Wednesday, August 22, 2007

คุยกับเพื่อนเก่า (ศิษย์ผู้พี่)


มีโอกาสได้คุยกับเพื่อนเก่า ซึ่งข้าพเจ้ามักเรียกสหายท่านนี้ว่า ศิษย์ผู้พี่ (ฉายา หวูเว่ย) หลังจากไม่ได้ติดต่อกันนานนับเกือบ 3 ปี

พี่ท่านโทรมาเพื่อบอกว่าขออภัยที่ไม่ได้ตอบบัตรอวยพรปีใหม่ที่ข้าพเจ้าส่งไปให้ท่านทุกปี

พี่ท่านบอกเล่าเรื่องราวชีวิตในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ว่าไปทำร่วมทำกิจกรรมสนับสนุนเด็กๆในโรงเรียนต่างๆ เพื่อการเรียนรู้อย่างสนุกสนาน แต่ทำไปทำมากลับถูกผู้คนรอบข้างมองว่า มาทำดีหวังผลประโยชน์ คิดจะเล่นการเมืองหรือเปล่า ทำไมต้องมาทุ่มเทมากขนาดนี้ รวยอยู่แล้วก็อยู่ส่วนรวย ก็เป็นนายทุนไปมายุ่งอะไรด้วย ฯลฯ แม้จะมีเจตนาดีและบริสุทธิ์ใจ แต่เมื่อถูกกระแสกดดัน และเสียงสะท้อนแง่ลบมากๆเข้า ก็เลยตัดสินใจหยุด

พี่ท่านมีปรัชญาชีวิตประจำตัวที่น่าสนใจ คือ หวูเว่ย - กระทำโดยไม่กระทำ ท่านใช้หลักการนี้ในการบริหารธุรกิจและโรงงานเครื่องเรือน (ส่งออก) ของท่านด้วย คือการบริหารด้วยความกรุณาและความเข้าใจพนักงานในโรงงาน มากกว่าที่จะไปออกกฎระเบียบอะไรต่างๆให้มากมาย ท่านไม่พูดมาก ไม่กระทำมาก ท่านเชื่อว่าทุกคนรู้และเข้าใจดีอยู่แล้วว่าตัวเองต้องทำอะไร หน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบของแต่ละคนคืออะไร ในฐานะที่เราอยู่ร่วมกันอย่างเป็นชุมชน

ท่านบอกว่าความกรุณานั้น ไม่ใช่แค่พูด เพราะมันพูดไม่ได้ แต่ความกรุณาคือสิ่งที่เราต้องเป็น หากเราเป็นความกรุณาแล้ว แม้เราไม่พูดสักคำแต่ทุกคนรอบข้างก็จะสัมผัสรับรู้ได้

ท่านไม่ได้จบเอ็ม บี เอ มาจากไหน และไม่เชื่อในหลักการแนวคิดแบบเอ็ม บี เอ ที่เราไปเอามาจากฝรั่ง แต่ท่านเชื่อในหลักการของจักรวาล คือ หลักของความอนิจจังและ หลักของความกรุณา ท่านบอกว่าเห็นหลายคนที่ไปเรียน เอ็ม บี เอ กลับมาแล้ว มีสีหน้าแห้งแล้งยิ่งกว่าเดิม รู้สึกราวกับตนเองอยู่ในทุ่งนาเวิ้งว้างที่แวดล้อมไปด้วยควาย คือ มองว่าคนอื่นๆโง่เหมือนควายหมดเลย แล้วก็รู้สึกว่ากูรู้อยู่คนเดียว แล้วกูจะไปทำอะไรได้ แล้วก็พาลสิ้นหวังในชีวิตและวิถีธุรกิจ(ที่น่าจะมีชีวิตชีวา) ท่านบอกว่า เอ็ม บี เอ ที่ดีมันต้องทำให้คนเรียนจบกลับมาแล้ว รู้สึกฮึกเฮิม มีความหวัง มีความเชื่อมั่นในศักยภาพความเป็นมนุษย์ของเพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมโลก มากกว่าที่จะทำให้รู้สึกท้อแท้สิ้นหวังและหวาดกลัว

โรงงานของพี่ท่านไม่มีระบบ คิวซี ที่ยุ่งยากซับซ้อน แต่พี่ท่านใช้วิธีคุยกับพนักงาน แล้วถามพนักงานผู้เป็นที่รักยิ่งว่า

"ไอ้โต๊ะตัวนี้ (หรือเก้าอี้ตัวนี้) ที่มึงทำออกมาน่ะ ถ้ามึงเป็นคนซื้อ มึงจะซื้อหรือเปล่า?" "ถ้ามึงซื้อ คนอื่นเขาก็ซื้อเหมือนกัน ฉันใดก็ฉันนั้น ถ้าแม้แต่ตัวมึงเอง (ที่เป็นคนทำออกมากะมือ)ยังไม่ซื้อ แล้วใครมันจะไปซื้อเล่า?"

ท่านบอกว่า ระบบคิวซี ที่ดีที่สุดก็คือ ระบบที่อยู่ในจิตสำนึกของตัวพนักงาน คนที่อยู่ในสายพานการผลิตนั่นเอง ให้พนักงานนั่นแหละเป็นคนคิวซีผลงานของตัวเอง

ท่านบอกว่าโรงงานของท่านเป็นโรงงานขนาดเล็ก (พนักงานประมาณ 800 คน) และท่านใช้หลักการนี้มาตลอดจนทุกวันนี้ ธุรกิจก็ไม่เจ๊ง นั่นแปลว่าหลักการนี้มันใช้ได้ผลจริง (มันเวิร์คครับท่าน) และมันไม่มีต้นทุนทางวัตถุดิบ (แต่แน่นอนว่าต้องมีต้นทุนทางใจสูงมาก) มีโรงงานที่ใหญ่กว่านี้หลายแห่งเจ๊งไปมากมายแล้ว

ลูกค้าญี่ปุ่นหลายรายที่เคยปรามาสพี่ท่านว่าทำแบบนี้ไม่นานก็ต้องแย่ แล้วหันไปหาโรงงานที่ใหญ่กว่า แลดูดีมีมาตรฐานกว่า ในที่สุดเมื่อโรงงานเหล่านั้นเจ๊ง ลูกค้าเหล่านี้ก็หวนกลับมาหาพี่ท่าน พร้อมกับบอกว่าตอนนี้เข้าใจแล้ว พร้อมใจกลับมาซื้อสินค้าของพี่ท่านโดยไม่ต่อรองราคาแม้แต่น้อย ทั้งยังบอกว่า "ราคาของคุณ คือต้นทุนของผม"

พี่ท่านยังเชื่อในหลักการ ครอบครองโดยไม่ครอบครอง พี่ท่านได้ปรับใช้หลักการนี้กับวิถีชีวิตประจำวันทั่วๆไปด้วย เช่น ข้าพเจ้าไม่จำเป็นต้องขับเฟอร์รารี่ แต่ก็สามารถมีความสุขเหมือนหรือยิ่งกว่าคนที่ขับเฟอร์รารี่ได้

พี่ท่านว่า คนที่ขับเฟอร์รารี่จริงๆนั้นเขาอาจจะไม่มีความสุขเท่าใดนักก็ได้ เพราะรถมันคันใหญ่จะจอดทีก็ต้องระวังแล้วระวังอีก จอดดีไม่ดีก็อาจเป็นรอยขูดขีดให้เสียราคา แถมเวลาขับโฉบไปมาคนอื่นๆก็อาจจะพาลหมั่นไส้เอา เกิดรถหายขึ้นมาก็ยิ่งแย่หนัก เพราะรถหรูๆราคาแพงๆ ย่อมเป็นที่หมายปองของหมู่โจร

หลักการนี้ยังใช้ได้ดีสำหรับความรัก ท่านบอกว่า หากคุณรักใครสักคน มันไม่จำเป็นที่คุณจะต้องครอบครองเขาเลย การรักโดยไม่ครอบครองนั้นเป็นสุขยิ่งกว่า การได้ครอบครอง และคำว่า "รัก" นั้นไม่จำเป็นต้องพูด และไม่สมควรพูดอย่างยิ่ง เพราะมันกลายเป็นคำที่ถูกใช้กันจนเฝือ ไร้ความหมายที่แท้ไปแล้ว ทั้งยังมีนัยยะของการ "ครอบครอง" อย่างยิ่ง

ท่านบอกว่าที่ยิ่งใหญ่กว่าคำว่า "รัก" คือ คำว่า "เข้าใจ" ถ้ามีใครสักคนบอกคุณอย่างลึกซึ้งว่า เขา "เข้าใจ" คุณ นั่นแปลว่าความสัมพันธ์ระหว่างคุณและเขามันยิ่งใหญ่กว่าคำว่ารักเสียอีก

ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่ท่านบอกเล่า พูดคุย แต่งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา ข้าพเจ้าจึงต้องจำต้องจบการอัพเดตบล็อกวันนี้ไว้แต่เพียงเท่านี้

ก่อนจบ ท่านอาจต้องถามตนเองว่า วันนี้ มีใครบอกว่า "เข้าใจ" ท่านบ้างหรือยัง แต่ท้ายที่สุดแล้วคำถามที่อาจสำคัญกว่านั้นคือ วันนี้ ท่านได้บอกใครบางคนว่า "เข้าใจ" เขาบ้างหรือยัง (ฮิ้ว)

No comments:

Post a Comment