าตัว แต่มาช่วยอบรมให้เป็นการกุศลสำหรับองค์กรพัฒนาเอกชน และคนที่ทำงานเพื่อสังคม) มีผู้เข้าร่วมในแวดวงคนทำงานเพื่อสังคม ที่ล้วนแต่คุ้นหน้าคุ้นตากันดีทั้งนั้นรวม 28 คน บรรยากาศเหมือนงานรวมญาติยังไงอย่างงั้นเลย (ชอบจัง)

Life Coaching คือกระบวนการในการสร้างภาวะผู้นำ และการมอบพลังอำนาจให้แก่ผู้อื่น ในการตัดสินใจและก้าวต่อไปข้างหน้าบนเส้นทางชีวิตของตนเอง โดยผ่านการพูดคุยและการตั้งคำถาม มันเป็นทักษะและกระบวนการที่สามารถนำไปใช้ได้ทั้งในบริบทของธุรกิจ การทำงาน ชุมชนและชีวิตส่วนตัว ตอนนี้กำลังเป็นอีกกระแสที่มาแรงในหลายๆประเทศทั่วโลก

Life Coaching แตกต่างจาก Counselling ตรงที่ว่าเราไม่ได้พยายามเข้าไปแก้ปัญหาชีวิตให้ใคร และเราไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบต่อชีวิตของผู้มารับการCoach เพราะ Life Coaching มีความเชื่อพื้นฐานข้อนึงว่าทุกคนมีสติปัญญา และมีความสามารถเพียงพอที่จะแก้ปัญหาต่างๆได้ด้วยตนเอง และทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่าปัญหาของตนคืออะไร อำนาจในการตัดสินใจเลือกจะอยู่ในมือของผู้รับบริการ ผู้ Coach เพียงแต่ช่วยตั้งคำถาม เพื่อให้เขาได้มองเห็นมุมมองใหม ่และความเป็นไปได้อื่นๆในชีวิตของเขา นอกเหนือไปจากการจมปลักวนเวียนอยู่กับปัญหาของตัวเอง รวมทั้งหนุนเสริมให้กำลังใจต่อความเป็นไปได้เหล่านั้น

สิ่งที่รู้สึกชอบมากในการอบรมครั้งน ี้คือเขาจะเน้นให้ฝึกปฏิบัติมากกว่าที่จะมานั่งท่องจำทฤษฎี จำได้ว่าพอเข้าอบรมวันแรก ก็เริ่มต้นด้วยกิจกรรมปฏิบัติการกันเลย ด้วยการให้เราแต่ละคนเดินไปถามเพื่อนๆในห้องว่า "ความฝันในชีวิตของคุณคืออะไร?" ถามและฟังคำตอบจากเพื่อนแต่ละคนให้ได้มากที่สุดในเวลาสิบนาที พอครบเวลาสิบนาทีวิทยากรก็บอกว่าคุณได้เริ่มต้นทำการ Coaching ไปแล้วนะ รู้หรือเปล่า แล้วก็มาสรุปบทเรียนกัน

ในกระบวนการอบรมสามวัน วิทยากรช่วยให้เราได้ฝึกทักษะต่างๆมากมาย (ที่นำไปใช้กับเรื่องอื่นๆในชีวิตได้ด้วย) ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคำถามทรงพลัง การสะท้อนความเห็น การฟันธง การท้าทาย การอุปมาอุปไมย การให้กำลัง และที่สำคัญคือฝึกการฟังสามระดับ (อันนี้ดีมากๆ มีประโยชน์) อันได้แก่

การฟังระดับ 1 คือการฟังเสียงความคิด-ความรู้สึกของตนเอง (ผู้ฝึกโค้ชมือใหม่มักติดอยู่ที่ระดับนี้ คือ มัวแต่คิดว่าเดี๋ยวจะถามอะไรดี ถามแบบนี้ดีไหม เรื่องนี้ตรงกับเรื่องของตัวฉันเลย ตะกี้ที่ฉันพูดไปไม่เข้าท่าเลย ฯลฯ) การฟังระดับนี้เป็นระดับที่คนทั่วๆไปฟังกัน ผู้มารับบริการก็มักจะฟังอยู่ในระดับนี้

