เช้าวันถัดมาหลังจากอาการจี๊ดเราก็รู้สึกสงบสติอารมณ์ลงได้มากแล้ว สบายใจขึ้นมากแล้วก็ได้มีโอกาสคุยกับพี่นุช ฟังพี่นุชสะท้อนเรื่องนี้ เราปรึกษากับพี่นุชว่า จริงๆแล้วเราควรจะบอกน้องเขาดีหรือเปล่า เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
พี่นุชแนะว่าถ้าบอกได้ด้วยความเมตตาจะดีมาก เพราะจะเป็นทั้งการเกื้อกูลทั้งตัวเขาและตัวเรา ในการอยู่ร่วมกันทำงานร่วมกันด้วย มันจะดีกว่า จะก่อให้เกิดบรรยากาศที่เป็นกัลยาณมิตรกัน มากกว่าที่จะเก็บเอาไว้แล้วก็ขุ่นๆ สะสมกันไปเรื่อยๆ จนกระทั่งวันหนึ่งอาจทนไม่ได้ จนมองหน้ากันไม่ติดขึ้นมา
และบางทีสิ่งที่น้องเขาทำลงไปนั้น เขาอาจจะไม่รู้ตัวเลยก็ได้ว่าไปทำให้เราขุ่นเคือง เขาอาจจะไม่คิดอะไรเลยก็ได้ มันอาจเป็นบุคลิกตามธรรมชาติของเขา ซึ่งกระทบกับผู้อื่นโดยที่เขาไม่ได้ตั้งใจ แต่หากมีกัลยาณมิตรสักคน ที่กล้าหาญพอที่จะเตือนหรือบอกให้เขารู้ตัวในจุดนี้ มันอาจจะเป็นประโยชน์ต่อตัวของน้องเขามากๆก็ได้
เหมือนอย่างที่พี่นุชเคยได้รับมาแล้วจากเพื่อนคนหนึ่ง และยังรู้สึกขอบคุณเพื่อนคนนั้นมาจนถึงบัดนี้ ที่กล้าบอกกับพี่นุชตรงๆด้วยความเมตตา เป็นเพื่อนคนเดียวที่ยังจำชื่อได้แม่นจนถึงวันนี้ (ในขณะที่ลืมชื่อเพื่อนคนอื่นๆไปเกือบหมดแล้ว ฮา)
การบอกครั้งนั้น มีส่วนทำให้พี่นุชเปลี่ยนแปลงท่าที และลักษณะนิสัยของตัวเองไปเยอะเลย
เราเองเมื่อก่อนก็นิสัยแย่มาก (ตอนนี้ก็ยังแย่อยู่ แต่ก็ดีกว่าเมื่อก่อนเยอะเลย) หน้าตาบูดบึ้ง มีกิริยาอาการหยาบกระด้างไม่น่าเข้าใกล้เอาเสียเลย แต่เราโชคดีที่ได้พบกับอาจารย์ในทางธรรมที่มีเมตตาสูง (คือ อาจารย์วรรณี ) ท่านได้มาช่วยขัดเกลาและตักเตือนเราอย่างตรงไปตรงมาด้วยความอดทน เกี่ยวกับนิสัยเสียๆของเราหลายอย่าง แน่นอนว่าในหลายๆครั้งที่ท่านบอกนั้น มันก็เจ็บ มันปวดแสบปวดร้อน ทรมานที่จะฟัง และมันก็ตีอีโก้ของเราเสียแหลกไปเลย ฟังตอนแรกก็รับไม่ได้ ร้องไห้โฮฮาไปหลายวันและโกรธอาจารย์มาก แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลับปรากฏว่าคำเตือนของอาจารย์นั้นมีประโยชน์ มีคุณต่อตัวเราเองจริงๆ จนในที่สุด เราก็เกิดการเปลี่ยนแปลงนิสัย และบุคลิกหลายๆอย่างของตัวเองไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ ต้องกราบขอบพระคุณอาจารย์มากๆ มา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ
หลังจากเหตุการณ์จี๊ดผ่านไปได้สักสองวัน เราก็ได้มีโอกาสพูดคุยกับน้องแสนดีอย่างตรงไปตรงมา ในภาวะที่อารมณ์ของเราเย็นลงมากแล้วไม่โกรธไม่จี๊ดแล้ว เป็นการพูดคุยด้วยสติมากขึ้นไม่ใช่ด้วยความโกรธ สามารถสบตามองหน้าเขาได้อย่างเปิดเผย ไม่มีอาการตะหงิดๆหรือขุ่นเคืองใดๆอีก ตอนก่อนจะพูดก็ประหม่าตื่นเต้นเหมือนกันว่าจะพูดยังไง ท่าไหนดี ที่จะไม่ทำให้น้องเขารู้สึกแย่ แต่สามารถเห็นได้ว่าเราบอกด้วยความปรารถนาดีไม่ได้มีเจตนาร้าย
จริงดังคาด เมื่อเราถามน้องเขาถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เขาบอกว่าเขาไม่ได้คิดอะไร ไม่ได้รู้สึกอะไรเลย เราก็พอจะเข้าใจได้ เพราะหลายๆครั้ง เราก็ทำอะไรที่ทำให้คนอื่นรู้สึกไม่ดีลงไปโดยไม่รู้ตัวเลย แต่ก็มีโอกาสได้บอกเล่าให้น้องเขาฟังว่า เรารู้สึกอย่างไรบ้างในเช้าวันนั้น และเราคิดว่าเราน่าจะบอกน้องเขาตามตรง ดีกว่าเก็บสะสมความไม่พอใจเอาไว้ จนกระทั่งวันหนึ่งก็ระเบิดออกมาแล้วมองหน้ากันไม่ติดอีกเลย เพื่อที่ว่าเราจะได้ช่วยกันหาทางแก้ไข หรือป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นซ้ำรอยเดิมอีก เพราะเรายังต้องทำงานไปด้วยกันต่อไปอีกนาน (ไม่รู้เหมือนกันว่าจะนานเท่าไร อาจไม่นานมากก็ได้ ขึ้นอยู่กับอารมณ์ของเราเองแหละ ว่าจะเปลี่ยนงานอีกไหม)
แล้วเราก็สะท้อนทั้งข้อดีและข้อที่เราเห็นว่าน่าจะแก้ไข จากมุมมองของเราเกี่ยวกับตัวของน้องเขา ให้เขาทราบ
แล้วก็ถามความเห็นว่าเขาด้วยว่า เขารู้สึกอย่างไร เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย คิดว่ามันจริงหรือไม่จริงอย่างไรต่อมุมมองที่เราสะท้อนให้เขาฟัง เพราะมันคงจะไม่มีประโยชน์อะไรเลยกับทั้งสองฝ่าย ถ้าเราไปบอกให้เขาเปลี่ยนหรือปรับปรุง ในสิ่งที่เขาเองไม่เห็น ไม่เชื่อหรือไม่ยอมรับ แต่ถ้าเขาเห็นเหมือนกันหรือเห็นร่วมกันอย่างที่เราเห็น มันก็ง่ายกว่าที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ในความสัมพันธ์ต่อไป
ในที่สุดเราก็ได้ข้อสรุป/ข้อตกลงร่วมกันว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ขึ้นอีก ไม่ว่าจะจากฝ่ายใดก็ตาม(เพราะบางทีอาจเป็นเราก็ได้ ที่เป็นฝ่ายทำให้คนอื่นจี๊ด) เราขออนุญาตเตือนกันและกัน ด้วยการถามว่า "พี่ -- / น้อง -- เป็นอะไรหรือเปล่า?" เพื่อเป็นการสะกิดให้อีกฝ่ายหนึ่งได้คิดว่า เออ ตะกี้เราทำอะไรลงไป หรือพูดอะไรออกไป ที่ไปกระทบคนอื่นบ้างหรือเปล่าหนอ? เพื่อจะได้หยุดและสงบใจ แล้วเปลี่ยนแปลงท่าทีหรือพฤติกรรมเสียใหม่ในบัดนั้น เพื่อไม่ให้ก่อการทำร้ายหรือกระทบกระทั่งกันไปมากกว่านี้
