Sunday, August 5, 2007

การพูดคนเดียวเกี่ยวกับการมุ่งสู่ความเป็นอัจฉริยะได้ไง


วันนี้ขอเขียนสนองความอยาก (ตัณหา) ของตัวเองสักวัน ฮะๆ (แต่จริงๆแล้วทุกครั้งที่เขียนก็สนองความอยากของตัวเองทุกครั้งนี่หว่า)

ขออุทิศเรื่องนี้ให้พี่นุชสุดสวย ผู้เป็นกัลยาณมิตรของเรา

หลายวันก่อนเคยคุยกับพี่นุชเรื่องบุคลิก-นิสัยของแต่ละคนในที่ทำงาน และพี่นุชตั้งข้อสังเกตว่า เราชอบพูดคนเดียวเวลาทำงาน (ทำงานไปก็คุยกับตัวเองไป)

พี่นุชบอกว่า ทำให้คนที่นั่งอยู่ใกล้ๆงงๆและไม่แน่ใจว่าเรากำลังพูดกับเขาด้วยหรือเปล่า พอจะขยับปากจะตอบก็เห็นว่า อ้าว มันกำลังพูดคนเดียวนี่หว่า (พี่นุชคือบุคคลผู้นั้น)

แต่ที่ร้ายกว่านั้น คือ ไปๆมาๆคนที่นั่งใกล้กับเราก็จะพลอยติดนิสัยพูดคนเดียวกับตัวเองในเวลาทำงานไปด้วย ซึ่งก็ทำให้รู้สึกหงุดหงิดในตนเองยิ่งนักว่าทำไมต้องติดอาการนี้มาด้วย จะแก้ก็แก้ไม่หาย ตราบใดที่ยังคงนั่งใกล้ๆกะเราอยู่แบบนี้ (พี่นุชคือบุคคลผู้นั้นอีกเช่นกัน)

เราฟังข้อสังเกตนี้จบก็หัวเราะเอิ๊กอ๊ากด้วยความชอบใจ (ไม่ได้รู้สึกผิดเลย ว่ากำลังทำให้ชาวบ้านเขาเดือดร้อน) ว่าเออจริงว่ะ เราเป็นอย่างนั้นจริงๆด้วย ชอบพูดคนเดียวเวลาทำงาน

สักพักก็นิ่งๆไปเพื่อนึกหาเหตุผลว่า เออแฮะ แล้วทำไมเราต้องทำแบบนั้นด้วย ตอนนั้นก็ไม่รู้คิดไม่ออก รู้แต่ว่า ชอบทำแบบนี้แหละ เพราะเวลาได้พูดไปทำงานไป มันสนุกดี (สนุกกับตัวเอง) มันทำให้เรารู้สึกสนุกและตื่นตัวมากขึ้นในการทำงานน่ะ รู้สึกว่าวิธีนี้ทำให้สมองเราทำงานได้เร็ว โล่งและชัดเจนขึ้น

เช่น พอเวลาคิดอะไรไม่ออก ก็จะบ่นกับตัวเอง "อะไรหว่า งงๆ คิดไม่ออก มันคืออะไรน้า อืมมม.." แล้วสักพักก็หาข้อสรุปให้ตัวเองต่อเสร็จสรรพ (พร้อมกับพูดออกมาดังๆด้วย)ว่า "เออ ช่างมัน คิดไม่ออกก็ยังไม่ต้องคิด ไปทำอย่างอื่นก่อนดีกว่า" แล้วก็ปิดสวิทช์การคิดเกี่ยวกับเรื่องนั้นไว้ก่อนชั่วคราว ฟึ่บ! เพื่อไปเปิดสวิทช์การคิดเรื่องใหม่ต่อไป

หรือบางทีที่เราปิ๊งไอเดียใหม่ๆ หรือเข้าใจอะไรบางขึ้นมาแบบฉับพลัน ก็จะพูดเสียงดังๆออกมาด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นดีใจแบบสุดๆ (กับตัวเอง) ว่า "อ๋อ มันเป็นแบบนี้นี่เอง ฮะฮ้า เข้าใจแล้วๆๆ เย้ๆ" พร้อมกับการทำท่าดีใจแบบโอเว่อร์คนเดียว แสดงความชื่นชมและความภาคภูมิใจกับตัวเองแบบสุดๆ บางทีก็แถมคำชมเป็นรางวัลให้กับตัวเองด้วยว่า "แหม เก่งจริงๆเลย ลูกใครเนี่ย อัจฉริยะสุดยอด" อะไรประมาณนี้ โดยไม่สนใจสายตาแปลกๆของคนรอบข้างแม้แต่น้อย (ลืมไปเลยว่ามีคนอื่นอยู่แถวๆนั้นด้วย) ประมาณว่าตอนนั้นฉันอยู่ในโลกของตัวเองแบบอินสุดๆไปแล้ว

เราจะมีอาการประมาณนี้เสมอเมื่อนั่งทำงานคนเดียว เวลาพูดคนเดียวออกมาดังๆจะรู้สึกว่า ความคิดมันจะแล่นไหลลื่นได้ดีกว่า เร็วกว่าการนั่งเงียบๆ และบรรยากาศในการทำงานก็สนุกกว่าด้วย (สำหรับตัวเราเองเท่านั้น คนอื่นไม่เกี่ยว เพราะเขาอาจไม่สนุกด้วย) ถ้าให้เรานั่งทำงานไปเงียบๆโดยไม่พูดอะไรออกมาเลย พอนานๆไปจะรู้สึกเหนื่อยล้าเร็วกว่าปกติ จะอึดอัดเพราะไม่ได้ระบายความคิด-ความรู้สึกออกมา จะฝืดๆหนืดๆเหมือนความคิดไม่ค่อยแล่นพิกล

พอมาวันนี้ เห็นหนังสือ "สู่ความเป็นอัจฉริยะด้วยการพัฒนาสมอง" เขียนโดย Eran Katz ก็เลยแอบหยิบมาอ่านจากกองหนังสือบนโต๊ะของพี่เล็ก (จะผิดศีลข้อสองปล่าวฟะเนี่ย ยืมมาอ่านโดยไม่บอกเจ้าของ--ถ้าพี่เล็กรับรู้ ไม่ว่าตอนนี้พี่เล็กจะอยู่ในที่ใดๆก็ตาม ข้าน้อยก็ขออภัยและขออโหสิกรรมด้วย สาธุ) ก็พบกับคำตอบเรื่องการพูดคนเดียวของเรา ว่ามันเกี่ยวกับการพัฒนาสมองไปสู่ความเป็นอัจฉริยะได้ไง ฮะฮ้า

เขาอธิบายว่า
"ในโรงเรียนทั่วไป นักศึกษาเพียงแค่นั่งเงียบๆแล้วฟังครู หรือนั่งเงียบๆในห้องสมุดแล้วพลิกหนังสือและเอกสาร แต่ในโรงเรียนศาสนา นักศึกษา "ปะทุ" และ "ระเบิด" ในกระบวนการเรียนรู้คัมภีร์โทราห์ พวกเขาจะใช้พลังงานทั้งหมด ใช้อวัยวะในร่างกายทุกส่วน และที่สำคัญที่สุดคือ พูดออกมาดังๆ เธอต้องพูดเสียงดังกับตัวเองไม่ว่าเธอกำลังเรียนอะไร มีคนเคยบอกฉันว่าการพูดสิ่งที่เธอกำลังเรียน เป็นการกระตุ้นสมองทั้งสองซีกให้ตื่นตัว และช่วยปรับปรุงการรับรู้ สมาธิ และความจำของเธอ"


อันนี้มีข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ ตอนที่เราไปทำแบบทดสอบพลังสมองของเรา (ทางอินเตอร์เน็ต) เพื่อดูว่าเราถนัดใช้สมองซีกไหนมากกว่ากัน ปรากฏว่าผลที่ออกมาคือ เราใช้สมองทั้งสองซีกเท่าๆกันเลยแฮะ ผลออกมาอยู่ตรงกลางพอดีเป๊ะ (หายากนะเนี่ย! ขอโม้ต่อด้วยความภูมิใจ ฮะๆ--ใครที่เผลอมาอ่านบล็อกนี้เข้าก็ทำใจหน่อยละกัน ช่วยไม่ได้หลวมตัวมาอ่านเองนิ)

"ปกติคนทั่วไปมักใช้แค่จักษุประสาท หมายความว่าพวกเขาพยายามจำเรื่องราวต่างๆโดยการอ่านเป็นส่วนใหญ่ การเรียนรู้โดยการพูดออกมาดังๆช่วยเพิ่มอีกมิติหนึ่งให้ประสาทสัมผัสอีกด้านหนึ่งมีส่วนช่วยส่งเสริมความจำ นั่นคือโสตประสาท เทียบได้กับความแตกต่างระหว่างการดูทีวีโดยเปิดเสียงกับปิดเสียง การเรียนแบบใช้เสียงดังช่วยให้ความรู้ฝังแน่นในจิตวิญญาณของเราได้จริงๆ ดังนั้นความรู้ก็จะคงอยู่ในความทรงจำของเราได้เนิ่นนานขึ้น"


..."สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆก็คือเราไม่ได้เพียงแค่พูดเสียงดัง แต่ค่อยๆเพิ่มระดับเสียงขณะที่แสดงโวหาร ตามความหมายที่แท้จริงของคำ เทคนิคนี้มีผลต่อภาษากายและการเคลื่อนไหวของเรา ไม่ต้องเอ่ยถึงว่าจะมีผลต่อระดับความสนใจของเราที่มีต่อหัวข้อที่เรียนแค่ไหน ในที่สุดก็จะนำเราไปสู่การถกเถียงกันเอะอะ แต่ความสนุกก็อยู่ตรงนี้แหละ..."

นอกจากเรื่องการพูดเสียงดังๆกับตัวเองแล้ว หนังสือเล่มนี้ยังได้แนะนำเทคนิควิธีการพัฒนาพลังสมองชนิดอื่นๆ แบบง่ายๆ (หลายอย่างก็ง่ายเสียจนเราคิดไม่ถึง และมองข้ามไป) แต่สามารถใช้ได้ผลจริงอีกมากมาย น่าสนใจ และทุกคนสามารถนำไปใช้ นำไปฝึกฝนได้ด้วยตนเองตามถนัด

อ่านจบแล้วให้ความรู้สึกประมาณว่า --เป็นอัจฉริยะ ฝึกเองที่บ้านก็ได้ ง่ายจัง--

คนเขียนเก่งมาก เขียนสนุกดี มีอารมณ์ขันสอดแทรกอยู่ตลอดเรื่อง ฟังดูชื่อออกจะทางการ เนื้อหาน่าจะหนัก แต่พออ่านเข้าจริง กลับอ่านสนุก อ่านง่าย เขาเก่งตรงที่ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายได้อย่างเหลือเชื่อ (จะว่าไปอีกที คนเขียนเรื่องนี้ ก็คืออัจฉริยะดีๆนี่เอง)

เอ้า! ใครอยากพัฒนาพลังสมอง ฝึกฝนตนเองไปสู่ความเป็นอัจฉริยะควรซื้อหามาอ่านกันคนละเล่มสองเล่มได้เลยจ้า (ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ inspire) หรือจะหยิบยืมชาวบ้านมาอ่านเอา (แบบประหยัด) เฉกเช่นข้าพเจ้าก็แล้วแต่กำลังทรัพย์และความศรัทธา

ถึงพี่นุช... ตอนนี้เรามีคำตอบอันชอบธรรมให้พี่นุชแล้วนะว่า ทำไมเราถึงชอบพูดคนเดียวเวลาทำงาน ฮะๆๆ ซึ่งเป็นข้ออ้างที่ดีที่จะทำให้เราพูดคนเดียวต่อไปได้อีกนานแสนนาน (โดยไม่รู้สึกผิดต่อผู้ใด อันที่จริงก็ไม่เคยรู้สึกผิดมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว เอ๊ะ แล้วจะพูดทำไมเนี่ย) และข้ออ้างนี้ก็จะทำให้พี่นุชไม่รู้สึกหงุดหงิดเวลาที่ติดอาการพูดคนเดียวของเราไปด้วย นะเออ ดีไหมเล่า

สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณพี่เล็ก ผู้สนับสนุนให้หยิบยืมหนังสืออย่างไม่เป็นทางการ (เพราะเจ้าของยังไม่รู้ตัวเลยจนบัดนี้ว่าถูกมือดีเช่นเราหยิบยืมมาอ่านแล้ว--และคาดว่าคงจะรู้เอาอีตอนนี้ ตอนที่ได้อ่านบล็อกหน้านี้นี่แหละ)

2 comments:

  1. อุ๊ต๊ะ!! อ่านไปก็ฮาไป

    ReplyDelete
  2. งั้นการพูดคนเดียวคงไม่ได้หมายถึงว่าเราจะโรคจิตใช่ไหม แต่มันสนุกอ่ะ ถามเองตอบเอง แล้วหัวเราะเอง มันเหมือนกับคืนพลังงานในชีวิตให้สดใส

    ReplyDelete