การฟังระดับที่ 2 คือการฟังอีกฝ่ายอย่างตั้งใจ ใส่ใจ โดยไม่สนใจกับสิ่งอื่นรอบข้าง หรือแม้แต่เสียงความคิดของตนเอง ประดุจว่าเรากำลังฟังคนรักของเรา (ในช่วงรักกันใหม่ๆ--เพราะถ้ารักกันไปนานๆแล้ว ก็มักจะฟังแบบนี้ไม่ค่อยได้แล้ว ฮา) เวลาผ่านไปนานเท่าไร ฝนจะตก แดดจะออกก็ไม่รู้ไม่ใส่ใจ รู้แต่ว่าเราดำรงอยู่ตรงนี้เพื่อฟังเขาเท่านั้น

การฟังระดับที่ 3 คือ การฟังแบบใช้ญาณทัศนะ ฟังภาพรวมทั้งหมดของสิ่งที่เกิดขึ้น รับรู้ได้ถึงคลื่นพลังงาน ความรู้สึก ความสั่นสะเทือนของบรรยากาศรอบๆตัว รับรู้ได้ถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นรอบๆตัว ฟังไม่ใช่เพียงแต่เฉพาะเรื่องที่ผู้รับบริการพูดเท่านั้น แต่สามารถฟัง-ได้ยินในสิ่งที่เขาไม่ได้พูดออกมาได้อีกด้วย

ผู้โค้ชระดับเซียนจะต้องพัฒนาตนเองให้ฝึกฟังได้ในระดับที่ 2 และ 3 นี้ (ยากมากแต่สำคัญมาก)

อีกทักษะที่ชอบคือการฝึกตั้งคำถามทรงพลัง คือการตั้งคำถามปลายเปิดที่กระชับ สั้น ตรงประเด็น และเป็นคำถามเชิงบวก เช่น แทนที่จะถามผู้รับบริการว่า "ทำไมคุณไม่ทำสิ่งที่คุณตั้งใจ" ก็ถามว่า "คุณได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการที่คุณไม่ได้ทำในสิ่งที่คุณตั้งใจ" เป็นไงล่ะ--แค่เปลี่ยนวิธีการถาม ก็พลิกมุมมองชีวิตของผู้ตอบได้เลย (เจ๋งเนอะ)

วิทยากรทั้งคู่รับ-ส่งลูกกันได้เนียนมาก และมีพลังกระตือรือร้นอยู่ตลอดเวลา น่าชมเชย และมีความเชี่ยวชาญไหลลื่นมาก ในการถ่ายทอดความรู้ให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้อย่างเป็นระบบ และเข้าใจง่าย ข้อดีอีกอย่างคือเขารักษาเวลาได้ดีมีวินัยในเรื่องนี่สูงมาก...น่าเอาอย่าง

งานนี้ต้องขอบคุณพี่อ้อยและทีมอาศรมวงศ์สนิทอย่างยิ่ง ที่ทำให้เราและผู้เข้าร่วมคนอื่นๆได้มีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับ Life Coaching ในราคามิตรภาพ (ช่วยกันบริจาคค่าของว่าง อาหาร ค่าห้องประชุมคนละ 500 บาท) เพราะปกติถ้าสมัครไปเรียนวิชานี้ที่ London รู้สึกว่าต้องเสียค่าเรียนคนละประมาณ 700 ปอนด์ (ราวสี่หมื่นกว่าบาท-- โอ้พระเจ้าจอร์จ อะไรจะแพงปานนั้น)

Sunday, August 5, 2007

การพูดคนเดียวเกี่ยวกับการมุ่งสู่ความเป็นอัจฉริยะได้ไง


วันนี้ขอเขียนสนองความอยาก (ตัณหา) ของตัวเองสักวัน ฮะๆ (แต่จริงๆแล้วทุกครั้งที่เขียนก็สนองความอยากของตัวเองทุกครั้งนี่หว่า)

ขออุทิศเรื่องนี้ให้พี่นุชสุดสวย ผู้เป็นกัลยาณมิตรของเรา

หลายวันก่อนเคยคุยกับพี่นุชเรื่องบุคลิก-นิสัยของแต่ละคนในที่ทำงาน และพี่นุชตั้งข้อสังเกตว่า เราชอบพูดคนเดียวเวลาทำงาน (ทำงานไปก็คุยกับตัวเองไป)

พี่นุชบอกว่า ทำให้คนที่นั่งอยู่ใกล้ๆงงๆและไม่แน่ใจว่าเรากำลังพูดกับเขาด้วยหรือเปล่า พอจะขยับปากจะตอบก็เห็นว่า อ้าว มันกำลังพูดคนเดียวนี่หว่า (พี่นุชคือบุคคลผู้นั้น)

แต่ที่ร้ายกว่านั้น คือ ไปๆมาๆคนที่นั่งใกล้กับเราก็จะพลอยติดนิสัยพูดคนเดียวกับตัวเองในเวลาทำงานไปด้วย ซึ่งก็ทำให้รู้สึกหงุดหงิดในตนเองยิ่งนักว่าทำไมต้องติดอาการนี้มาด้วย จะแก้ก็แก้ไม่หาย ตราบใดที่ยังคงนั่งใกล้ๆกะเราอยู่แบบนี้ (พี่นุชคือบุคคลผู้นั้นอีกเช่นกัน)

เราฟังข้อสังเกตนี้จบก็หัวเราะเอิ๊กอ๊ากด้วยความชอบใจ (ไม่ได้รู้สึกผิดเลย ว่ากำลังทำให้ชาวบ้านเขาเดือดร้อน) ว่าเออจริงว่ะ เราเป็นอย่างนั้นจริงๆด้วย ชอบพูดคนเดียวเวลาทำงาน

สักพักก็นิ่งๆไปเพื่อนึกหาเหตุผลว่า เออแฮะ แล้วทำไมเราต้องทำแบบนั้นด้วย ตอนนั้นก็ไม่รู้คิดไม่ออก รู้แต่ว่า ชอบทำแบบนี้แหละ เพราะเวลาได้พูดไปทำงานไป มันสนุกดี (สนุกกับตัวเอง) มันทำให้เรารู้สึกสนุกและตื่นตัวมากขึ้นในการทำงานน่ะ รู้สึกว่าวิธีนี้ทำให้สมองเราทำงานได้เร็ว โล่งและชัดเจนขึ้น

เช่น พอเวลาคิดอะไรไม่ออก ก็จะบ่นกับตัวเอง "อะไรหว่า งงๆ คิดไม่ออก มันคืออะไรน้า อืมมม.." แล้วสักพักก็หาข้อสรุปให้ตัวเองต่อเสร็จสรรพ (พร้อมกับพูดออกมาดังๆด้วย)ว่า "เออ ช่างมัน คิดไม่ออกก็ยังไม่ต้องคิด ไปทำอย่างอื่นก่อนดีกว่า" แล้วก็ปิดสวิทช์การคิดเกี่ยวกับเรื่องนั้นไว้ก่อนชั่วคราว ฟึ่บ! เพื่อไปเปิดสวิทช์การคิดเรื่องใหม่ต่อไป

หรือบางทีที่เราปิ๊งไอเดียใหม่ๆ หรือเข้าใจอะไรบางขึ้นมาแบบฉับพลัน ก็จะพูดเสียงดังๆออกมาด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นดีใจแบบสุดๆ (กับตัวเอง) ว่า "อ๋อ มันเป็นแบบนี้นี่เอง ฮะฮ้า เข้าใจแล้วๆๆ เย้ๆ" พร้อมกับการทำท่าดีใจแบบโอเว่อร์คนเดียว แสดงความชื่นชมและความภาคภูมิใจกับตัวเองแบบสุดๆ บางทีก็แถมคำชมเป็นรางวัลให้กับตัวเองด้วยว่า "แหม เก่งจริงๆเลย ลูกใครเนี่ย อัจฉริยะสุดยอด" อะไรประมาณนี้ โดยไม่สนใจสายตาแปลกๆของคนรอบข้างแม้แต่น้อย (ลืมไปเลยว่ามีคนอื่นอยู่แถวๆนั้นด้วย) ประมาณว่าตอนนั้นฉันอยู่ในโลกของตัวเองแบบอินสุดๆไปแล้ว

เราจะมีอาการประมาณนี้เสมอเมื่อนั่งทำงานคนเดียว เวลาพูดคนเดียวออกมาดังๆจะรู้สึกว่า ความคิดมันจะแล่นไหลลื่นได้ดีกว่า เร็วกว่าการนั่งเงียบๆ และบรรยากาศในการทำงานก็สนุกกว่าด้วย (สำหรับตัวเราเองเท่านั้น คนอื่นไม่เกี่ยว เพราะเขาอาจไม่สนุกด้วย) ถ้าให้เรานั่งทำงานไปเงียบๆโดยไม่พูดอะไรออกมาเลย พอนานๆไปจะรู้สึกเหนื่อยล้าเร็วกว่าปกติ จะอึดอัดเพราะไม่ได้ระบายความคิด-ความรู้สึกออกมา จะฝืดๆหนืดๆเหมือนความคิดไม่ค่อยแล่นพิกล

พอมาวันนี้ เห็นหนังสือ "สู่ความเป็นอัจฉริยะด้วยการพัฒนาสมอง" เขียนโดย Eran Katz ก็เลยแอบหยิบมาอ่านจากกองหนังสือบนโต๊ะของพี่เล็ก (จะผิดศีลข้อสองปล่าวฟะเนี่ย ยืมมาอ่านโดยไม่บอกเจ้าของ--ถ้าพี่เล็กรับรู้ ไม่ว่าตอนนี้พี่เล็กจะอยู่ในที่ใดๆก็ตาม ข้าน้อยก็ขออภัยและขออโหสิกรรมด้วย สาธุ) ก็พบกับคำตอบเรื่องการพูดคนเดียวของเรา ว่ามันเกี่ยวกับการพัฒนาสมองไปสู่ความเป็นอัจฉริยะได้ไง ฮะฮ้า

เขาอธิบายว่า
"ในโรงเรียนทั่วไป นักศึกษาเพียงแค่นั่งเงียบๆแล้วฟังครู หรือนั่งเงียบๆในห้องสมุดแล้วพลิกหนังสือและเอกสาร แต่ในโรงเรียนศาสนา นักศึกษา "ปะทุ" และ "ระเบิด" ในกระบวนการเรียนรู้คัมภีร์โทราห์ พวกเขาจะใช้พลังงานทั้งหมด ใช้อวัยวะในร่างกายทุกส่วน และที่สำคัญที่สุดคือ พูดออกมาดังๆ เธอต้องพูดเสียงดังกับตัวเองไม่ว่าเธอกำลังเรียนอะไร มีคนเคยบอกฉันว่าการพูดสิ่งที่เธอกำลังเรียน เป็นการกระตุ้นสมองทั้งสองซีกให้ตื่นตัว และช่วยปรับปรุงการรับรู้ สมาธิ และความจำของเธอ"


อันนี้มีข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ ตอนที่เราไปทำแบบทดสอบพลังสมองของเรา (ทางอินเตอร์เน็ต) เพื่อดูว่าเราถนัดใช้สมองซีกไหนมากกว่ากัน ปรากฏว่าผลที่ออกมาคือ เราใช้สมองทั้งสองซีกเท่าๆกันเลยแฮะ ผลออกมาอยู่ตรงกลางพอดีเป๊ะ (หายากนะเนี่ย! ขอโม้ต่อด้วยความภูมิใจ ฮะๆ--ใครที่เผลอมาอ่านบล็อกนี้เข้าก็ทำใจหน่อยละกัน ช่วยไม่ได้หลวมตัวมาอ่านเองนิ)

"ปกติคนทั่วไปมักใช้แค่จักษุประสาท หมายความว่าพวกเขาพยายามจำเรื่องราวต่างๆโดยการอ่านเป็นส่วนใหญ่ การเรียนรู้โดยการพูดออกมาดังๆช่วยเพิ่มอีกมิติหนึ่งให้ประสาทสัมผัสอีกด้านหนึ่งมีส่วนช่วยส่งเสริมความจำ นั่นคือโสตประสาท เทียบได้กับความแตกต่างระหว่างการดูทีวีโดยเปิดเสียงกับปิดเสียง การเรียนแบบใช้เสียงดังช่วยให้ความรู้ฝังแน่นในจิตวิญญาณของเราได้จริงๆ ดังนั้นความรู้ก็จะคงอยู่ในความทรงจำของเราได้เนิ่นนานขึ้น"


..."สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆก็คือเราไม่ได้เพียงแค่พูดเสียงดัง แต่ค่อยๆเพิ่มระดับเสียงขณะที่แสดงโวหาร ตามความหมายที่แท้จริงของคำ เทคนิคนี้มีผลต่อภาษากายและการเคลื่อนไหวของเรา ไม่ต้องเอ่ยถึงว่าจะมีผลต่อระดับความสนใจของเราที่มีต่อหัวข้อที่เรียนแค่ไหน ในที่สุดก็จะนำเราไปสู่การถกเถียงกันเอะอะ แต่ความสนุกก็อยู่ตรงนี้แหละ..."

นอกจากเรื่องการพูดเสียงดังๆกับตัวเองแล้ว หนังสือเล่มนี้ยังได้แนะนำเทคนิควิธีการพัฒนาพลังสมองชนิดอื่นๆ แบบง่ายๆ (หลายอย่างก็ง่ายเสียจนเราคิดไม่ถึง และมองข้ามไป) แต่สามารถใช้ได้ผลจริงอีกมากมาย น่าสนใจ และทุกคนสามารถนำไปใช้ นำไปฝึกฝนได้ด้วยตนเองตามถนัด

อ่านจบแล้วให้ความรู้สึกประมาณว่า --เป็นอัจฉริยะ ฝึกเองที่บ้านก็ได้ ง่ายจัง--

คนเขียนเก่งมาก เขียนสนุกดี มีอารมณ์ขันสอดแทรกอยู่ตลอดเรื่อง ฟังดูชื่อออกจะทางการ เนื้อหาน่าจะหนัก แต่พออ่านเข้าจริง กลับอ่านสนุก อ่านง่าย เขาเก่งตรงที่ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายได้อย่างเหลือเชื่อ (จะว่าไปอีกที คนเขียนเรื่องนี้ ก็คืออัจฉริยะดีๆนี่เอง)

เอ้า! ใครอยากพัฒนาพลังสมอง ฝึกฝนตนเองไปสู่ความเป็นอัจฉริยะควรซื้อหามาอ่านกันคนละเล่มสองเล่มได้เลยจ้า (ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ inspire) หรือจะหยิบยืมชาวบ้านมาอ่านเอา (แบบประหยัด) เฉกเช่นข้าพเจ้าก็แล้วแต่กำลังทรัพย์และความศรัทธา

ถึงพี่นุช... ตอนนี้เรามีคำตอบอันชอบธรรมให้พี่นุชแล้วนะว่า ทำไมเราถึงชอบพูดคนเดียวเวลาทำงาน ฮะๆๆ ซึ่งเป็นข้ออ้างที่ดีที่จะทำให้เราพูดคนเดียวต่อไปได้อีกนานแสนนาน (โดยไม่รู้สึกผิดต่อผู้ใด อันที่จริงก็ไม่เคยรู้สึกผิดมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว เอ๊ะ แล้วจะพูดทำไมเนี่ย) และข้ออ้างนี้ก็จะทำให้พี่นุชไม่รู้สึกหงุดหงิดเวลาที่ติดอาการพูดคนเดียวของเราไปด้วย นะเออ ดีไหมเล่า

สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณพี่เล็ก ผู้สนับสนุนให้หยิบยืมหนังสืออย่างไม่เป็นทางการ (เพราะเจ้าของยังไม่รู้ตัวเลยจนบัดนี้ว่าถูกมือดีเช่นเราหยิบยืมมาอ่านแล้ว--และคาดว่าคงจะรู้เอาอีตอนนี้ ตอนที่ได้อ่านบล็อกหน้านี้นี่แหละ)