มีอีกสิ่งหนึ่งที่เราได้เรียนรู้จากเหตุการณ์นี้ก็คือ คนเราจะคบกัน จะอยู่ด้วยกันได้ยาวนาน (ทั้งในแง่ของมิตรภาพ และชีวิตคู่) จะให้อภัยกันได้มากน้อยแค่ไหนนั้น มันขึ้นอยู่กับคุณงามความดีที่มีในตัวของกันและกันด้วย ความดีต่างหากที่เป็นตัวชี้วัดสำคัญ ไม่ใช่ความเก่ง ความฉลาด ความสวย ความหล่อ หรือฐานะการงานใดๆ เลย
อย่างกรณีนี้ที่เราสามารถให้อภัยน้องเขาได้รวดเร็ว (ภายในหนึ่งวัน --ถือว่าเร็วแล้วล่ะสำหรับคนขี้โกรธอย่างเราอ่ะนะ) เพราะเราระลึกได้ถึงคุณความดีที่มีอยู่ภายในตัวของน้องเขานั่นเอง พอมองเห็นความดีของเขาที่มีมา พลังความโกรธ ความขุ่นเคืองมันก็ลดลง อ่อนกำลังลงไปเอง
อีกเรื่องคือ การมีกัลยาณมิตรที่ดี ที่มาช่วยตักเตือนเราได้ถึงข้อบกพร่อง ข้อเสียของเราได้ อย่างตรงไปตรงมา และด้วยความมีเมตตานั้น ถือเป็นความโชคดีอย่างยิ่งของชีวิต เขาคือผู้บอกขุมทรัพย์ของเรา แท้จริงแล้ว การมีมิตรแท้--การมีกัลยาณมิตร นั่นแหละคือ การมีขุมทรัพย์แห่งชีวิต
ประการสุดท้าย การกระทำอีกอย่างหนึ่งที่ช่วยเราได้มาก คือ การได้บอกเล่าเรื่องราว ทบทวนตัวเอง ทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมาผ่านการเขียนนี่เอง
กรณีนี้การพูดระบายให้คนอื่นฟังก็อาจช่วยได้ แต่สำหรับกรณีของเรา การเขียนช่วยได้มากกว่าการพูด เพราะเราจะนิ่งมากกว่า และฟังเสียงความคิดและความรู้สึกของตัวเองได้ชัดกว่า มีการไตร่ตรองมากกว่า การพูดระบายออกไป
อีกอย่างเรายังไม่มีใครที่สนิทมากพอ ที่จะพูดระบายเรื่องนี้ออกไป ให้เขาฟังได้อย่างตรงไปตรงมาด้วยละมั้ง แล้วก็จะหาคนที่จะมีเวลามากพอ มีความเมตตา ความอดทนและมีความเข้าใจมากพอ ที่จะมานั่งฟังปัญหาของเราอย่างไม่ตัดสินถูก-ผิดนั้น ก็คงหาได้ไม่ง่าย ฮะๆ
และต่อไปเมื่อเราเติบโตขึ้นมากกว่านี้ พอลองย้อนกลับมาอ่านงานเขียนเก่าๆ เราอาจได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ต่างจากตอนนั้น (ตอนที่เขียน)ซึ่งเราอาจมองข้ามไปก็ได้ หรืออาจจะหัวเราะกับมันได้โดยไม่รู้สึกแย่กับมันอีกเลย หรืออาจจะทึ่งและนับถือตัวเองขึ้นมา อย่างไม่น่าเชื่อว่า ตอนนั้น ฉันคิดแบบนี้ได้ไงฟะเนี่ย (อันนี้คงเป็นกรณีที่ การเติบโตของเรามันถดถอยลง)
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment